posttoday

ปฏิทินรับ-จ่าย สำหรับสาย (ต้อง) เปย์

07 กุมภาพันธ์ 2561

หากอยากจะชิลๆ สบายๆ เมื่อวันที่ต้องจ่ายเงินมาถึง ก็อยากจะชวนสายต้องเปย์ ทั้งหลายให้มาเตรียมตัวให้พร้อม

โดย...ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เดือน ม.ค.ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว และกาลเวลาก็จะนำพาค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่มาหาเราในอีกไม่ช้าเช่นกัน ยิ่งถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ก็เป็นไปได้สูงว่าเงินใช้จ่ายประจำวันของเราจะเหลือน้อยลง ในที่สุดหลายคนก็ต้องไปหยิบยืมเหมือนในข่าวทุกๆ ปีว่าต้องไปพึ่งพาโรงรับจำนำที่หลายจังหวัดต้องสำรองเงินถึงหลักร้อยล้านในช่วงใกล้เปิดเทอม เล่นแชร์ กู้สหกรณ์ใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ไปจนถึงกู้เงินนอกระบบ

หากอยากจะชิลๆ สบายๆ เมื่อวันที่ต้องจ่ายเงินมาถึง ก็อยากจะชวนสาย (ต้อง) เปย์ ทั้งหลายให้มาเตรียมตัวให้พร้อม (หรืออย่างน้อยก็พร้อมมากที่สุด) ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดในชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แต่น่าจะใช้ขั้นตอนต่อไปนี้ได้ทุกคน

1.จดรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกเดือนและค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในตารางที่แบ่งเป็นรายเดือน เพื่อบันทึกประมาณการรายรับและค่าใช้จ่าย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.1 ค่าใช้จ่ายที่รู้ล่วงหน้าทั้งกำหนดเวลาและจำนวนเงิน เริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายจำเป็นเช่น ค่าเทอมลูก ค่าต่อเติมบ้าน ค่าประกัน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขและความฝัน เช่นเงินให้พ่อแม่ช่วงสงกรานต์ แต่งงาน ท่องเที่ยว หรือเงินช็อปปิ้ง ที่บางคนจ่ายไปเรื่อยๆ ไม่เคยรู้ว่าจ่ายไปเดือนละเท่าไหร่ ก็ควรทำให้รู้ด้วยการตั้งงบประมาณต่อเดือนไม่เกิน 5-10% ของเงินเดือน แล้วไม่ใช้เกินงบที่ตั้งไว้

1.2 ค่าใช้จ่ายที่ไม่รู้ล่วงหน้า แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายที่รู้ว่ามีแน่แต่กำหนดเวลาและจำนวนแน่นอนไม่ค่อยได้ เช่น เงินใส่ซองงานแต่งงาน งานบุญ และเหตุไม่คาดฝัน เช่น ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินประกันสุขภาพหรือสวัสดิการที่มี รถเสีย เงินสำรองใช้จ่ายช่วงตกงาน ในส่วนค่าใช้จ่ายที่รู้ว่ามีแน่

ลองประมาณดูว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ เช่น เดือนต.ค.-พ.ย.ของทุกปี มักจะได้ซองกฐินและการ์ดแต่งงานรวมกันประมาณ 10 ซอง ก็จดลงในตารางของ 2 เดือนนั้นได้เลย สำหรับเหตุไม่คาดฝันให้คำนวณดูว่าเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินครบ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ครบ ควรรีบเก็บให้ครบโดยถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้ตัวเอง

2.จดรายรับที่คาดว่าจะได้ลงในช่องของแต่ละเดือนตามตารางในข้อ 1 เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าจ้าง ค่าเช่าบ้านหรือคอนโดที่ปล่อยเช่า เงินปันผลสหกรณ์ กองทุนรวม หุ้น ดอกเบี้ยพันธบัตร เป็นต้น

3.เอารายรับและค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนมาหักลบกัน ก็จะเห็นว่าบางเดือนเงินเหลือ บางเดือนเงินไม่พอ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ เดือนไหนที่มีเงินเหลือให้เก็บทันทีที่ได้เงินมา เพื่อไว้ใช้สำหรับเดือนที่เงินไม่พอ โดยเปิดเป็นบัญชีแยกต่างหากไม่ปนกับเงินเดือน แล้วตั้งใจมั่นว่าจะไม่ถอนออกมาเด็ดขาดถ้ายังไม่ถึงเวลาต้องใช้ และหากทำแล้วยังเจอเดือนที่เงินชอร์ต ให้ลองทบทวนค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกครั้ง เพื่อหารายการที่สามารถลดลงหรือตัดออกได้ หรือหารายได้เพิ่มแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีเงินพอรับมือในเดือนนั้น หรือวางแผนออมเงินหรือลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้แยกสำหรับรายการใดรายการหนึ่งไปเลยก็เป็นทางเลือกที่หลายคนนิยมทำกัน 

หัวใจสำคัญของการรักษาตัวให้รอดในแต่ละเดือนด้วยวิธีที่ว่ามานี้ก็คือ คิดให้ละเอียดรอบด้านที่สุด เพื่อที่จะได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ไม่มีค่าใช้จ่ายก้อนไหนที่หลงลืมไปจนทำให้เกิดภาวะเงินขาดมือระหว่างปี และอย่าลืมปรับแผนถ้าจำเป็นทันทีที่รู้ตัวเลขรายรับและค่าใช้จ่ายจริง ถ้าทำได้ตามนี้ ก็จะมั่นใจได้ว่าแม้ค่าใช้จ่ายทั้งแบบเดิมๆ และแบบใหม่จะมาหา แต่ปัญหาเงินไม่พอใช้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำหรืออย่างน้อยก็เบาสบายกว่าที่ผ่านมาแน่นอน