posttoday

เรียนรู้การเงินต้องครบวงจร

15 มีนาคม 2561

ช่วงนี้มีหลายบริษัทเชิญผมไปบรรยายเรื่องการเงิน แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกระบวนการบริหารเงินส่วนบุคคลในองค์รวม

โดย...จักรพงษ์  เมษพันธุ์

ช่วงนี้มีหลายบริษัทเชิญผมไปบรรยายเรื่องการเงิน แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกระบวนการบริหารเงินส่วนบุคคลในองค์รวม เช่น มีหลายแห่งเชิญให้ไปสอน "การทำบัญชีครัวเรือน" อย่างเดียว

ด้วยดูเหมือนว่าจะมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า การจดรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน แล้วนำมาลงบัญชี สรุปค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนนั้น เป็นแก่นของการจัดการการเงิน

ทั้งที่ในความจริงแล้ว ... ไม่ใช่

ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่า การจดบันทึกการใช้จ่ายไม่สำคัญ เพียงแต่มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารเงิน และเป็นเพียงปลายทาง

ที่ถูกต้องมันต้องเริ่มต้นกันที่การจัดทำงบการเงิน ทั้งงบรายรับรายจ่ายในลักษณะประมาณการ เพื่อให้สามารถเตรียมการบริหารจัดการเงินที่จะได้รับมาในแต่ละเดือน รวมไปถึงการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล เพื่อให้เห็นต้นเหตุของสภาวะทางการเงินในปัจจุบัน โดยมีการจดบันทึกค่าใช้จ่ายเป็นตัวเปรียบเทียบกับงบประมาณที่จัดทำขึ้น

ถ้าไม่ทำงบ ไม่เห็นอนาคต การวางแผนหรือการควบคุมเงินในกระเป๋าก็คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการแค่คอยตามจดสิ่งที่ใช้จ่ายไป มันคือ เรื่องที่เกิดไปแล้ว แก้หรือปรับอะไร ก็ช้าไปแล้ว ยิ่งคนเป็นหนี้ ถ้าหากไม่วางแผน ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ รับรองว่านอกจากหนี้จะไม่หมดแล้ว ยังจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีเรื่องการเตรียมพร้อมและจัดการกับความเสี่ยงทางการเงิน ไม่ว่าจะทั้งกับภัยใกล้ตัว อย่างเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ที่ต้องมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด หรืออย่างตกงาน ถูกเลื่อนชำระหรือเบี้ยวค่าจ้าง ไปจนถึงภัยต่อทรัพย์สิน อาทิ บ้าน รถยนต์ ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้กระเทือนกับการเงินของเราทั้งหมด

ไหนจะงานที่ทำยังมีความเสี่ยงจากการรับผิด และถูกฟ้องร้องกันอีก เช่น แพทย์ ผู้รับเหมา เป็นต้น

อีกเรื่อง คือ การวางแผนภาษี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายสำคัญของชีวิต ซึ่งเอาเข้าจริงเรื่องนี้ไม่มีทริค ไม่มีกลเม็ดใดๆ มีแต่ความเข้าใจที่ต้องใช้ค่าลดหย่อนให้ถูกต้องตามสิทธิ

สุดท้าย ก็ต้องมุ่งไปที่การจัดสรรเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันในวัยเกษียณ ด้วยการวางแผนสะสมเงินลงทุนในเครื่องมือที่ช่วยต่อยอดเงิน อันจะทำให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินใช้จ่ายได้เพียงพอหลังหยุดทำงาน

นี่คือ ... พื้นฐาน (ย้ำ! ว่าพื้นฐาน) สำหรับการบริหารเงินส่วนบุคคลจริงๆ

ไม่ใช่เรียนแค่จด จด จด โดยไม่เห็นภาพรวมของเงินกับชีวิต

ที่หนักหน่อยก็คือ พอสื่อสารไปว่าควรจะให้ผู้เข้าสัมมนาเห็นภาพรวมทั้งหมดตามที่เล่าไป ก็มาติดกันที่เรื่องของเวลา

"เรามีเวลาเท่านั้นเท่านี้คะ พอจะแทรกเป็นแบบที่ขอได้ไหม" ออกลักษณะจัดให้พอได้มี หรือทำให้รู้สึกดีว่ามี CSR ให้พนักงานตัวเอง

หรือบางที่ก็หนักเลย หัวโบราณ ออกแนวไม่อยากให้รู้เยอะ เช่น

"รบกวนอาจารย์ตัดเรื่องการลงทุนออกได้มั้ยครับ วางแผนเกษียณนี่เอาแค่เก็บออมก็พอ” ด้วยกลัวว่าถ้าพนักงานรู้มาก ลงทุนกันเก่ง จะลาออกไปเป็นนักลงทุนกันหมด (อยากบอกจังว่าลงทุนมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะครับ)

หรือถูกห้าม อย่าพูดบางเรื่องที่พนักงานกำลังขอหรือกำลังเรียกร้องกันอยู่ เพราะกลัวจะเป็นประเด็นยืดยาว ออกแนวขอให้พูดเรื่องจริงไม่ครบถ้วน แบบนี้ก็มีไม่น้อย

"เงิน" ผูกพันกับชีวิตในหลายมิติหลายด้าน แถมยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนวันตาย การจะสอนหรือจะเรียนรู้เรื่องเงินจึงต้องทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพรวมของชีวิตเขาทั้งหมดว่าเกี่ยวข้องและผูกพันกับการบริหารเงินอย่างไร

เรียนด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่ให้ความรู้ในองค์รวม ... เสียเวลา และไม่เกิดผลในเชิงบวกใดๆ

หารายได้-ใช้จ่าย-ออม-ลงทุน : ครบทั้ง 4 ด้านในทุกมิติการเงิน เพื่อเป้าหมาย สภาพคล่องดี-ปลอดหนี้จน-พร้อมชนความเสี่ยง-มีเสบียงสำรอง-สอดคล้องเกณฑ์ภาษี-บั้นปลายมีทุนเกษียณ 

นี่คือสิ่งที่เราคุยกันในหลักสูตรคนไทยฉลาดการเงิน ที่พวกผมยืนหยัดที่จะเผยแพร่เพื่อคนไทยทั้งประเทศครับ