posttoday

เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1

20 พฤษภาคม 2562

ค่าเงินบาทไทยยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกชะลอตัว รอความชัดเจนการเมือง และผลกระทบจากสงครามการค้า

ค่าเงินบาทไทยยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกชะลอตัว รอความชัดเจนการเมือง และผลกระทบจากสงครามการค้า

***********************

คมลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 31.60 – 32.00 ในช่วงวันที่ 20-24 พฤษภาคม เงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวอ่อนค่าตามประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1ที่คาดว่าจะออกมาต่ำกว่าตัวเลขในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยฉุดตัวเลขการส่งออกทีได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่การส่งออกเดือนเมษายนที่จะประกาศในช่วงกลางสัปดาห์คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนจะยังจับตามองการประชุมรัฐสภาครั้งแรกในสัปดาห์นี้ ที่จะกำหนดแนวโน้มของการเมืองไทยในระยะต่อไป ด้านปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนรอติดตามรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ รวมถึงการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปและผลการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนโดยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะอ่อนค่าลงในช่วงหลังของสัปดาห์ โดยเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเปิดตลาดที่ 31.587 และแข็งค่าขึ้น แม้ว่าจีนจะได้ออกมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บนสินค้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจกล่าวหาว่าไทยเข้าข่ายเป็นผู้แทรกแซงค่าเงินส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก แตะระดับแข็งค่าสุดที่ 31.443 อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของสัปดาห์ค่าเงินบาทเริ่มปรับอ่อนค่าลงหลังจากความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น โดยตัวเลขยอดค้าปลีกและการผลิตที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดในเดือนเมษายน

ขณะที่แรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังกดดันค่าเงินหยวนอยู่ต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกคำสั่งพิเศษ (Executive order) ที่จะจำกัดการขายสินค้าและอุปกรณ์ของบริษัทกลุ่มสื่อสารของจีน ได้แก่ Huawei และ ZTE ในสหรัฐฯ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงมาก โดยปิดตลาดที่ 31.75 (ณ เวลา 17.00 น.)

เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1

ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนยังคงเข้าถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมไปถึงความกังวลต่อการประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากทั้ง 2 ฝ่ายอาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงไปมากกว่าในปัจจุบัน จนอาจถึงขั้นที่ธนาคารกลางในหลายๆประเทศจะต้องกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ถ้าดูจากตัวเลข FED Fund Future Rate ณ สิ้นปี 2019 นักลงทุน price in โอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง ในขณะที่ตัวเลข FED Fund Future Rate ณ กลางปี 2020 มีโอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 2 ครั้ง

ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยคงต้องติดตามพัฒนาการของการเจรจาเรื่องสงครามการค้าว่าจะมีข้อสรุปออกมาในรูปแบบไหนและเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้ามากน้อยเพียงใด รวมไปถึงติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ซึ่งปัจจัยข้างต้นนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าสิ่งที่ตลาด price in ในปัจจุบันนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดย ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.80% 1.82% 1.88% 2.10% 2.29% และ 2.54% ตามลำดับ