posttoday

ลดต้นทุน ด้วยบัญชีเดียว

13 กุมภาพันธ์ 2561

สินเชื่อคือหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนเพียงพอ

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

สินเชื่อคือหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนเพียงพอ และมีโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตได้เร็วขึ้นกว่าการรอทุนของตัวเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งใครๆ ที่ขอสินเชื่อก็อยากได้อัตราดอกเบี้ยถูกๆ กันทั้งนั้น ซึ่งวันนี้เป็นข่าวดีของเอสเอ็มอีที่จะมีโอกาสลดต้นทุนดอกเบี้ยได้

สำหรับเอสเอ็มอีที่ได้สิทธินี้ก็คือ เอสเอ็มอีที่จัดทำบัญชีและงบการเงินสะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส หรือภาษาบ้านๆ ก็คือ การทำบัญชีเล่มเดียว เป็นการทำบัญชีที่แท้จริงยื่นให้กรมสรรพากร แทนที่จะทำบัญชียื่นกรมสรรพากรแบบหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วงบการเงินแท้จริงมีตัวเลขมากกว่านั้น โดยผู้ประกอบการไปจดตัวเลขแท้จริงแอบไว้กับบัญชีที่สอง สาม สี่ เพราะกลัวว่าถ้ายื่นตัวเลขทั้งหมดเดี๋ยวจะโดนเสียภาษีบานเบอะ

สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้กำหนดนโยบายให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อโดยให้น้ำหนักจากงบการเงินที่ผู้ประกอบการใช้แสดงต่อกรมสรรพากรมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพิจารณาประสบการณ์การทำธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจมหภาค กับข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในอนาคต เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของลูกค้าพร้อมกำหนดวงเงินและดอกเบี้ยที่ควรได้รับ

นโยบายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2562 และในช่วงแรกเพื่อให้มีแรงจูงใจ เอสเอ็มอีที่ทำบัญชีเดียวก็จะได้อัตราดอกเบี้ยดีขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ปัจจุบันเอสเอ็มอีในไทยมีกว่า 2.8 ล้านราย ในจำนวนนี้เข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว 6 แสนราย ที่เหลือยังเป็นในนามบุคคลธรรมดา ขณะที่ 4.5 แสนรายจากเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด แจ้งลงทะเบียนกับภาครัฐแล้วในการจัดทำบัญชีเดียว ที่เหลืออีก 1.5 แสนรายก็อาจจะเข้าสู่ระบบแจ้งทำบัญชีเดียวตามมา

ได้ยินแบบนี้แล้ว เอสเอ็มอีที่กู้สถาบันการเงินอยู่ ถ้าปัจจุบันทำบัญชีเดียวอยู่แล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะมาตรการนี้เป็นเหมือนการคืนความสุขให้เอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ใครทำดีย่อมได้ดี ได้ดอกเบี้ยที่ดี

แต่ช้าก่อน!...ใครที่อาจยังทำหลายบัญชี ช่วงนี้ถือเป็นฤกษ์ดีที่จะเริ่มต้นทำให้ถูกต้อง เพราะข้อดี คือ จะได้กู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ในทางกลับกันถ้ายังยืนหยัดซิกแซ็กมีหลายบัญชีต่อไป ท่านอาจจะเจอรับน้องได้

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินมีลูกค้าอยู่มากมายร้อยแปดพันเก้า แค่ดูงบการเงินของท่านเปรียบเทียบกับลูกค้าเจ้าอื่นที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน ขนาดธุรกิจพอๆ กัน แต่รายนั้นทำบัญชีเดียว แล้วมาเทียบกับท่านที่ทำหลายบัญชี ธนาคารพาณิชย์ก็ดูออกได้แล้วว่า นี่ไม่น่าจะใช่ตัวเลขจริง ดังนั้นก็อาจจะได้รับบทลงโทษกลับไปเป็นการจัดให้ท่านเป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ได้ดอกเบี้ยแพงขึ้น แถมอาจจะโดนตัดวงเงินสินเชื่อด้วย ทีนี้พอไปเทียบกับคู่แข่งด้วยกันที่ทำถูกต้องได้ดอกเบี้ยถูกกว่า แค่นี้ต้นทุนที่ท่านได้รับก็แพ้คู่แข่งแล้ว

ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ชี้แนะว่า เอสเอ็มอีไม่ใช่แค่ควรทำบัญชีเดียวเพื่อจะได้ดอกเบี้ยถูกลง แต่เป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องทำตามกฎหมายที่ภาครัฐส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส และการที่เอสเอ็มอีทำทุกอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ได้เห็นผลการดำเนินงานที่แท้จริง เวลาไปดำเนินการอะไรต่อระยะยาวก็จะง่ายขึ้น ขอสินเชื่อก็ง่ายขึ้นเช่นกัน

ด้าน ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินอาจไม่เคยไปตรวจสอบดูว่าเอสเอ็มอีทำกี่บัญชี ที่ผ่านมาก็ใช้งบการเงินที่ยื่นกรมสรรพากรพิจารณาสินเชื่ออยู่แล้ว เพียงแต่ในอนาคตอาจจะมาดูมากขึ้นเกี่ยวกับวงเงินที่ให้ไป โดยพิจารณางบการเงินที่ยื่นมาควบคู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ถ้ามองแล้วมีความแตกต่างมาก ตัวเลขในงบการเงินอาจดูต่ำเกินไปก็อาจใช้เวลาพิสูจน์มากหน่อย แต่ไม่ใช่ไม่ให้สินเชื่อเลย

ทั้งนี้ เอสเอ็มอียังมีเวลาเตรียมตัวรับมาตรการนี้อีก 10 เดือน ซึ่งสมาคมธนาคารไทยก็จะร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการทำงบการเงิน ความรู้การทำธุรกิจ การขาย และการตลาดกับเอสเอ็มอีในเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 1-2 หมื่นคน ดังนั้นก็น่าจะเป็นอีกช่องทางช่วยให้เอสเอ็มอีไม่สะดุดเมื่อต้องปฏิบัติตามหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

“โดยปกติดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) +2% แต่ถ้าเอสเอ็มอีขอสินเชื่อภายใต้บัญชีเดียวในช่วง 1 เม.ย. 2562-31 มี.ค. 2563 ก็จะได้ดอกเบี้ยคงที่ 5% นาน 2 ปีจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 ราย” ปรีดี กล่าว

การดำเนินงานทุกอย่างให้โปร่งใสและถูกต้องเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรกระทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีมาตรการสิทธิประโยชน์จูงใจหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่มาตรการนี้ก็เป็นเหมือนแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้ที่ยังกระทำไม่ถูกต้อง 100% กลับตัวกลับใจเสียใหม่ แล้วทำทุกอย่างให้ถูกต้องเสียตั้งแต่วันนี้

เห็นแบบนี้แล้วก็ต้องบอกเอสเอ็มอีว่า เริ่มต้นเลยกับการทำบัญชีเดียว แล้วเดี๋ยวสิ่งดีๆ ก็จะตามมา