posttoday

เส้นชัยมโน...

05 เมษายน 2561

น้องคนหนึ่งหลังไมค์มาขอคำปรึกษา หลังไปเข้าอบรมวิธีการสร้างอิสรภาพทางการเงิน ผ่านช่องทางออนไลน์กับกูรูด้านความมั่งคั่งท่านหนึ่ง

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์

น้องคนหนึ่งหลังไมค์มาขอคำปรึกษา หลังไปเข้าอบรมวิธีการสร้างอิสรภาพทางการเงิน ผ่านช่องทางออนไลน์กับกูรูด้านความมั่งคั่งท่านหนึ่ง

น้องเขาเล่าว่า หลังเรียนวิธีตั้งเป้าหมายกับกูรูท่านดังกล่าวแล้ว ก็ให้รู้สึกตกใจเล็กน้อย เพราะเป้าหมายการเงินที่เขาคิดได้จากวิธีที่กูรูสอน ออกมาเป็นตัวเลขกลมๆ 5 แสนบาท/เดือน

ที่สำคัญ​มันเป็น Passive Income หรือรายได้จากทรัพย์สิน ไม่ใช่รายได้จากการทำงาน (หรือ Active Income)

นั่นหมายถึง เขาต้องสร้างและสะสมทรัพย์สิน (อาทิ หุ้น กองทุนรวม อสังหาฯ ให้เช่า ธุรกิจ หรือทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ)​ ที่จะสร้างหรือผลิตรายได้ให้กับเขาทุกเดือน ในรูปดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า กำไรจากกิจการ และค่าลิขสิทธิ์ รวมๆ กันเดือนละ 5 แสนบาท

[ต่อไปนี้คือ เรื่องราวการสนทนาระหว่างผมกับน้องเค้า]

“แล้วปัญหา คือ ... ?” ผมถามหลังจากฟังเขาเล่าเรื่องตัวเองจบ

“ก็แค่เห็นเป้าหมายแล้วผมตกใจครับ รายได้จากทรัพย์สินเยอะขนาดนั้น ตอนนี้แค่ 1,000 เดียว ผมยังไม่มีเลย ที่สำคัญหนี้ผมยังมีหนี้อยู่อีกตั้งแยะ ที่ยังใช้เขาไม่หมด”

“แล้ว? ...” ผมถามต่อ หลังฟังคำอธิบาย

“ผมก็เลยมาถามพี่หนุ่มนี่ยังไงละครับ เอาเข้าจริง ผมเองก็ดูๆ อยู่หลายทาง แต่ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนดี พี่หนุ่มมีคำแนะนำมั้ยครับ ว่าผมควรเริ่มจากทำอะไร?”

“ก่อนจะไปถึงวิธีการหารายได้จากทรัพย์สินต่อเดือนมากขนาดนั้น ถามหน่อยสิ ตอนได้ตัวเลขเป้าหมายออกมา เรารู้สึกยังไง”

เส้นชัยมโน...

“รู้สึกเลยครับว่า งานประจำไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราแน่ๆ”

“ไม่ใช่สิ! ที่พี่ถามหมายถึง ตอนเราได้ตัวเลขเป้าหมายการเงิน เราไม่รู้สึกเอะใจอะไรกับมันเลยเหรอ?”

“เอะใจยังไงครับ”

“งั้นถามใหม่ อะไรทำให้เราเชื่อในทันที ว่ามันเป็นเป้าหมายเรา?”

นิ่งเงียบไปนาน ผมเลยถามต่อ

“ทำไม? ต้อง 5 แสนเป็น 1 แสน หรือ 1.5 แสน พอมั้ย? จะเอา 5 แสน ไปทำอะไรบ้าง ที่บอกว่าต้องได้เท่านี้ ถึงจะมีชีวิตที่มีอิสรภาพ หมดกังวลเรื่องการเงิน”

ปลายทางยังนิ่งเหมือนกำลังฟัง

“ถ้าเห็นตัวเลข 5 แสนที่คำนวณได้แล้วรู้สึกตกใจ อาจเป็นไปได้มั้ยว่า เป็นเพราะเราเองก็รู้สึกว่าหาเหตุผลมาอธิบายมันไม่ได้ เราไม่อินกับมัน หรือที่แย่ที่สุด คือ ไม่มีเหตุผลรองรับว่าทำไม? ต้องพยายามทำตัวเลขนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา”

“แล้วเรามีวิธีดูยังไงครับ ว่าสิ่งที่เราคิดมันเป็นเป้าหมายของเราจริงๆ”​ เจ้าของเรื่องถามกลับ

“ก็เหตุผลหลังตัวเลขไงละ ทำไม? ทำไม? ทำไม? เราเคยถามตัวเราจริงๆ มั้ย WHY น่ะ

จะว่าไปตัวเลข 5 แสนที่เราคำนวณได้ อาจจะถูกก็ได้นะ ถ้าเราตั้งโจทย์เองว่า เงินกินอยู่ใช้จ่ายในแต่ละเดือนระดับนั้น ถึงจะมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม

เส้นชัยมโน...

แต่ถ้าไม่ใช่ คิดถึงมันแล้วใจสั่น ไร้พลัง อันนั้นก็อาจเป็นตัวเลขที่เราอุปโลกน์ขึ้นมา เป็นเรื่องที่เรามโนไปเอง คิดเกินความต้องการที่แท้จริงแบบไร้สติเป้าหมายจริงอาจไม่ได้สูงขนาดนั้นก็ได้ อันนี้มุมมองส่วนตัวพี่นะ”

“แต่ถ้าแบบนั้นมันจะเป็นลดขนาดความฝันตัวเองหรือเปล่าครับ คนเราควรคิดใหญ่ ฝันใหญ่ ไม่ใช่เหรอครับ”

“คนเราไม่ได้มีความสุขจากการเปรียบเทียบ หรือตั้งกฎเกณฑ์ว่าฝันแบบนี้เล็กไป หรือต้องฝันใหญ่หรอก

คนเรามีความสุข กับ “ความฝันที่เป็นจริง” มากกว่า

ความฝันที่เป็นความฝันของเราจริงๆ ไม่ได้หยิบยืมหรือเลียนแบบคนอื่น มีเหตุผลรองรับเป้าหมายหรือสิ่งที่ฝัน ทำให้เรามีพลังอย่างแรงกล้า กล้าลุย กล้าเดิน กล้าลงมือทำ

และนั่นจะทำให้ทุกวันที่เรากำลังพยายามทำความฝันหรือเป้าหมาย เราจะมี “ความสุข” ในทุกวัน ทั้งๆ ที่ยังไม่สำเร็จ

“หรืออย่างน้อยก็ไม่ตกใจกับเป้าหมายตัวเองตั้งแต่เริ่ม แบบที่เราเป็นอยู่นี่ไง”

“ไม่ต้องเชื่อพี่หรอกนะ ลองค่อยๆ คิดดูเอาเองแล้วกัน เพราะสิ่งที่น้องกำลังสงสัย ถือเป็นวิชาการเงินขั้นสูงสุดแล้วล่ะ ใครเข้าใจตรงนี้ได้ ก็จะรวยเร็วขึ้น และมีความสุขง่ายขึ้น”

“จริงเหรอครับ วิชาอะไรเหรอครับ”

“การรู้จักและเข้าใจตัวเองครับ อันนี้แหละคือวิชาการเงินขั้นสูงสุดแล้ว เมื่อรู้และเข้าใจที่เหลือก็ง่าย รวยง่ายขึ้น เพราะไม่ตั้งโจทย์เว่อร์ รวยเร็วขึ้น เพราะตั้งเป้าหมายที่ทรงพลัง สอดคล้องกับความสุขในชีวิตที่ต้องการจริงๆ จึงทำให้เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ

หลังรอเขาตอบกลับอยู่นาน สุดท้ายไม่มีเสียงตอบอะไรกลับมา

สงสัยเค้าคงไม่อินกับคำอธิบายอันแสน Abstract ของผมแน่ๆ เลย 555