posttoday

เริ่มออมง่ายๆ สไตล์ Fin.ดี

13 กันยายน 2561

ใครบอกว่าวัยรุ่นยุคนี้เป็นจุดอ่อนของ ความเปราะบางด้านการเงิน เห็นทีจะต้องเปลี่ยนความคิด

ศุภลักษณ์  เอกกิตติวงษ์

ใครบอกว่าวัยรุ่นยุคนี้เป็นจุดอ่อนของ ความเปราะบางด้านการเงิน เห็นทีจะต้องเปลี่ยนความคิด เพราะเมื่อได้สัมผัสโครงการ “Fin. ดี We Can Do !!!” เห็นได้เลยว่า คนรุ่นใหม่มีมุมมองและวิธีคิดแบบล้ำๆ ในเรื่องการออม ที่คาดไม่ถึง

ที่ผ่านมาเราอาจจะขาดการปลูกฝังอย่างจริงจังในเรื่องความรู้ทางการเงินของเด็กในวัยเรียน ด้วยคิดเพียงว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะคนรุ่นใหม่ยังหารายได้ไม่ได้ แต่ที่จริงแล้วไม่จำเป็นว่าต้องมีรายได้ แต่หากดูแลการใช้จ่ายที่
เหมาะสม และตั้งต้นให้ความสำคัญในเรื่องการออมแล้ว ไม่ว่ากี่เป้าหมายก็บรรลุได้

รู้จัก Fin. ดี We Can Do !

โครงการ “Fin. ดี We Can Do !!!” เกิดจากความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดประกวดผลงานส่งเสริมความรู้ทางการเงินของครูและนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศนำความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคล การเงินธุรกิจ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้ในแบบของตัวเอง

กลุ่มเป้าหมายแรก เยาวชนอาชีวะ บ่มเพาะให้เป็นนักคิดนักปฏิบัติและเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ มีวินัยทางการเงิน สามารถบริหารจัดการการเงินในชีวิตได้อย่างเหมาะสม และก้าวผ่านความท้าทายในอนาคตได้ เป็นหนึ่งในนโยบายการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของ ธปท. ที่มุ่งเน้นการดำเนินการเชิงป้องกันเพื่อให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและทักษะทางการเงิน นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาได้ประกาศผลรางวัลชนะเลิศ ประเภท 1) นวัตกรรมการสอน “ฝันให้ไกล ไปให้ถึงด้วยการออม” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จ.เชียงใหม่ 2) โครงงาน “ทวีทรัพย์รักษ์การออม” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) จ.ชลบุรี

เริ่มออมง่ายๆ สไตล์ Fin.ดี

ส่อง 3 ผลงานเด่น

มุ่งเน้นผลงานของนักศึกษาที่มีการคิดและออกแบบการออมเงินอย่างชาญฉลาด จนสามารถกระตุ้นเพื่อนในสถาบันให้เข้าร่วมกิจกรรมจนเกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงการเห็นความสำคัญ แต่ยังทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจากการเริ่มต้นที่ตัวเองไปสู่สังคมอีกด้วย

ทวีทรัพย์รักษ์การออม

โครงงาน “ทวีทรัพย์รักษ์การออม” จาก อี.เทค โดย ทีม “Start Saving Start Future” ตั้งต้นจากปัญหาที่นักศึกษาช่างอุตสาหกรรมหลายคนเผชิญ คือ ไม่มีเงินทำโปรเจกต์จบ ซึ่งสอบถามจากอาจารย์แล้วก็พบว่าทุกปีจะมีปัญหานักศึกษาไม่มีเงินทุน เมื่อโครงการเสร็จช้า ทำให้มีผลกับการจบช้าด้วย จึงนำโครงการ Fin. ดี We Can Do !!! มาประยุกต์ใช้

ผลการประเมินพบว่า เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ทางด้านการเงิน

อาวุธสำคัญ คือ สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย พร้อมกับเลือกตั้งเหรัญญิกประจำกลุ่ม และนำเหรัญญิกเข้ากลุ่ม Line ประจำห้อง เพื่อถ่ายรูปการฝากถอนเงินในกลุ่มเพื่อสร้างความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงานทุกสัปดาห์ มีรางวัลเงินทุนสนับสนุนให้กับโครงการบริหารเงินยอดเยี่ยม และเหรัญญิกดีเด่น

ผลการทำโครงการตั้งแต่เปิดเทอม-5 ก.ค. 2561 ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยตัวแทนนักศึกษาเล่าว่า จากที่ไม่มีเงินทำโปรเจกต์ของปีที่แล้วทำให้ต้องกลับมาเรียนใหม่ พอมีโครงการนี้ ทำให้มีเงินเก็บเพื่อทำโปรเจกต์ในการจบได้

น้องวัชรินทร์ ฝีปากเพราะเป็นบุคคลที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้เพื่อนได้มากที่สุด จากคนที่ไม่สนใจอะไรเลย กลับถูกมอบหมายให้เป็นเหรัญญิกประจำกลุ่ม ตอนแรกนึกว่าจะไม่รอด กลับเป็นเขาที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งคอยกระตุ้นเพื่อนให้นำเงินมาฝากทุกสัปดาห์ สุดท้าย น้องวัชรินทร์ ก็ขึ้นไปรับรางวัลเหรัญญิกดีเด่น

“ตัวผมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองขึ้นครับ ก็รู้จักการเก็บออมมากยิ่งขึ้น เห็นถึงความสำคัญ คิดว่าเงินที่เก็บในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตมากขึ้น”

โครงการเริ่มต้นจากแผนกช่างอุตสาหกรรม แต่ผลลัพธ์ขยายต่อไปยังแผนกอื่นๆ เช่น การตลาด ช่างยนต์ ก็ให้ความสนใจเริ่มเปิดบัญชีตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเป็นทุนไปใช้ในโครงการปีต่อไป และมองไปถึงการสานต่อสู่ชุมชนอีกด้วย

ต่อยอดสู่ชนเผ่า

ทีมเยาวชนชนเผ่าเกษตรสันป่าตอง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เริ่มต้นด้วยโจทย์ “เมื่อเกิดความต้องการ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช็อปปิ้ง เครื่องสำอาง โทรศัพท์ เสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรายได้ลดลง ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานการณ์จริงที่คนรุ่นใหม่เจอสิ่งเร้าจากโซเชียล

แนวคิดของทีมเยาวชนชนเผ่า มองว่า 3 สิ่งสู่เป้าหมายทางการเงิน ได้แก่ การให้จดบัญทึกบัญชีว่าอะไรควรจ่ายอะไรไม่ควรจ่าย พร้อมทั้งสร้างแรงกระตุ้นด้วยการให้เล่นเกมที่สอดแทรกเกี่ยวกับการเงินสนุกด้วยได้ความรู้ด้วย และเสริมความรู้แบบหยั่งลึกจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงโดยธนาคารออมสิน

การขยายผลสำหรับโครงการนี้นับเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ เพราะน้องๆ ไม่ได้รู้เรื่องการออมเฉพาะตัวเอง หรือในสถานที่ศึกษาเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปให้ความรู้ทางการเงินในชุมชน ซึ่งผู้คนในชนเผ่าเกษตรเผ่าสันป่าตอง ต่างให้ความสนใจมากในกิจกรรมที่ธนาคารออมสินและน้องๆ ต่อยอดเข้าไปให้ความรู้ทางการเงิน เป็นการฝังรากหยั่งลึกในชุมชนที่สร้างความยั่งยืน

เริ่มออมง่ายๆ สไตล์ Fin.ดี

เป็นหนี้ได้ใช้หนี้เป็น

โครงการ “กยศ.เป็นหนี้ได้ใช้หนี้เป็น” โดยทีม KVC Strong วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น มุ่งแก้ปัญหาการค้างชำระหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เกิดขึ้น ต้องแก้ไขด้วยการส่งเสริมวินัยทางการเงิน เป็นหนี้ ใช้หนี้ เพิ่มเงินเหลือเก็บ ซึ่งล้วนเกิดได้จาก “การออม”

กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่กู้เงิน กยศ. ซึ่งการใช้หนี้อาจเป็นเรื่องหนัก ทีมนี้จึงเลือกการเล่นเกม เป็นช่องทางสื่อสารความรู้ทางการเงิน อาทิ เกม “ออมกันเถอะออเจ้า” หรือ “เลขพารวย” มาควบคู่กิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินและหลักเกณฑ์ของการกู้เงิน กยศ. พร้อมสอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต

เพื่อไปสู่เป้าหมายความมั่นคงทางการเงิน ต้องวางแผนทางการเงิน 5 ขั้น ประกอบด้วย ความรู้ทางการเงินเบื้องต้นการทำบัญชีรายรับรายจ่ายการออม ตั้งเป้าหมายทางการเงิน(ยึดหลัก Smart) จัดทำแผนสู่เป้าหมาย (ระบุสิ่งที่ต้องทำระยะสั้น/กลาง/ยาว) ปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด (สร้างวินัยทางการเงิน) และทบทวนและปรับปรุงแผน เพื่อความสำเร็จ

ทุกผลงานและประสบการณ์จากการประกวดในครั้งนี้ จะได้รับการถอดบทเรียนความสำเร็จ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้เป็นต้นแบบสำหรับขยายผลไปสู่สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ สามารถประยุกต์กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และส่งต่อความรู้ทางการเงินจากรุ่นสู่รุ่น