posttoday

วิธีวางแผนลดหย่อนตั้งครรภ์และคลอดบุตร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเรื่องภาษี

10 ตุลาคม 2561

หากใครทราบกันดี ในปีนี้มีค่าลดหย่อนที่เพิ่มเติมขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์และคลอดบุตร

TaxBugnoms

หากใครทราบกันดี ในปีนี้มีค่าลดหย่อนที่เพิ่มเติมขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งให้สิทธิตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 6 หมื่นบาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 338 ที่ออกมาประมาณเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้มีบุตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงประชากรของประเทศมีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศนั่นเองครับ

หลังจากที่กฎกระทรวงออกไปสักพัก เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) ออกมาขยายความถึงเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งวันนี้พรี่หนอมได้สรุปออกมาแบบสั้นๆ ง่ายๆ เผื่อที่ใครจะเอาไปใช้ในการวางแผนภาษี ดังนี้ครับ

1.ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร” โดยความหมายคือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล (คำว่าสถานพยาบาลที่ว่านี้หมายถึงทั้งของรัฐและเอกชน) เรียกได้ว่าครบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจัดการด้านนี้ และไม่สนใจการรอดชีวิตของทารกนะครับ นั่นแปลว่าต่อให้จ่ายไปแล้วมีเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็ยังสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้อยู่ (อันนี้กฎหมายเขียนไว้ชัดมาก... มากเสียจนน่าตกใจ)

2.จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 6 หมื่นบาท เน้นว่าเป็นต่อครรภ์ ไม่ใช่ต่อคน ดังนั้นจะนับเป็น “คราว” ที่เกิดการตั้งครรภ์นั่นเองครับ

3.กรณีจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือแบ่งได้ตามปีที่จ่ายจริงนั่นเองครับ

4.เอกสารที่ต้องใช้ ได้แก่ใบรับรองแพทย์ (จริง) จากที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสมีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรไป (กรณีนี้ถ้าภรรยามีรายได้ แนะนำให้เป็นชื่อภรรยาเพื่อป้องกันปัญหาครับ)

5.กฎหมายมีผลย้อนหลังให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

วิธีวางแผนลดหย่อนตั้งครรภ์และคลอดบุตร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเรื่องภาษี

นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญที่อยากจะให้ระวังกันสำหรับเรื่องการยื่นภาษี ในกรณีดังต่อไปนี้ครับ

1.ถ้าแยกยื่นภาษี สิทธิจะเป็นของภรรยาคนเดียวเท่านั้น สามีจะสามารถใช้สิทธินี้ได้กรณีที่ภรรยาไม่มีรายได้ หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีรวมกันเท่านั้น

2.ถ้าเบิกสิทธิอย่างอื่นแล้ว จะเอามาเบิกได้แค่ส่วนที่ยังไม่เกิน 6 หมื่นบาทเท่านั้น โดยสิทธิที่ว่านี้ หมายถึงสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชนครับ พูดง่ายๆ (อีกแล้ว) ว่าถ้าเบิกนายจ้างได้มากกว่า 6 หมื่นบาท ก็แสดงว่าเราไม่มีสิทธิใช้สิทธิส่วนนี้ครับ

ใครที่มีลูกปีนี้ แนะนำว่าอย่าลืมลองเช็กและใช้สิทธิในการวางแผนภาษีกันดูนะครับ แต่สำหรับคนที่จะวางแผนมีลูกก็เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าได้เหมือน
กันครับผม

อะแฮ่ม...ว่าแล้วต้องไปมีลูกอีกสักคนเพื่อลดหย่อนภาษีดีไหมเนี่ย แต่คิดอีกทีดูแล้วน่าจะเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าภาษีอีกนะครับเนี่ย ฮ่าๆ