posttoday

เคล็ดลับวางแผนการเงินสำหรับคู่รัก

22 พฤษภาคม 2561

ไม่ว่าคุณจะเป็นคู่รักแบบไหน กุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการใช้ชีวิตคู่ก็คือ การวางแผนการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปก็มีอยู่หลายวิธี

เรื่อง ภาดนุ ภาพ เอเอฟพี

ไม่ว่าคุณจะเป็นคู่รักแบบไหน กุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการใช้ชีวิตคู่ก็คือ การวางแผนการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปก็มีอยู่หลายวิธี เช่น จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ประหยัด ออมเงินให้มากขึ้น แต่วิธีเหล่านี้ถ้าลองทำแล้วไม่ได้ผล ลองหยุดแพลนเดิมๆ แล้วลองหาภารกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้แผนการเงินของคุณสนุกท้าทาย และมีสีสันมากขึ้นกันดีกว่า กับภารกิจง่ายๆ เพียงแค่ชวนท้า “เลิก” และ “หาใหม่”

1.ภารกิจท้าเลิก

เลิก! ในที่นี้คือ เลิกค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยที่คุณทั้งคู่มีส่วนร่วม เช่น กินข้าวนอกบ้านแทบทุกวัน ดูหนังในโรงภาพยนตร์เกือบทุกเรื่อง ช็อปปิ้งของที่ไม่จำเป็น เช่น รองเท้าผ้าใบมีอยู่แล้ว แต่จะซื้ออีก 5-6 คู่ เพื่อให้ครบทุกสี ท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศทุกวันหยุด เป็นต้น

เพียงคุณลองตั้งกฎสำหรับคู่ของคุณขึ้นมา หากใครทำผิดกฎต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีกองกลางเป็นการลงโทษ แนะนำว่า ถ้าอยากให้ตัวเลขดีดสูงเร็วเท่าไร ลองเพิ่มความสนุกท้าทายผ่านการเล่นเกม “ความซื่อสัตย์” เช่น ถ้าคู่ของคุณบ้าช็อปปิ้ง ลองตั้งกฎให้ซื้อของฟุ่มเฟือยได้เดือนละไม่เกิน 5,000 บาท หากทำผิดกฎ ต้องนำเงินไปลงกองกลางเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้เกินที่กำหนดไว้ หรือตั้งกฎว่าเราจะกินข้าวนอกบ้านกันเดือนละครั้งในงบ 4,000 บาท ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดไว้ คุณสองคนจะต้องจ่ายเงินส่วนที่เกินเข้ากองกลาง ถ้าไม่ถึงก็เอาเงินส่วนที่เหลือเก็บเข้าบัญชีส่วนกลาง ลองคิดดูสิ ว่าจะลุ้นสักแค่ไหน

2.ภารกิจท้าหาใหม่

ลองหาอะไรใหม่ๆ เป็นไอเดียทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วตั้งเป้าว่าเราต้องทำมันให้ได้ เช่น ตั้งเป้าว่าจะไปวิ่งสัปดาห์ละ 2 วัน ถ้าทำไม่ได้จะถูกปรับ 500 บาท หรือชวนกันลดน้ำหนักให้ได้ 2 กก. ภายใน 2 เดือน ถ้าทำไม่ได้จะถูกปรับ 1,000 บาท และถ้าน้ำหนักขึ้น ปรับเงินตามจำนวนขีดของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น คูณด้วย 1,000 บาท เช่น ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นมา 2 ขีด ก็คูณ 1,000 บาท เท่ากับว่าคุณจะถูกปรับ 2,000 บาท ทริกนี้จะช่วยให้ภารกิจนี้เพิ่มเงินได้ดีทีเดียว

3.เปิดอกคุยเรื่องเงิน

ขั้นตอนแรกอาจจะน่าเบื่อหน่อย แต่ก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ข้ามไม่ได้ เพราะถ้าคุณทั้งคู่ไม่เปิดอกคุยเรื่องเงินแบบจริงจัง เป้าหมายที่จะเป็นคู่รักกระเป๋าหนักคงไม่มีวันเป็นไปได้ ถ้าอยากให้การเงินของคุณทั้งคู่บรรลุเป้าหมาย จงเปิดอกคุยเรื่องเงิน รายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร มีหนี้สินอะไรบ้าง ปัญหาการเงินในตอนนี้ นิสัยการใช้เงิน แผนการใช้เงินในอนาคต พูดง่ายๆ ว่าแบไต๋ทุกเรื่องการเงินให้หมด ถ้าคิดจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

อย่าคิดว่ากระเป๋าใครกระเป๋ามัน ต่างคนต่างจัดการกันเอง เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ กับการใช้ชีวิตร่วมกันอาจสร้างปัญหาเล็กๆ ที่สะสมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต คุณจำเป็นต้องรู้ว่าคู่ของคุณมีนิสัยการใช้เงินอย่างไร เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ หาแนวทางป้องกันปัญหาทางการเงิน และวางแผนการออมให้เหมาะกับรายรับและรายจ่ายของทั้งคู่

4.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

ขั้นตอนนี้เบสิก แต่เป็นประโยชน์อย่างมาก แน่นอนว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป การจดบันทึกอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ ลองหาแอพพลิเคชั่นเจ๋งๆ ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้จัดการด้านการเงิน ติดตามการใช้จ่ายของคุณ และมีระบบแจ้งเตือนค่าใช้จ่ายประจำเมื่อถึงกำหนดที่ต้องชำระ และสามารถดูภาพรวมรายรับ-รายจ่ายตั้งแต่รายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนได้ เช่น Mobiles : Budget Planner ซึ่งเป็นแอพที่ใช้งานง่ายมาลองใช้ดู แล้วคุณจะรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไร เงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายเรื่องไหน ก็จะทำให้ง่ายต่อการวางแผนการเงินในขั้นตอนต่อไป

5.เปิดบัญชีกลาง

ตามหลักทั่วไปของการใช้ชีวิตคู่คือ คุณจะต้องมีบัญชีกองกลางสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน นำค่าใช้จ่ายที่ควรอยู่ในบัญชีกองกลาง เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง รวมถึงค่าท่องเที่ยวที่คุณวางแผนจะไปด้วยกัน และอื่นๆ คำนวณรายจ่ายในแต่ละเดือน แล้วบวกเพิ่มเข้าไปอีก 10% ของรายจ่าย เนื่องจากรายจ่ายบางอย่างไม่คงที่ทุกเดือน จากนั้นให้นำเงินจำนวนนั้นมาหารครึ่งเพื่อลงเงินกองกลางทุกเดือน คราวนี้คุณทั้งคู่ก็จะรู้แล้วว่าต้องลงเงินคนละเท่าไร และเหลือเงินสำหรับใช้ และเก็บเท่าไร

6.ใช้เงินทำงานให้งอกเงย

ถ้าคุณสามารถผ่านขั้นตอนวางแผนการเงินร่วมกัน มาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายได้แล้ว แสดงว่าคุณพร้อมสำหรับการสร้างอนาคตร่วมกันแล้วล่ะ เพราะการออมเงินในขั้นตอนนี้คือบันไดก้าวสำคัญของการทำให้เงินเก็บของคุณงอกเงย เพียงกำหนดสัดส่วนของเงินเก็บ บางคู่อาจเก็บ 10% ของรายได้ทั้งคู่ หรืออาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินและรายรับรายจ่ายของคุณทั้งคู่ ส่วนรูปแบบการลงทุนก็มีให้เลือกมากมาย หากคู่ไหนพร้อมที่เสี่ยง ก็มีการลงทุนหลายอย่างที่มีความเสี่ยงน้อย ไปถึงความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนที่เน้นการลงทุนหุ้นขนาดเล็ก-กลาง เลือกที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต กองทุนปันผล ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ก็น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสมด้วย