posttoday

"คุ้มครองเงินฝาก" เร่งรับมือภัยยุคดิจิทัล

07 สิงหาคม 2561

วันที่ 11 ส.ค. 2561 จะเป็นวันครบรอบ10 ปี ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยมาเป็นเวลา 10 ปี

เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
         
วันที่ 11 ส.ค. 2561 จะเป็นวันครบรอบ10 ปี ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยมาเป็นเวลา 10 ปี

วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นบทเรียนสำคัญของวิกฤตการเงินไทย เพราะมีการปิดสถาบันการเงิน 56 ไฟแนนซ์ เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับสถาบันการเงินไปจนถึงธนาคารพาณิชย์จนมีปัญหาที่จะล้มตามมา ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาประกาศค้ำประกันเงินฝากและเจ้าหนี้เงินกู้ทั้งจำนวน เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่น เนื่องจากขณะนั้นมีกฎหมายคุ้มครองผู้ฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านมา 20 ปี มีการชำระหนี้ไปบางส่วน และยังเหลือความเสียหายที่ยังต้องชำระอีก 9 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดการผิดพลาดจากที่ควรรับประกันแต่ผู้ฝากเงิน แต่มีการไปคุ้มครองเจ้าหนี้เงินกู้ด้วย ทำให้เกิดความเสียหายมาก และมีการวิจารณ์ตามมาว่าอุ้มคนรวยล้มบนฟูก

อย่างไรก็ตาม สคฝ.ก็เกิดขึ้นจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินในกรณี ที่เกิดวิกฤตการเงินรอบใหม่ อย่างไรก็ตามตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สคฝ.ยังไม่ได้รับมือกับวิกฤตการเงินจนถึงขั้นต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ฝากเงิน

ดังนั้น ภารกิจหลักสำคัญในช่วง 10 ปีแรกของ สคฝ. จึงเป็นการเตรียมความพร้อมของ สคฝ. และให้ความรู้กับผู้ฝากเงินให้เข้าใจเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น

นอกจาก สคฝ.ยังได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ฝากเงินให้มีความกระชับมากขึ้น มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายคืนให้กับผู้ฝากเงินภายใน 30 วัน หากสถาบันการเงินมีปัญหาและถูกปิด โดยผู้ฝากเงินไม่ต้องยื่นคำขอ จากเดิมที่ต้องมายื่นคำขอ

อีกประเด็นสำคัญในรอบ 10 ปี คือวงเงินการค้ำประกัน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมักสร้างความตระหนกกับผู้ฝากเงินเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ สคฝ.ต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้ฝากเงินว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองทั้งหมดอยู่แล้ว

ล่าสุด ในวันที่ 11 ส.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปี จะมีการลดวงเงินคุ้มครองจาก 15 ล้านบาท เหลือ 10 ล้านบาท/บัญชี/ธนาคาร และในวันที่ 11 ส.ค. 2562-10 ส.ค. 2563 จะลดเหลือ 5 ล้านบาท/บัญชี/ธนาคาร ส่วนวันที่ 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป จะปรับลดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท/บัญชี/ธนาคาร จะไม่ส่งผล กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้ฝากเงิน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ฝากเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท มีสัดส่วน 98.2% ซึ่งเท่ากับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองทั้งจำนวนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กองทุนเงินฝากยังมี วงเงินสะสมถึง 1.2 แสนล้านบาท สามารถรองรับความเสียหายจากสถาบันการเงินที่มีปัญหาและถูกปิดได้ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องการปิดสถาบันการเงินในไทยเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากหลังวิกฤตการเงินปี 2540 ทาง ธปท.ได้มีการปรับการกำกับดูแลสถาบัน การเงินครั้งใหญ่ ทำให้สถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็งรองรับวิกฤตจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดีตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินไทย ก็ยังมีความเสี่ยง แม้ว่าจะไม่ใช่ความเสี่ยงจากการปล่อยเงินกู้เกินตัว แต่เป็นความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล เช่น การโดนแฮ็กเกอร์ล้วงข้อมูลลูกค้า ไม่มีวันนี้ไม่มีความเสียหายกับลูกค้าหรือธนาคาร แต่ในวันหน้าวิกฤตภัยดิจิทัลของสถาบันการเงินจะเป็นเรื่องใหญ่และทำให้เกิดความเสียหายกับธนาคาร

ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินยังมีโอกาสเกิดวิกฤตการเงินจากภัยดิจิทัล ทำให้ สคฝ.จึงเป็นองค์กรการเงินที่มีความจำเป็นในการดูแลผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินให้เกิดความเชื่อมั่น ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าวในโอกาสครบรอบ 10 ปี ว่าการดำเนินงานก้าวต่อไปของ สคฝ.ในทศวรรษที่ 2 ได้ตั้งเป้าปรับองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ สร้างความรู้ความเข้าใจการคุ้มครองเงินฝากกับประชาชน เพื่อให้มีความเชื่อมั่นกับระบบสถาบันการเงิน และไม่อ่อนไหวต่อสถานการณ์วิกฤตการเงินในยุค ดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสถาบันการเงินจะมีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา