posttoday

ปิดความเสี่ยง 3 โรคฮิต ไม่เจ็บ ไม่จน

10 กันยายน 2561

3 โรคที่คร่าชีวิตคนไทย คือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ไม่เพียงจะทำให้ตัวเองเจ็บปวด แต่ต้องตกอยู่ในภาวะความจนอีกเพราะต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาจำนวนมาก

โดย..วารุณี อินวันนา

Healthy First, Wealth Later ... สุขภาพต้องมาก่อน...เพื่อจะได้มีแรง พลัง สร้างความมั่งคั่งอย่างสบายใจ

ช่วงนี้ทีมงานของ Wealth + เดินสายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมกับวิทยากรที่ประสบความสำเร็จด้านการสร้างความมั่งคั่ง มีพลังแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นผลมาจากสุขภาพที่แข็งแรง

นอกจากนี้ อภิมหาเศรษฐีไทย ปี 2561 ที่จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ประเทศไทย ล้วนเป็นผู้ที่มีอายุยืนกว่า 70 ปี ไม่ว่าจะเป็น เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ อายุ 79 ปี เจ้าของธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ อายุ 75 ปี เจ้าของธุรกิจเครือเซ็นทรัล เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อายุ 74 ปี เจ้าของกลุ่มธุรกิจไทยเบฟเวอเรจ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ อายุ 85 ปี เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ เจ้าสัววานิช ไชยวรรณ อายุ 87 ปี เจ้าของบริษัท ไทยประกันชีวิต ล้วนมีสุขภาพที่แข็งแรง

การมีสุขภาพที่แข็งแรง จึงทำให้มีพลัง มีไฟ ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ครอบครัว ขยายธุรกิจได้ใหญ่โต สร้างงานให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยมากมายมหาศาล

ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดเจ็บป่วยกะทันหัน โดยเฉพาะ 3 โรค ที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากสุด คือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคหัวใจ ละก็ ไม่เพียงจะทำให้ตัวเองเจ็บปวด สูญเสียเงินทองแล้ว ยังทำให้ความฝันของครอบครัวต้องสลาย และตกอยู่ในภาวะความจนอีกเพราะต้องเสียเงินไปกับค่ารักษา

จากการรวบรวมจากผู้ป่วยตัวเป็นๆ รวมถึงรวบรวมจากสังคมออนไลน์ที่มีคนในครอบครัวป่วยหรือป่วยเอง และรวบรวมจากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ที่มีการเก็บสถิติค่ารักษาเพื่อนำมาออกแบบความคุ้มครอง 3 โรคข้างต้น จะพบว่า

ปิดความเสี่ยง 3 โรคฮิต ไม่เจ็บ ไม่จน

โรคมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตและป่วยมากที่สุดระยะลุกลาม มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 9 แสน-2.4 ล้านบาท ถ้าไม่ลุกลามจะอยู่ประมาณ 5 แสนบาทต่อการเข้ารับการรักษา ยังไม่รวมการต้องคอยระวังดูแลหลังการรักษาอีก ส่วนโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันตั้งแต่ 9 แสนบาท ไปจนถึง 1.9 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายหลังการรักษาที่จะต้องทำการฟื้นฟูร่างกาย ขณะที่โรคหัวใจ หากทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจตีบในโรงพยาบาลของรัฐจะอยู่ที่ 4.7 แสนบาท โรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่า หรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 1.5 ล้านบาท

จาก 3 โรค มีโรคมะเร็งระยะลุกลาม หรือมะเร็งระยะสุดท้าย ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต ถือว่าภาระค่าใช้จ่ายก็จบลง โรคหัวใจโอกาสเสียชีวิตก็สูง ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองถึงจะรักษาทัน แต่สภาพหลังการรักษาจะไม่เหมือนเดิม บางรายกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องดูแลกันยาวนาน ทำให้ผู้ที่ต้องดูแลอาจจะต้องหยุดงาน หรือลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลเพราะความรักและห่วงใย

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เดิมโรคหลอดเลือดสมองพบในคนวัย 50 ปีขึ้นไป แต่วันนี้คนวัยทำงานก็ป่วยกันเยอะเพราะมีการกินอาหารสไตล์ตะวันตก และไม่ออกกำลังกาย และเมื่อป่วยแล้วหากรักษาทันจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นและฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง แต่จะไม่เหมือนเดิม 100%

ปิดความเสี่ยง 3 โรคฮิต ไม่เจ็บ ไม่จน

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง 1.รับประทานอาหารที่เหมาะสม กินผัก ผลไม้ ในแต่ละมื้อ 50% ต้องเป็นผัก และผลไม้อีก 7-8 ชิ้นคำ/มื้อ จะช่วยลดความดันและป้องกันหลอดเลือดเสื่อมสภาพ น้ำมันมะกอก หรือรำข้าว วันละ 5-9 ช้อนชา ถั่วเปลือกแข็งวันละ 30 กรัม เนื้อปลาทะเลน้ำลึกที่มีโอเมก้า 3 รับประทานอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด หากสามารถกินอาหารคลีนฟู้ดได้ จะลดความเสี่ยงได้ถึง 30% หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุญเชียง ไส้กรอก เบคอน แฮม ซาลามี่ เพราะมีโซเดียมกับสารไนไตรท์ อย่ากินเค็ม ลดเนื้อสัตว์หรือเนื้อแดงมาก เพราะทำให้หลอดเลือดเสื่อมได้มากขึ้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองถึง 24% ลดเครื่องดื่มที่มีไขมัน และลดหวาน

2.ออกกำลังกายแอโรบิก 30 นาที/วัน และไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง/สัปดาห์ การฝึกกำลังอย่างน้อย 10-20 ครั้ง/เซต 2 ครั้ง/สัปดาห์ 3.ควบคุมน้ำหนัก 4.ควบคุมความดัน เช่น ความดันอยู่ที่ 150 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งทุกๆ 2 มิลลิเมตรปรอท จะลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ 6% ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ 15% 5.ถ้าป่วยเป็นโรคไขมันสูงให้ทานยาลดไขมัน 6.ไม่เครียด นั่งสมาธิ หรือโยคะ 7.ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หากปฏิบัติได้ทั้งหมดข้างต้น จะลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 80%

ขณะที่ จรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานผู้ก่อตั้งธนาคารเกียรตินาคิน วัย 90 ปี แนะนำให้ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม หรือตรวจดีเอ็นเอ ที่สามารถบอกความเสี่ยงว่าจะป่วยเป็นโรคได้ถึง 30 โรค จะได้หาวิธีป้องกันอาการเจ็บป่วยล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นวิทยาการสมัยใหม่ที่ในประเทศไทยมีให้บริการแล้วและราคาไม่แพง สมัยก่อนต้องเดินทางไปตรวจที่ต่างประเทศและมีราคาแพง

นอกจากจะดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงและห่างไกลโรคแล้ว ต้องเตรียมเงินฉุกเฉินสำหรับการเจ็บป่วย ซึ่งมีหลายวิธี แต่วันนี้จะนำ 2 วิธีมาให้เลือก คือ

1.ระยะสั้น ออมในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก สลากออมสิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ให้มากพอครอบคลุมค่ารักษาหรือการซื้อประกันสุขภาพ

2.ระยะยาว วางแผนค่ารักษาพยาบาลระยะยาวหลังจากที่เกษียณ หรือไม่ได้ทำงานด้วย ซึ่งช่วงนั้นจะไม่มีรายได้เข้ามา ก็สามารถเก็บในรูปของการลงทุนในกองทุนเฮลท์แคร์เพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เมื่อครบอายุ 55 ก็จะมีเงินก้อนในการเก็บไว้รักษาพยาบาล ถ้าไม่ป่วยก็มีเงินไปเที่ยว ใช้จ่าย แต่มีความเสี่ยงว่าการลงทุนอาจขาดทุน จึงต้องคอยใส่ใจ และการซื้อประกันบำนาญ ที่สบายใจได้ว่าเงินต้นจะไม่หาย และมีการค้ำประกันผลตอบแทนให้ด้วย