posttoday

รับมือดอกเบี้ย...ขาขึ้น

19 มีนาคม 2561

ส่งสัญญาณกันมาแล้วว่า...แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นแน่ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

ส่งสัญญาณกันมาแล้วว่า...แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นแน่ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง

ใครที่เตรียมจะขอเงินกู้เพื่อซื้อบ้านหรือทำธุรกิจก็อาจจะต้องศึกษาให้ดีก่อน

ส่วนคนที่ตกเป็นลูกหนี้เงินกู้แล้วก็คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น...

โดยเฉพาะคนกู้ซื้อบ้านที่จะต้องติดอยู่ในกรงกลายเป็นลูกหนี้ที่รัก...ยาวนาน 20-30 ปี

สถานการณ์ดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้นอย่างนี้...มีผลกระทบทั้งผู้ประกอบการที่ต้องมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ในที่สุดก็ผลักภาระมาที่ผู้บริโภคด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า

ในขณะเดียวกัน “ดอกเบี้ย” ยังมีผลต่อขีดความสามารถในการซื้อ หรือการผ่อนชำระของผู้บริโภคต่อที่อยู่อาศัย

โดยการขึ้นดอกเบี้ยทุก 1% จะมีผลทำให้ค่างวดผ่อนสินเชื่อบ้านเพิ่ม 7% เช่น การผ่อนบ้านราคา 1 ล้านบาท จะมีภาระค่างวดเพิ่มขึ้น 700 บาท

หนีไม่พ้นหากดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้น มาหาแนวทางการรับมือกันดีกว่า

อันดับแรก ต้องมาทำความรู้จักเจ้า “ดอกเบี้ย” กันก่อน

ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านนั้นมีหลายแบบแตกต่างกัน ดังนี้

1.เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Loan) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะ สั้นในช่วงแรก จากนั้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี และจากนั้นจะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ไปวัดดวงกันตอนท้ายว่าลอยตัวแล้วจะดอกสูงหรือต่ำกันเลยทีเดียว

2.เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Loan) เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ณ เวลาปัจจุบันตามประกาศนั้น และจะใช้ไประยะเวลาหนึ่ง และต่อมาภายหลังอาจปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน

3.เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan) หมายถึง เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา 3 หรือ 5 ปี ตลอดระยะเวลากู้นาน 25-30 ปี

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อบ้าน ออกแคมเปญให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยปีแรกๆ อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 0-1.99% หรือมีแคมเปญดอกเบี้ยคงที่ 3-5 ปี อยู่ที่ 3.5-5.5% หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได

รับมือดอกเบี้ย...ขาขึ้น

แต่หลังจากหมดโปรโมชั่นแล้วส่วนใหญ่จะถูกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านหรือดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีจะอยู่ที่ (เอ็มอาร์อาร์) 7.12-8.50%

โดยทั่วไปเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแคมเปญอัตราดอกเบี้ยแล้ว เราสามารถที่จะไปยื่นขอธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ ก็คือเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ใหม่ จากเดิมดอกเบี้ยลอยตัว เปลี่ยนมาเป็นดอกเบี้ยใหม่ที่มีเงื่อนไขที่ดีกว่า

หรือจะรีไฟแนนซ์ไปหาสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีข้อเสนอที่ดีกว่า (ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า) แต่ก็จะต้องคำนึงถึงความยุ่งยากในการดำเนินการรีไฟแนนซ์ และค่าใช้จ่ายในการทำนิติกรรมหรือขอสินเชื่อใหม่

หลักการเลือกดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน...

เราจะเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านแบบคงที่นานๆ ดี หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวดีกว่ากัน

อย่าดูดอกเบี้ยโปรโมชั่นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะให้ดีต้องดูดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก

ควรดูดอกเบี้ยแบบคงที่ ไม่ต้องกังวลกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

สิ่งแรกๆ สามารถจะดูเรื่องความถูกแพงของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยแบงก์ A คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-2% ปีที่ 3 คิดที่ MRR-1% ส่วนปีที่ 4 ไปจนตลอดอายุสัญญาคิดที่ MRR-0.5% เป็นต้น

แต่อย่าลืมดูว่าอัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละแบงก์ไม่เท่ากันด้วยนะ

ประการต่อมา ให้พิจารณาค่าความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยย้อนหลัง โดยควรเลือกประเภทที่มีความผันผวนน้อย เนื่องจากผู้กู้จะสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ง่ายกว่า และไม่ต้องกังวลเมื่อเวลาดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ซึ่งจะส่งผลต่อเงินงวดที่ผ่อนชำระในแต่ละเดือน

แต่ส่วนใหญ่แล้วสถาบันการเงินจะคำนวณเงินงวดผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้กู้สามารถผ่อนชำระเท่ากันทุกๆ งวดได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินงวดเพิ่ม

ขอเป็นกำลังใจให้กับลูกหนี้ที่รักทั้งหลายที่ยังต้องแบกภาระดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่แสนยาวนาน เราจะต้องหมั่นตรวจสอบและติดตามเรื่องดอกเบี้ย นั่นคือ...เงินที่เราจะต้องจ่ายไป