posttoday

ตามรอยสถาบันรับโลกป่วน

23 กรกฎาคม 2561

สงครามการค้าที่เข้มข้นและแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นขาขึ้นได้กดดันหุ้นไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดย...ทีมข่าวหุ้น-การเงินโพสต์ทูเดย์

สงครามการค้าที่เข้มข้นและแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นขาขึ้นได้กดดันหุ้นไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีหุ้นไทย (SET) 6 เดือนแรกปี 2561 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ที่ 1,595.58 จุดลดลง 9% จากสิ้นปี 2560 จากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่เงินทุนไหลเข้ากองทุนรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกองทุนหุ้น

แนวโน้มครึ่งปีหลังผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าคาดและตลาดรับรู้แรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปแล้วทำให้มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้น แม้ว่าตลาดยังผันผวน

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของสภาธุรกิจตลาดหุ้นไทย พบว่า 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับทรงตัว แต่มีสัญญาณที่ดีคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเป็นบวกครั้งแรก

นักลงทุนควรจัดพอร์ตเช่นไร ในสถานการณ์ที่มีความหวังเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่แน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนส่วนใหญ่แนะนำให้กระจายพอร์ตลงทุน เพิ่มสินทรัพย์ที่เป็นทองคำ และยังไม่แนะนำให้ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ควรถือเงินสดให้มาก ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อจะได้ปรับตัวทัน 

สำหรับการลงทุนกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และระวังการลงทุนกองทุนรวมที่เงินไหลเข้ามามากกว่าปกติ

เจษฎา สุขทิศ และชยนนท์ รักกาญจนันท์ คณะกรรมการลงทุนร่วมระหว่างบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา และ บลน.อินฟินิติ มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนต่อเนื่องในครึ่งปีหลังจากการที่เฟดและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าและดัชนีชี้นำเศรษฐกิจบางตัวเริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัว แต่ตลาดเกิดใหม่ทั้งเอเชีย จีน เกาหลีใต้ และไทย มีโอกาสฟื้นตัวต้นไตรมาส 3 เพราะตลาดหุ้นและค่าเงินรับรู้ข่าวร้ายไปหมดแล้ว

“แนะนำลดพอร์ตในตราสารทุนจาก 40% เล็กน้อย และเพิ่มการลงทุนในทองคำ ตลาดหุ้นโลกยังผันผวนในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า จากความไม่แน่นอนของปัจจัยข้างต้น”

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร เตือนให้ระมัดระวังการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยและตลาดหุ้นญี่ปุ่นต่ำกว่าตลาด ให้กระจายความเสี่ยงไปลงทุนต่างประเทศ โดยเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นสหรัฐ ยุโรป

“ลงทุนหุ้นไทยยังเสี่ยงจากสงครามการค้า การขึ้นดอกเบี้ยเฟด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ควรเลือกลงทุนรายตัวโดยหุ้นครึ่งปีหลังที่แนะนำคือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) (AP) บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท ดิเอราวัณ กรุ๊ป (ERW) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ (INTUCH) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO)”

นอกจากนั้น การลงทุนตราสารหนี้ให้รักษาอายุของตราสารไม่ยาวเกินไปเพื่อรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น และถือเงินสดให้มากเพื่อรับความผันผวน ควรกระจายการลงทุนในตราสารหลากประเภท และกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่ยืดหยุ่นเป็นกองทุนหลัก กองทุนที่ทยอยลงทุนเพิ่มในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะลดแรงเทขายตราสารหนี้ที่เสี่ยงเครดิตในพอร์ตกองทุนได้ในกรณีเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

บล.ภัทร ให้น้ำหนักลงทุนมากกว่าตลาดเล็กน้อยสำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและระมัดระวังกองทุนที่มีเงินทุนจากกองทุนรวมที่เน้นลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เงินไหลเข้ามากกว่าปกติ น้ำมันดิบราคาจะทรงตัวสูง จากความพยายามพยุงราคาของผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก (โอเปก) และให้น้ำหนักมากกว่าตลาดทองคำที่กระจายความเสี่ยงได้

ชัยเกษม วัฒนศิริพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบริหารช่องทางจัดจำหน่ายบลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) แนะนำกลุ่มการเงินเพราะจะได้ดีจากดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้ปล่อยกู้สูง และกลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ฮ่องกง เพราะยังให้ผลตอบแทนดี

นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ แนะนำให้เลือกหุ้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศ หุ้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยนอกประเทศ และหุ้นปันผล หุ้นเด่นที่เลือกในครึ่งปีหลัง คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บริษัท คอมเซเว่น (COM7) บริษัท นามยง เทอร์มินัล (NYT) บริษัท แพลน บี มีเดีย (PLANB) บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) บริษัท ซีฟโก้ (SEAFCO) และบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)

ทั้งนี้ หุ้นแนะนำเดือน ก.ค.คือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) INTUCH บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)