posttoday

เงินทุนหมุนเวียนสำคัญอย่างไร

15 พฤษภาคม 2562

การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของกิจการ

การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของกิจการ

**********************

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...ธเนศ นวะบุศย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย

การวางแผนจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสมก่อนลงทุน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจของกิจการให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง การมีเงินทุนหมุนเวียนกิจการที่ดี ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับคุณได้มากขึ้น เพราะคุณจะสามารถรับมือกับ ออเดอร์สินค้าเร่งด่วนจากลูกค้าได้ ทำให้คุณสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าได้ มีเงินในการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ได้ตรงเวลา ทำให้คุณมีเครดิตทางการค้าที่ดี ซึ่งหากมีการหมุนเวียนเงินในบัญชีที่ดีก็อาจจะส่งผลให้การขอสินเชื่อในอนาคตนั้นง่ายขึ้นหรือได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินทุนที่กิจการต้องใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานก่อนที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า หรือ เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินทุนที่กิจการต้องมีสำรองไว้ใช้หมุนเวียน ตั้งแต่กิจการเริ่มจ่ายเงินสดในการชำระค่าสินค้า/วัตถุดิบหรือชำระหนี้คืนเจ้าหนี้การค้า จนกว่ากิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าหรือบริการ หรือรับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า (โดยไม่นับรวมถึงการซื้อสินทรัพย์ เช่น อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น) เพื่อให้กิจการสามารถขายสินค้าและบริการได้ตามเป้าหมาย

แหล่งที่มาของเงินทุนหมุนเวียน

• บัตรเครดิต แหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่สะดวกมากที่สุด รูดได้ทันทีถ้าเงินสดไม่เพียงพอ ซึ่งมีระยะเวลาให้คุณนำสินค้าไปจำหน่ายหมุนเงินเข้าระบบธุรกิจได้ถึง 30 วันหรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทบัตรที่คุณถือ สิ่งสำคัญคือต้องจ่ายเงินให้เต็มยอดที่ใช้ไปจึงจะปลอดดอกเบี้ย

• สถาบันการเงิน ในกรณีที่คุณจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงิน จึงเป็นที่พึ่งพิงยอดนิยมของนักธุรกิจเพราะเงื่อนไขการคิดดอกเบี้ยค่อนข้างเป็นธรรม แต่การอนุมัติอาจจะเข้มงวด ถ้าธุรกิจของคุณมีเครดิตดีและตัวคุณเองไม่เคยติดบูโร การอนุมัติก็มีโอกาสสูง

• ลีสซิ่ง (Leasing) เมื่อคุณต้องการเครื่องมือมาสนับสนุนธุรกิจโดยไม่ต้องการนำเงินทุนหมุนเวียนในระบบไปจ่ายเป็นก้อนใหญ่ การเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า และค่าเช่าซื้อรายเดือนยังสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนได้ด้วย แต่ข้อควรระวังคือ เมื่อยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดจะมีค่าปรับ และเมื่อครบกำหนดที่ต้องซื้อแต่คุณไม่ซื้อ ก็จะต้องจ่ายค่าเสื่อมราคาเครื่องมือนั้น ๆ

• บริษัทร่วมทุน และนักลงทุน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันสำหรับ Start up หากแผนธุรกิจของคุณผ่านการพิจารณาจากนักลงทุนเหล่านี้ พวกเค้ายินดีจะหยิบยื่นเงินก้อนใหญ่ให้คุณไปใช้สร้างฝันให้เป็นจริงได้เลย แต่อาจจะต้องระวังเรื่องอำนาจการดูแลกิจการเพราะบุคคลเหล่านี้อาจเข้ามาควบคุมกิจการของคุณและเร่งรัดเวลาเพื่อรีบทำกำไร

ปัญหาในเรื่องของขาดเงินทุนหมุนเวียนหรือสภาพคล่องของธุรกิจ เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น การไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ตามกำหนดเวลา หรือปริมาณสินค้าขายไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ ทำให้เงินจมในสินค้า ผลกระทบตามมาก็คือกิจการขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจอาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนจากแหล่งเงินทุนระยะสั้น เพื่อนำมาจ่ายชำระหนี้ให้ทันกำหนด เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร

หากกล่าวถึงเงินทุนหมุนเวียนประเภทสินเชื่อให้กู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น มีตัวเลือกมากมายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกิจการ เช่น สินเชื่อเงินกู้เบิกเกินบัญชี สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล หรือเงินสดด่วนประเภทบัตรกดเงินสดที่เป็นทางเลือกช่วยเสริมสภาพคล่องในรูปแบบเงินสดทันใจสำหรับกิจการขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี

การคำนวณหาความต้องการเงินทุนหมุนเวียน (อย่างง่าย)

เช่น ร้านขายขนมปัง มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาท มีต้นทุนสต๊อกวัตถุดิบและงานระหว่างทำประมาณเดือนละ 40,000 บาท กิจกาจขายสดจึงไม่มีลูกหนี้การค้า แต่มีเจ้าหนี้ค่าวัตถุดิบเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นการคำนวณหาเงินทุนหมุนเวียนจะเป็นดังนี้

เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + (สต๊อกวัตถุดิบ/งานระหว่างทำ) – เจ้าหนี้การค้า

เงินทุนหมุนเวียน = 0 + 40,000 – 10,000

สรุปเงินทุนหมุนเวียนที่กิจการต้องใช้ในแต่ละเดือนอย่างน้อยคือ 30,000 บาท

หมายเหตุ : สินค้าคงเหลือ หรือสินค้าคงคลัง (Inventory) หรือที่นิยมเรียกว่า สต๊อก (Stock) ประกอบด้วย สต๊อกวัตถุดิบ (Raw Materials), งานระหว่างทำ (Work in Process), และสต๊อกสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) ทั้งนี้ กิจการซื้อมาขายไปหรือพาณิชยกรรมมีเฉพาะสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น ส่วนกิจการแปรรูปหรือผลิตหรืออุตสาหกรรมก็จะมีสต๊อกวัตถุดิบและงานระหว่างทำเพิ่มขึ้นมา หรือ เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + (สต๊อกวัตถุดิบ + งานระหว่างทำ + สต๊อกสินค้าสำเร็จรูป) – เจ้าหนี้การค้า

การวางแผนเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่ดีย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดของกิจการ การบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระดับเงินทุนหมุนเวียน ได้แก่ ยอดขายของกิจการ สภาวะตลาดและการแข่งขัน นโยบายการดำเนินงาน ลักษณะของกิจการและประเภทสินค้า ตลอดจนความสามารถในการกู้ยืม เพื่อการบริหารการเงินของธุรกิจให้มีสภาพคล่องของกิจการที่ดี เจ้าของกิจการทั้งหลายจึงควรรู้จักแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เผื่อเกิดเหตุการณ์จำเป็นที่ต้องใช้เงินขึ้นมาจะได้หาเงินได้ทัน โดยที่ธุรกิจของคุณไม่ต้องชะงัก