posttoday

จดแล้วได้อะไร

05 มีนาคม 2562

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน คงเคยได้ยินที่ใครๆ ชอบพูดว่า ถ้าอยากมีเงินพอใช้ อยากมีเงินเป็นกอบเป็นกำ

เรื่อง ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน คงเคยได้ยินที่ใครๆ ชอบพูดว่า ถ้าอยากมีเงินพอใช้ อยากมีเงินเป็นกอบเป็นกำ อยากปลดหนี้ หรือมีเป้าหมายการเงินแบบอื่นๆ ที่ต้องการไปให้ถึง ให้จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย แต่หลายคนก็ยังไม่เชื่อและสงสัยว่าจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายจะมีอะไรดีนักหนา

จากประสบการณ์ตรงของคนที่จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกวัน ข้อสรุปที่คล้ายๆ กันของพวกเขามีอยู่ว่า จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายแล้วได้ประโยชน์ 4 อย่าง เริ่มที่อย่างแรก “ได้เห็น” คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองก็ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เงินที่ใช้ไปในแต่ละวันก็จำเป็นทั้งนั้น แต่ถ้าลงมือจดไปสักพักแล้วจะเห็นว่า ในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เท่าไร จ่ายค่าอะไรมากเป็นพิเศษ และจะให้ดี ควรแยกในบันทึกว่าสิ่งที่จ่ายไปนั้นจำเป็นหรือแค่อยากได้

แล้วจำเป็นกับอยากได้ต่างกันตรงไหน จำเป็น คือ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น ปัจจัย 4 ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางไปทำงาน แต่ถ้าจ่ายมากเกินไปก็ต้องมาพิจารณาว่าเพราะอะไร และอาจพบว่าโดยเจตนาและความซื่อสัตย์ต่อตัวเองแล้วแล้วมันไม่ได้เข้ากลุ่มเป็นรายจ่ายจำเป็น เช่น ซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าเพิ่ม เพราะเห็นแล้วชอบและอดใจไม่ไหว ทั้งๆ ที่มีอยู่ก็ยังวนใส่ไม่ครบ

ส่วนรายจ่ายประเภทอยากได้ คือ รายจ่ายสำหรับสิ่งที่หากไม่มีแล้ว ก็ไม่ส่งผลเสียต่อชีวิต แต่อาจจะทรมานใจบ้าง หรือบางอย่างเป็นการเสียเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของเราโดยตรง เช่น ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า การพนัน

อย่างที่ 2 “ได้คิด” เมื่อจรดปากกาลงจดหรือจะใส่แอพ หรือโปรแกรมต่างๆ ตามที่ชอบและสะดวกแล้ว พอครบเดือนก็มารวมยอดและวิเคราะห์รายการข้าวของและจำนวนเงินที่ตัวเองจ่ายไป ซึ่งจะทำให้เราพบรายการ “รูรั่ว” ที่จ่ายแบบไม่จำเป็นหรือมากเกินไป หรือเห็นว่ารายได้ของเรามันน้อยเกินไปรึเปล่า ทำให้ได้สติคิดได้ว่าไม่ได้แล้ว จะนิ่งดูดายแล้วปล่อยไว้เฉยๆ แบบนี้ไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง

เริ่มที่เรื่องรายจ่าย ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหักดิบ “เลิก” ซื้อเลิกจ่ายตัดขาดขนาดนั้น แต่เริ่มจาก “ลด” ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปก็ได้ ซึ่งอยากให้กำลังใจว่า รายจ่าย 1 บาทที่ลดลงได้ก็เท่ากับเงินในกระเป๋าเงินที่เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือหาวิธีหารายได้เพิ่ม เช่น ตัดใจขายของที่ซื้อมาเยอะและไม่ได้จำเป็นต้องใช้ ทำงานพิเศษตามความชอบและถนัด

อย่างที่ 3 “ได้เปลี่ยน” เมื่อวางแผนแล้วว่าจะทำอย่างไร ที่เหลือก็แค่ลงมือเปลี่ยนตัวเองตามแผนที่วางไว้ ตอนแรกอาจจะรู้สึกยาก เขิน ไม่ชิน แต่อยากชวนให้ทำและให้เวลากับตัวเอง เพราะถ้าเราทำได้ ก็จะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น เพราะจะมีผลต่อชีวิตให้เปลี่ยนไปตามที่เรา “ได้คิด” ไม่ใช่แค่ความคิดที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอย่างที่ผ่านมา

ขอยกตัวอย่างในชีวิตจริงที่ได้ฟังมาสดๆ ร้อนๆ จากพี่คนหนึ่ง สมมติว่าชื่อ “ดาว” ผู้เจอว่าค่ากาแฟตลอดปีที่แล้ว สูงกว่าเงินค่าหุ้นสหกรณ์ที่ทยอยซื้อทุกเดือนอยู่เกือบหมื่นบาท พอเห็นตัวเลขแล้ว พี่ดาวตกใจมาก มาจัดระเบียบการดื่มกาแฟใหม่ โดยไปร้านดังที่ซื้อประจำให้น้อยลงและสลับไปซื้อร้านที่เดินไกลหน่อยที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีแต่ราคาถูกลงมากว่าครึ่ง ซึ่งตอนนี้พี่ดาวกำลังตัดสินใจว่าจะนำเงินที่ประหยัดได้ประมาณเดือนละ 500 บาท ไปทำอะไรดี ระหว่างเพิ่มจำนวนเงินซื้อหุ้นสหกรณ์กับซื้อ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ)

เท่าที่เคยฟังมาจากการพบปะผู้คนมากมาย ส่วนใหญ่จะถอดใจจอดป้ายตั้งแต่ได้แรกคือได้จด เพราะรู้สึกยิ่งจดยิ่งเครียดจากการเห็นรายจ่ายเต็มไปหมด แต่ถ้าอดทนและทำต่อไปเพื่อให้ได้อย่างที่ 2 และ 3 ก็ขอแสดงความยินดีล่วงหน้าว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะ “ได้เงิน” ไปออมหรือต่อยอดการลงทุนของคุณให้งอกเงยเพื่อทำความฝันทั้งหลายที่ต้องใช้เงินให้กลายเป็นจริงได้ เชื่อเถอะว่าชีวิตการเงินของคุณจะดีขึ้น เพียงแค่เริ่มจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายง่ายๆ เท่านี้เอง เหมือนหลายๆ คนที่ทำสำเร็จมาแล้ว

จดแล้วได้อะไร