posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยโภชนาการ ความบกพร่องทางด้านโภชนาการ

21 พฤษภาคม 2562

การโภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง มีความเข้าในผิดเรื่องการโภชนาการในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ

การโภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง มีความเข้าในผิดเรื่องการโภชนาการในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ

**************************

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

(Undernutrition) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ (Humankind) (อ้างอิงจากบทความของ Kate Ryan ตีพิมพ์ใน World Economic Forum) ความเสี่ยงจากความบกพร่องทางด้านโภชนาการ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความเสี่ยงในกลุ่มประเทศยากจนมาก ๆ ที่ขาดแคลนอาหาร ทำให้คนในประเทศเหล่านั้นประสบกับปัญหาที่ประชาชนในประเทศไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่ความบกพร่องทางด้านโภชนาการยังเป็นต้นเหตุสำคัญของสุขภาวะของประชากรในหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวย ประเทศรายได้ปานกลาง และประเทศยากจน

ภาวะโรคอ้วน หรืออยากใช้คำว่าน้ำหนักเกินมากกว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องทางโภชนาการ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคไม่มี หรือไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกบริโภค หรืออาจจะเป็นเพราะการเลือกบริโภคของผู้บริโภคไม่ได้ให้น้ำหนัก หรือความสำคัญกับคุณค่าทางอาหารที่บริโภค แต่ให้ความสำคัญกับอย่างอื่น เช่น รสชาติ (ความอร่อย) ปริมาณ (ต้องการปริมาณมากเพื่อให้อิ่ม โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ยากจน) ความสวยงามของอาหาร (สิ่งล่อใจจากการตกแต่งให้มีความน่าทาน) หรือแม้กระทั่ง "ความหวาน" "ความเค็ม" ตามความชอบ ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจบริโภคของผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกแต่อย่างใดที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกบริโภคตามปัจจัยเหล่านั้น แต่ที่เป็นปัญหาคือ การไม่ได้คำนึกถึง หรือคำนึงถึงน้อยเกินไป (ไม่เพียงพอ) ในเรื่องโภชนาการของการบริโภค กลับเป็นสาเหตุสำคัญต่อสุขภาวะของผู้บริโภค เกิดเป็นความเสี่ยงหลายประการต่อสุขภาพของประชากรของประเทศ และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ จุดนี้เองทำให้ภาครัฐต้องมีการกำหนดนโยบาย หรือมาตรการหลายประการเพื่อใช้ในการกำกับ ดูแล ผู้ผลิตและผู้บริโภค ด้วยเหตุว่ากลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างดีภายใต้เงื่อนไขนี้

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทางด้านโภชนาการคือ ในประเทศสหรัฐฯ มีการออกมาตรการห้ามไม่ให้ร้านอาหารเร่งด่วน (Fast Food) (แฮมเบอร์เกอร์) เสนอขายอาหารชุดให้กับเด็ก (Kid meal) โดยแถมของเล่นมากับชุดอาหาร โดยให้เหตุผลว่า การแถมของเล่นเป็นการล่อใจให้เด็ก (หรือพ่อแม่เด็ก) เลือกบริโภคอาหารประเภทเร่งด่วนมากเกินไป ซึ่งเป็นอาหารที่มีสัดส่วนทางด้านโภชนาการที่ไม่ดี ทำให้เด็กจำนวนมากประสบกับภาวะน้ำหนักมากเกินไป และเป็นผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ราคาอาหารในประเทศไทยที่อาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า แทบจะไม่มีความสอดคล้องกับคุณค่าทางอาหาร หรือโภชนาการเอาเสียเลย เรียกได้ว่า อาหารจะถูกหรือแพง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า อาหารนั้นมีคุณประโยชน์ทางด้านโภชนาการอย่างไร แต่กลับขึ้นอยู่กับรสชาติมากกว่ามาก อย่างชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ได้สนใจคุณประโยชน์ของอาหารเลย สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคทั้งขาดแคลนความรู้ ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของอาหาร และไม่ได้ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของอาหาร ในขณะเดียวกัน ในตลาดอาหารเสริมสุขภาพ เมื่อมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของสารอาหารต่าง ๆ กลับมีผู้สนใจ ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อหาอาหารเสริมเหล่านั้นมาบริโภค ทั้ง ๆ ที่สารอาหารเหล่านั้นสามารถหาได้จากการเลือกรับประทานอาหารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

ความไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจของผู้บริโภคตามกลไกการทำงานของตลาดทำให้การผลิตอาหารไม่ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญทางด้านโภชนาการอย่างเพียงพอด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อการบริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในประเทศ เป็นภาระทางการเงินต่อครัวเรือน และภาระทางการคลังของประเทศในการที่จะต้องดูแลประชาชนในประเทศให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดทางด้านโภชนาการอีกมากที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และเกิดเป็นความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากมาย โดยเฉพาะความไม่เข้าใจ และความไม่ใส่ใจกับโภชนาการของเด็ก เราไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก (หรืออาจจะพูดได้ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเลย) กับอาหารการกินของเด็กโดยเฉพาะในวัยเรียน ซึ่งเป็นวันเจริญเติบโต และต้องการสารอาหารที่เพียงพอ ครบถ้วนเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก สภาพของโรงอาหาร ประเภทของอาหารที่ขายในโรงอาหาร ไปจนถึงวัตถุดิบที่เลือกมาปรุงอาหาร ก็ไม่ได้รับการใส่ใจว่าถูกหลักโภชนาการมากน้อยแค่ไหน

ในบางกรณี โรงเรียนใช้วิธีให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมาประมูลเพื่อขายอาหารในโรงเรียน แล้วก็คัดเลือกเอาร้านที่ขายในราคาถูกเป็นหลัก อาหารที่มีขายให้เด็กนักเรียนทานกันก็มาคุณภาพต่ำไปตามราคาที่ประมูลได้กันมา เด็กในวัยเรียนไม่เคยรู้ว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นให้สารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ มีโปรตีนมาพอหรือเปล่า ทานคาร์โบไฮเดรต หรือไขมันมากเกินไปแล้วหรือไม่ หรือไม่รู้แม้กระทั่งอาหารที่ทานเข้าไปนั้นจะให้สารอาหารอะไรบ้าง รู้แต่เพียงว่าอร่อยหรือไม่ และอิ่มหรือยัง นอกจากนั้น ยังมีเรื่องพฤติกรรมการกิน การกินหรือปริมาณสารอาหารที่มีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละวัย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นในทางโภชนาการที่ควรจะได้รับการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ให้ได้รับทราบกันอย่างกว้างขวาง

จะเห็นได้ว่าเรื่องโภชนาการได้กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งมักจะพูดถึงเรื่องการอยู่ดีกินดีของคนในระบบเศรษฐกิจ) จะต้องนำมาศึกษา คบคิดกันมากขึ้นถึงผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุด การสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านโภชนาการ รวมทั้งการศึกษาวิจัย เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหา และผลกระทบของโภชนาการต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะทำให้ประเทศมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศไปอย่างยั่งยืนในอนาคต การสร้างพื้นฐานทางด้านโภชนาการจึงไม่แตกต่างจากการลงทุนสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินสังคมไทยมาเป็นเวลานาน มีความเป็นไปได้ที่เด็กที่โชคไม่มี บังเอิญเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ถ้ารัฐมีมาตรการสนับสนุนให้เขาได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อพัฒนาการของเขา โตขึ้นเขาจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า มีความสามารถ ฉุดรั้งให้ครอบครัวเขาหลุดพ้นไปจากความยากจนก็เป็นได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านโภชนาการท้องถิ่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางด้านโภชนาการของประเทศได้ เพราะเราโชคดีที่เกิดในประเทศไทยที่มีความหลากหลายของอาหาร เรียกได้ว่ามีความได้เปรียบทางด้านโภชนาการอยู่แล้ว และถ้าเรามีโภชนาการที่ดี เราก็จะมีศักยภาพที่จะเป็นครัวของโลกได้อย่างสมภาคภูมิ