posttoday

คุณแม่ (นักลงทุน) ผู้สร้างความมั่งคั่ง

08 กุมภาพันธ์ 2561

คุณแม่บ้านหลายคนกำลังมองหาว่า จะทำอะไรดีนะที่จะเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

คุณแม่บ้านหลายคนกำลังมองหาว่า จะทำอะไรดีนะที่จะเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้ รายได้ไม่ว่าจะมาจาก “กระเป๋าไหน” ก็ต้องถือว่าสำคัญทั้งสิ้น  คุณแม่บ้านคือผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้ควบคุมงบประมาณส่วนกลางของครอบครัว ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้โชว์ฝีมือการบริหารจัดการเงิน

มาดูกันดีกว่าว่า “คุณแม่นักลงทุน”จะมีแนวทางอย่างไรในการจัดสรรเงินส่วนกลางในการจัดการค่าใช้จ่ายในบ้าน การบริหารภาษี และการต่อยอดเงินออมสู่การลงทุน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

1.จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว

เพื่อให้ทราบว่าค่าใช้จ่ายของครอบครัวมีเรื่องอะไรบ้าง และจัดการวางแผนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือพูดง่ายๆ คือ อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด อย่าลืมชวนสมาชิกในครอบครัวมาร่วมด้วยช่วยกันคิดและช่วยกันประหยัด

คุณแม่บ้านอาจโน้มน้าวคุณพ่อบ้าน ให้ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จากคู่แต่งงานข้าวใหม่ปลามัน ที่หมั่นเติมความหวานด้วยการสรรหาร้านอาหารอร่อยนอกบ้านรับประทาน ก็อาจจะชวนกันเปลี่ยนมาทำอาหารกินกันในบ้านก็ได้ ถ้ามีลูกก็ชวนลูกๆ ช่วยกันทำ ช่วยกันเก็บ รับรองว่าจะช่วยให้สบายใจและสบายกระเป๋า

หากต้องไม่ลืมบริหารจัดการเกี่ยวกับการซื้อของใช้และอาหาร อย่าเผลอซื้อหรือเก็บตุนจนเกินจำเป็น ทางที่ดีควรจดรายการสินค้าที่ต้องการก่อนทุกครั้ง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและคุมในเรื่องของระยะเวลาในแต่ละครั้งของการจ่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ด้วย 2.จัดสรรเงินออมและเงินลงทุนแยกตามเป้าหมาย

2.จัดสรรเงินออมและเงินลงทุนแยกตามเป้าหมาย

คุณแม่บ้านควรจะแยกบัญชีออกจากกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารเงิน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีออมเพื่อวัยเกษียณของตัวเองและสามี บัญชีออมเพื่อการศึกษาบุตร บัญชีประกันชีวิต บัญชีออมเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่ บัญชีออมเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวของครอบครัวประจำปี เป็นต้น

3.เลือกช่องทางการออมและลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมาย

ควรวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ทั้งในด้านระยะเวลา และอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ที่สำคัญต้องเลือกให้เหมาะสมกับความเสี่ยง ที่รับได้ด้วย เช่น เงินออมเพื่อเกษียณ เป็นเป้าหมายระยะยาว ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง ก็เลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น เพื่อรับผลตอบแทนที่มากขึ้น

ขณะที่เงินออมเพื่อการศึกษาลูก เช่น ค่าเทอม เป็นเป้าหมายระยะสั้น ทว่ามีความสำคัญสูง ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจนเกินไป ควรเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น

4.หมั่นตรวจสอบเป้าหมายทางการเงินอยู่เสมอ

เพื่อจะได้ปรับแผนการเงินให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น หากครอบครัวมีสถานะการเงินดีขึ้น ก็ควรออมเงินให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น หรือหากสภาวะการลงทุนเปลี่ยนแปลง จนทำให้ไม่ได้อัตราผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ก็ควรปรับเป้าหมายหรือแผนการเงินให้สอดคล้อง

ยกตัวอย่าง ครอบครัวมีสมาชิก 3 คน สามี ภรรยาและลูกเล็กๆ 1 คน คุณแม่บ้านจัดทำงบประมาณครอบครัว เพื่อบริหารรายได้ค่าใช้จ่าย ดังนี้

1.ค่าเทอมลูกระดับอนุบาล 3 ปี คิดเป็นเป้าหมายจำนวนเงิน 1.5 แสนบาท ทางเลือกการลงทุน เลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปี เพราะมีระยะเวลาออมสั้น ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อคุ้มครองเงินต้น คิดเป็นอัตราการออมต่อเดือน 4,400 บาท

2.ค่าเทอมลูก (เมื่อเติบโตขึ้น) ในระดับประถม ระยะการออม 6 ปีจากปัจจุบัน และคิดเป็นเป้าหมายที่จำนวนเงิน 3 แสนบาท เลือกลงทุนในกองทุนรวมผสมที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เพราะมีระยะเวลาออมนานขึ้น จึงเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หรือเท่ากับออมต่อเดือน 3,675 บาท

3.เงินใช้หลังเกษียณ 20 ปี ของตัวเองและสามี (คนละ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) ระยะเวลาการออม 25 ปี เป้าหมาย 8 ล้านบาท เลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี เสี่ยงสูงได้เพราะระยะเวลาออมนานกว่า 10 ปี เวลาช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีขึ้น คิดเป็นอัตราการออมต่อเดือน 6,779 บาท

สรุป เงินเป้าหมายทั้งหมดรวม 8.48 ล้านบาท รวมออมต่อเดือน 14,498 บาท (อย่าลืมปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีด้วย)

ให้กำลังใจคุณแม่บ้านทุกคน ในภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ต้องขวนขวายหาความรู้เรื่องเงินๆ ทองๆ เพียงแค่บริหารจัดการเป็น ก็ต่อยอดเงินออมได้เยอะแยะ นั่นหมายถึงอนาคตและความสุขของครอบครัวอยู่ในมือของคุณแม่บ้านคนเก่ง สำคัญอย่าลืมทบทวนแผนการเงินเสมอ และเตรียมวางแผนรับมือกับเป้าหมาย (ใหม่ๆ) ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้อีก เช่น ค่าเทอมลูกระดับมัธยมศึกษาและระดับปริญญาตรี เป็นต้น