posttoday

ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

09 พฤษภาคม 2562

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในมุมมองของผมจึงเป็นนโยบายที่แฝงความไม่เป็นธรรมเอาไว้ค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่เป็นการลดช่องว่างของรายได้ระหว่างคน (จน) สองคน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในมุมมองของผมจึงเป็นนโยบายที่แฝงความไม่เป็นธรรมเอาไว้ค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่เป็นการลดช่องว่างของรายได้ระหว่างคน (จน) สองคน

*******************

โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เมื่อตอนผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ William McCleary ที่เป็นที่รักยิ่งของผมได้เคยเล่าแบบติดตลกในวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังเอาไว้ว่า ระบบภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็มีความซับซ้อนกันทั้งนั้น ขนาดอาจารย์จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์การคลังแท้ ๆ ยังกรอกแบบฟอร์มขอคืนเงินภาษีไม่ค่อยจะถูกเลย ในตอนนั้น ผมยังไม่เข้าข่ายเป็นผู้ต้องเสียภาษี จึงไม่เคยเจอปัญหาความซับซ้อนของโครงสร้างภาษีที่อาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง จนถึงเวลานี้มีรายได้ถึงระดับที่ต้องเสียภาษี ก็ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นถึงความซับซ้อนยุ่งยากเวลาทำเรื่องขอคืนภาษีในแต่ละปี

การที่นักเศรษฐศาสตร์ออกแบบโครงสร้างระบบภาษีให้ซับซ้อน มีเหตุผลที่สำคัญในทางเศรษฐศาสตร์อยู่ 2 ประการ คือ หนึ่ง ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของการใช้ทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น สมมติรัฐกำหนดให้ผู้มีรายได้ต่อปีไม่ถึงหนึ่งแสนบาทไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่มีรายได้ตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของรายได้ หลักข้อหนึ่งที่ใช้กันในทุกประเทศก็คือ ภาษีในอัตราร้อยละ 20 นี้ จะต้องเป็นการเก็บภาษีของรายได้ส่วนที่เกินกว่าหนึ่งแสนบาทเท่านั้น ไม่ใช่เก็บภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด มิเช่นนั้นแล้ว คนที่มีรายได้เก้าหมื่นบาทก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะหารายได้ให้มากขึ้นเป็นหนึ่งแสนบาท เพราะหากรายได้แตะระดับหนึ่งแสนบาทและต้องจ่ายภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของเงินได้ทั้งหมด ก็จะทำให้รายได้หลังหักภาษีลดลงเหลือเพียงแค่แปดหมื่นบาท น้อยกว่ารายได้เก้าหมื่นบาทที่ได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อคนไม่ทำงานให้เต็มที่เพื่อเลี่ยงภาษีก็ย่อมทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพจากการใช้ทรัพยากร

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่รัฐบาลไม่ควรเก็บภาษีจากรายได้ทั้งหมดเป็นมุมมองในเชิงความเป็นธรรม เพราะภาษีดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดช่องว่างของรายได้ในลักษณะที่ควรจะเป็น แต่เป็นการ “สลับที่” ของคนจนและคนรวย เนื่องจากหลังเก็บภาษีแล้ว ผู้ที่มีรายได้หนึ่งแสนบาทจะมีรายได้เหลือแค่แปดหมื่นบาทและตกเป็นคนจนกว่าผู้มีรายได้เก้าหมื่นบาททันที

ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาษี เนื่องจากเป็นรูปแบบหนึ่งของการอุดหนุน (Subsidy) จากรัฐ เมื่อพิจารณาเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรซับซ้อน กล่าวคือ เป็นผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อปีไม่เกินหนึ่งแสนบาท ไม่มีทรัพย์สินทางการเงินเกินหนึ่งล้านบาท และไม่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง สิทธิประโยชน์ก็แล้วแต่มาตรการของรัฐในแต่ละครั้ง ตั้งแต่การแจกเงินแบบเหมาจ่ายสามพันบาทครั้งเดียวในช่วงปีแรก และต่อมาก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยกำหนดเป็นวงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า และวงเงินค่าโดยสารรถไฟ เงินช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ และสำหรับผู้สูงอายุก็จะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ เงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน และค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลเพิ่มเติม

สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ถ้าคำนวณเป็นตัวเงินแล้วอาจจะเป็นหลักหมื่น ตีว่าประมาณสองหมื่นบาทนะครับ สมมติว่ามีคนไทยอายุ 20 ปี สองคนที่ไม่มีทรัพย์สินทางการเงินใด ๆ และไม่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ คนแรกมีรายได้เก้าหมื่นบาทต่อปี คนที่สองมีรายได้หนึ่งแสนบาทต่อปี จากเงื่อนไขข้างต้นคนแรกจะมีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนคนที่สองไม่มีสิทธิ และเมื่อคำนวณรายได้ของทั้งสองคนภายหลังได้รับสวัสดิการแล้ว คนแรกจะมีรายได้เพิ่มเป็นหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาททันที ส่วนคนที่สองจะมีรายได้หนึ่งแสนบาทดังเดิม

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในมุมมองของผมจึงเป็นนโยบายที่แฝงความไม่เป็นธรรมเอาไว้ค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่เป็นการลดช่องว่างของรายได้ระหว่างคน (จน) สองคน แต่เป็นการสลับที่เอาคนที่จนที่สุดขึ้นมาอยู่เหนือคนที่จนรองลงมา ถ้าผมมีรายได้ปีละหนึ่งแสนบาท ก็ย่อมต้องมีคำถามไปถึงรัฐบาลแล้วว่า ผมผิดอะไร รัฐถึงไม่ช่วยเหลืออะไรผมเลย กลับไปดึงคนอื่นให้มาแซงคิวผม และถ้าระบบเป็นอย่างนี้ ผมคงเสนอลดเงินเดือนตัวเองให้น้อยกว่าหนึ่งแสนบาทซักหนึ่งบาทเพื่อให้ได้ประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือถ้าผมเป็นผู้ประกอบกิจการเล็กๆ ซักแห่ง ก็คงจะตั้งใจหยุดทำงานซักระยะหนึ่งให้รายได้ผมต่ำลงจนเข้าเกณฑ์ที่จะได้ประโยชน์ จึงพอกล่าวได้ว่าระบบสิทธิประโยชน์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วยังไม่มีประสิทธิภาพด้วย

แนวทางหนึ่งในการเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐน่าจะเป็นการออกแบบโครงสร้างของสวัสดิการที่ให้สวัสดิการเพิ่มเป็นร้อยละจากรายได้ที่ขาด ในลักษณะเดียวกันกับการเก็บภาษีเป็นร้อยละจากรายได้ที่เกิน เช่น ให้สวัสดิการที่เมื่อคำนวณเป็นเงินแล้ว คิดเป็นร้อยละตามที่กำหนดของส่วนต่างระหว่างเงินรายได้จริงกับเงินหนึ่งแสนบาท (หรือเพดานเงินรายได้ของผู้มีสิทธิตามแต่ที่รัฐบาลจะกำหนด) วิธีนี้น่าจะสร้างทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรมให้มากขึ้นกว่าระบบในปัจจุบันครับ