posttoday

‘คริปโท บล็อกเชน’ โอกาสและความเสี่ยง

30 สิงหาคม 2561

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้การยอมรับ สร้างความน่าเชื่อถือ เข้าถึงคนได้มากกว่าด้วย

โดย..วารุณี อินวันนา

เงินสกุลดิจิทัล หรือคริปโทเคอเรนซีกับบล็อกเชน เป็นสิ่งที่มาพร้อมๆ กัน แต่บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้การยอมรับมากกว่า ทั้งในแวดวงการเงินและธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการลดต้นทุน สร้างความน่าเชื่อถือ เข้าถึงคนได้มาก

วิทยา อัศวเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดฟเน็ทเวิร์ค หนึ่งในผู้ลงทุนในคริปโทเคอเรนซี หรือเงินสกุลดิจิทัล กล่าวในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรมยุคใหม่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน” ว่า คริปโทเคอเรนซีถูกออกแบบอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขรหัสของคริปโทได้ ทำให้คริปโทเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในการใช้โอนเงินระหว่างประเทศ

รวมถึงมีผู้เข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาของคริปโทหลายสกุลมีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น บิตคอยน์ ซึ่งการเข้าไปลงทุนต้องเข้าใจรายละเอียดของคริปโทว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง มีจำนวนเท่าไร เพราะมีผลต่อราคาและความต้องการของตลาด ข้อดีและข้อเสียจะแตกต่างกันด้วย

ยกตัวอย่าง คริปโท สกุลสเตลา (Stellar) ข้อดีคือ มีการทำธุรกรรมได้เร็วมาก และทำธุรกรรมเป็นหลักสตางค์ ข้อเสียคือ เขียนสัญญาอัจฉริยะ หรือสมาร์ทคอนแทรกต์ได้ไม่ง่ายนัก และเพิ่มจำนวนได้เรื่อยๆ แต่บิตคอยน์มีจำนวนจำกัด

ขณะที่ในเชิงเศรษฐศาสตร์มองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนดี เพราะลดต้นทุนในการตรวจสอบธุรกรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ลดต้นทุนในการเข้าถึงคนจำนวนมหาศาล ซึ่งบล็อกเชนยังดีต่อการสร้างนวัตกรรมด้วย เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการจับมือโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ อูเบอร์ และแอร์บีเอ็นบี รวมถึงธุรกิจแบ่งปันเพื่อสังคมก็สามารถนำบล็อกเชนมาใช้ได้

ทั้งนี้ มองกันว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแน่นอน แต่ไม่ใช่คริปโทเคอเรนซี หรือบิตคอยน์ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีแบงก์ไหนรับเปิดบัญชีบิตคอยน์ แม้บางประเทศเริ่มแล้ว แต่เมื่อฝากบิตคอยน์ก็ต้องถอนเป็นบิตคอยน์ ไม่มีการให้ถอนเป็นเงินสกุลที่รัฐบาลรับรอง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย มีโครงการทดลองนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาชำระราคาระหว่างธนาคารชื่อโครงการอินทนนท์