posttoday

อี-มาร์เก็ตเพลส ช่องทางพาเอสเอ็มอีรวย

31 มกราคม 2561

การมองตัวช่วยให้รวยผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเป็นเทคนิคสำคัญที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ไม่ควรมองข้าม

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ยุคนี้ใครมีสินค้าและบริการดีอย่างไร แต่ถ้าขายผ่านแค่หน้าร้านอย่างเดียว โอกาสรวย โอกาสโตก็อาจไม่มากเท่าคู่แข่งที่ตบเท้าเข้าไปขยายโอกาสตัวเองด้วยการค้าขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ หรือสังคมออนไลน์

การมองตัวช่วยให้รวยผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเป็นเทคนิคสำคัญที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง (เอสเอ็มอี) ไม่ควรมองข้าม

ช่องทางใหม่ที่อยากให้เอสเอ็มอีจับตามองอย่างใกล้ชิด และเตรียมสตาร์ทวิ่งเข้าใส่คว้าโอกาสนี้ไว้ก็คือ บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ที่เร็วๆ นี้จะทยอยคลอดออกมาแน่นอน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียวให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทำได้แล้วเป็นการทั่วไป

วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลว่า เหตุผลที่ ธปท.อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลสได้ เพราะมองเห็นสภาพแวดล้อมสำคัญที่เปลี่ยนไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล สะท้อนจากรายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยปี 2560 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ดด้า) ระบุว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้เพื่อค้นหาข้อมูลเป็นอันดับ 2 คือ 86.5% และใช้ซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอันดับ 5 คือ 50.8% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้ายังอยู่ในอันดับ 8

ทางด้านมูลค่าการซื้อขายบนอี-คอมเมิร์ซในปี 2560 คาดว่าสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% จากปีก่อนหน้า เมื่อกลับมาดูสถิติการชำระเงินออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงก์กิ้งก็เพิ่มขึ้น ข้อมูลของ ธปท. เดือน มิ.ย. 2560 พบว่าครึ่งปีมียอดธุรกรรมชำระเงินออนไลน์แล้ว 598.1 ล้านรายการ 59% เป็นธุรกรรมโมบายแบงก์กิ้ง 41% เป็นอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

นอกจากนี้ ก็พบว่าผู้ให้บริการต่างประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจอี-มาร์เก็ตเพลสมากขึ้น โดยสถิติเดือนพ.ย. 2560 พบว่าลาซาด้าเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมสูงสุด ตามด้วยขายดี ช้อปปี้ อีเลฟเว่นสตรีท และวีเลิฟช็อปปิ้ง จะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ที่อยู่ในอันดับต้นๆ เกือบทั้งหมดเป็นเว็บไซต์จากต่างประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทำอี-มาร์เก็ตเพลสได้ ก็จะช่วยให้ร้านค้า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กๆ มีทางเลือกพื้นที่วางขายสินค้าและบริการบนออนไลน์เพิ่มขึ้น

หากกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเอสเอ็มอีถึงควรจะเข้าไปใช้ช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลสของธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องตอบว่า ช่องทางใหม่ก็คือโอกาสใหม่ๆ ธุรกิจและโอกาสเป็นของคู่กัน ในเมื่อโอกาสมาแล้ว ทำไมจึงไม่คว้าเอาไว้?

เพราะอี-มาร์เก็ตเพลสที่เป็นของธนาคารพาณิชย์ เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ใหม่ให้เอสเอ็มอีเข้าไปล่าสมบัติกันได้ เป็นพื้นที่ค้าขายที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีขยายธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอง้อเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซต่างชาติอย่างเดียว ถ้าอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับเดิมทีในพื้นที่นั้นมีตลาดใหญ่อยู่แห่งเดียวที่คนไปเดินซื้อของมากๆ เจ้าของตลาดย่อมมีอำนาจต่อรองคิดค่าเช่าได้สูงกับร้านค้า

พอมีตลาดที่กำลังจะเปิดใหม่เพิ่ม ซึ่งตลาดนี้มาพร้อมอาวุธครบมือที่จะช่วยให้การค้าขายสะดวก ร้านค้าก็น่าจะลองไปขายในตลาดนี้ดูเป็นทางเลือก จะได้ไม่ต้องนำสินค้าทั้งหมดไปทุ่มวางไว้ที่ตลาดเดียว แทนที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งสูงๆ จากรายได้ที่ขายสินค้าและบริการได้ในตลาดเดิม ก็อาจจะเสียน้อยลง เพราะพอมีทางเลือกใหม่ๆ มาตลาดเดิมก็อาจจะลดค่าธรรมเนียมให้ หรือถ้าไม่ลดค่าธรรมเนียม แล้วตลาดใหม่ขายดี ค่าธรรมเนียมก็ถูกกว่า อาจจะย้ายตัวเองมาขายที่ตลาดใหม่เลยก็ได้

สำหรับสิ่งที่เป็นประโยชน์สำคัญไปมากกว่าการเพิ่มช่องทางการขายก็คือ ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะได้ประโยชน์เรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น เพราะเมื่อไปใช้ช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลสที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้จัดทำ ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มองเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าธุรกิจของลูกค้ารายนั้นๆ มียอดการซื้อขายหมุนเวียนเป็นอย่างไร มีศักยภาพเติบโตแค่ไหน ในอนาคตก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อไปขยายธุรกิจได้ 

นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจของแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ หากเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยกระโดดเข้ามาค้าขายบนออนไลน์มาก่อน ไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องอย่างไร สามารถบริหารจัดการทุกอย่างจบทั้งกระบวนการผ่านแพลตฟอร์มเดียว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส สามารถแนะนำและประสานงานกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการได้ เช่น บริการด้านการขนส่งสินค้า บริการด้านการจัดการบัญชี ไปจนถึงการช่วยสนับสนุนการทำโปรโมชั่น การให้ความรู้ที่จำเป็น

ขณะที่การชำระเงินซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ก็ถือว่าหมดห่วงไปได้เลย เพราะธนาคารพาณิชย์มีความเชี่ยวชาญในด้านหลังบ้านเรื่องการชำระเงินอยู่แล้ว ถือเป็นประโยชน์สำคัญอีกอย่างที่ช่วยให้เอสเอ็มอีไม่ต้องปวดหัวเรื่องการบริหารจัดการเงิน เนื่องจากเอสเอ็มอีที่จะไปใช้ช่องทางของธนาคารพาณิชย์ค้าขายได้ ก็คงต้องเป็นลูกค้าที่มีบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว

มาถึงบรรทัดนี้แล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังสนใจจะตบเท้าเข้าสู่ช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลสที่ธนาคารพาณิชย์พัฒนา ต้องรู้เพิ่มเติมว่า สินค้าและบริการที่จะนำมาขายบนแพลตฟอร์มนี้ได้จะต้องเป็นสินค้าและบริการถูกกฎหมายเท่านั้น ที่สำคัญก่อนจะได้เริ่มขาย ก็ต้องได้รับไฟเขียวจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการกันก่อน

ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีก็ต้องเน้นเรื่องการขายสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี เพราะช่องทางอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีได้ดีเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน หากสินค้าและบริการที่นำไปขายมีคุณภาพไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน และไม่โดนใจลูกค้า

เอสเอ็มอีหรือผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มทำธุรกิจแบบไม่มีหน้าร้านรายใดสนใจการขายผ่านช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลสของธนาคารพาณิชย์ ขอแนะนำให้ลองติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพราะธนาคารต่างๆ ที่จะทำอี-มาร์เก็ตเพลส ก็คงทยอยเปิดตัวช่องทางของตัวเองออกมา

ถึงจุดนี้แล้วขอบอกสั้นๆ ว่าเตรียมพร้อมแล้วลองดู