posttoday

Top Up ให้ปัง! ตังค์เติบโตทันเกษียณ

24 มกราคม 2561

รู้หรือไม่? การเพิ่มเงินเพียงเล็กน้อยในแต่ละเดือนเติมเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของบริษัทนั้น สามารถช่วยให้คุณมีเงินออมหลังเกษียณมากขึ้นอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

โดย...วารุณี อินวันนา

เป็นพนักงานธรรมดา เงินเดือนอยู่ในระดับธรรมดา และเพิ่งคิดได้ว่าจะต้องออมเงินในวัยเลยผ่าน 40 ขวบปี

กำลังกังวล...ว่าจะมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณไหม

จะมีวิธีไหนที่ใช้เงินออมทีละน้อยๆ ต้นทุนต่ำ ความปลอดภัยสูง ตังค์โตเร็ว...

ที่นี่มีคำตอบ ...โปรดติดตามบรรทัดต่อไป...

ต้องบอกว่าหากวัยเลยผ่านมาถึงวัย 40 ยังสร้างเงินออมทัน  

ยิ่งคนอายุยังน้อย หากใช้วิธีการนี้อิสรภาพทางการเงินจะเอื้อมได้โดยไม่ต้องออกแรงเยอะ

นั่นคือการ Top Up หรือเพิ่มเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

อายุ 40 แล้ว จะซื้อประกันสุขภาพ เบี้ยต้องแพงมากเลย

ไม่แพงอย่างที่คิด หากรู้จักการ Top Up ประกันกลุ่ม

ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการประกันกลุ่ม เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่บริษัทจะมีการจัดหาไว้ให้พนักงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงานทุ่มเทความสามารถในการทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

Top Up กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การ Top Up คือการเติม หรือเพิ่มเงินลงทุนจากการออมภาคบังคับที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันจะทำให้มีเงินต้นในการลงทุนมากขึ้น

พนักงานบริษัทอย่างเราจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างและ ลูกจ้างต้องสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 2-15% เพื่อสร้างสวัสดิการเงินออมสำหรับการเกษียณ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการลงทุนเพิ่ม

เหตุผลที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการออมเพิ่ม เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีการออกแบบระบบการออมสำหรับองค์กรที่คิดค่าธรรมเนียมแบบเหมารวม ไม่ว่าพนักงานจะออมน้อยสุด 2% หรือสูงสุดที่ 15% ต่อเดือน

ในขณะที่การไปลงทุนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะซื้อกองทุนแค่ 1,000 บาท ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่มีการซื้อ

การเสียค่าธรรมเนียมทำให้เงินต้นหายไปบางส่วน หากกองทุนที่เราไปลงทุนบริหารผลตอบแทนได้น้อย เงินต้นเราก็จะเติบโตช้า หรือหากเลวร้ายบริหารผลตอบแทนได้ติดลบ เรียกง่ายๆ ว่าขาดทุน จะทำให้เงินต้นของเราลดลงไปอีก

เปรียบเหมือนรถที่มีน้ำมันเต็มถังย่อมขับไปได้ไกลกว่า รถที่มีน้ำมันไม่เต็มถังยิ่งทำน้ำมันหกกลางทาง (ขาดทุน) อาจทำให้ไปไม่ถึงที่หมาย

ฉะนั้น การ Top Up หรือเพิ่มเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม เหมือนการขับรถขึ้นทางด่วนในช่วงปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วน เพราะรัฐบาลงดเก็บชั่วคราว

เรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ เพราะบริษัทจะมีการเปิดโอกาสให้พนักงานเพิ่มเงินสมทบมากกว่าที่บริษัทสมทบให้ โดยสูงสุดอยู่ที่ 15% ของเงินเดือน แม้ว่าส่วนของนายจ้างจะจ่ายสมทบเพียง 5% หรือ 8%

ยกตัวอย่าง บริษัทดิจิทัลสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน 8% และพนักงานเลือกที่จะออมเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดให้ที่ 15% รวมแล้วจะมีเงินออมเดือนละ 23% ของเงินเดือนทุกๆ เดือน

พนักงานก็แจ้งความประสงค์ด้วยการกรอกแบบฟอร์มที่บริษัทให้มาและระบุเปอร์เซ็นต์ส่งกลับไปที่ฝ่ายบุคคล หลังจากนั้นบริษัทจะดำเนินการหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามความประสงค์

นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วง 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลังของทุกๆ ปี สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้

เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างเงินออมต้นทุนต่ำ ใช้เงินออมครั้งละไม่มาก ความปลอดภัยของเงินลงทุนขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือก

ในปี 2561 นี้ เริ่ม Top Up กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันเลย ไม่งั้น...จะพลาดโอกาสง่ายๆ สบายๆ

Top Up ประกันสุขภาพ

บริษัทส่วนใหญ่จะมีงบประมาณจำกัดในการดูแลชีวิตและสุขภาพของพนักงานจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ แต่ด้วยความที่ทางบริษัทเข้าใจว่าด้วยงบประมาณที่จำกัด อาจทำให้พนักงานไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นอย่างมาก

ด้วยแนวคิดที่อยากช่วยพนักงานให้ได้รับความคุ้มครองด้านค่ารักษาที่สูงขึ้น จึงได้จัดหาบริษัทประกันภัยมาให้บริการ โดยที่พนักงานจะต้องจ่ายเงินซื้อเอง เรียกว่าการ Top Up ประกันสุขภาพ

พลังของการ Top Up ประกันสุขภาพนี้ จะทำให้วงเงินความคุ้มครองสูงมาก โดยที่ใช้เงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า

ยกตัวอย่าง บริษัทดิจิทัลมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพและอุบัติเหตุในกรณีผู้ป่วยใน ในวงเงิน 5 หมื่นบาท ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้สรรหาบริษัทประกันภัยมาให้บริการพนักงานได้ทำการ Top Up ประกันสุขภาพ ในราคา 1,576 บาท/ปี ทุกเพศ ทุกอายุ เมื่อพนักงานตอบตกลงและแจ้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลทราบ

ทางฝ่ายบุคคลจะหักค่าเบี้ยประกันภัยจากบัญชีเงินเดือน เดือนละ 131 บาท จะได้ความคุ้มครองผู้ป่วยในเพิ่มอีก 4.5 แสนบาททันที รวมเป็น 5 แสนบาท โดยบริษัทจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาให้เราในส่วนของ 5 หมื่นบาทแรก และบริษัทประกันภัยจะจ่ายให้ในส่วนที่เกิน 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ 50,001 บาท - 5 แสนบาท เป็นส่วนที่เรา Top Up แต่จะเคลมได้ 80% เมื่อรวมกับสวัสดิการค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคม อาจไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง

หากซื้อประกันสุขภาพด้วยตัวเองโดยตรงจากบริษัทประกันภัย จำนวนเงิน 1,576 บาทนี้ ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองทั้งปีได้ จะต้องใช้เงินอย่างต่ำ 1.35-1.4 หมื่นบาท/ปี ในการซื้อความคุ้มครองผู้ป่วยใน 4 แสนบาท

ข้อดี

1.ในกรณีพนักงานบริษัทดิจิทัล ประหยัดเงินได้กว่า 88% เมื่อเทียบกับการซื้อประกันสุขภาพด้วยตัวเอง และยังได้ความคุ้มครองเพิ่ม จาก 5 หมื่นบาท เป็น 5 แสนบาท

2.ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ต้องนอนในโรงพยาบาลก็สะดวกสบาย เพราะทางฝ่ายบุคคลของบริษัทจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงพยาบาลที่อยู่ในเงื่อนไขสวัสดิการของบริษัทกับทางบริษัทประกันภัย

หากมีค่าใช้จ่ายอะไรที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ก็จะทราบได้ทันทีจากฝ่ายบุคคล หรือจากโรงพยาบาล

3.ขั้นตอนการออกจากโรงพยาบาลก็เร็ว ทางโรงพยาบาลจะแจ้งค่าใช้จ่าย และหากมีส่วนต้องจ่ายเพิ่มก็ไปชำระเงินที่การเงิน หากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงเซ็นในเอกสารที่โรงพยาบาลนำมาให้ ก็ออกจากโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกภายหลัง
ข้อเสีย

ไม่สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพในส่วนที่ Top Up ไปลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากเป็นประกันกลุ่ม และเบี้ยประกันคิดในราคาเหมาที่ต่ำมากๆ

Top Up เงินบำนาญภาคสมัครใจ

พนักงานอย่างเราจะมีเงินบำนาญจาก 3 ส่วน คือ 1.ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะได้รับทั้งก้อนเมื่อลาออกจากงาน จาก 3 ส่วน คือ เงินสมทบจากนายจ้าง เงินสมทบของพนักงานเอง และผลประโยชน์จากการนำเงินสมทบไปลงทุน

2.ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ที่จะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี และต้องลาออกจากงาน ซึ่งขั้นต่ำต้องส่งเงินเข้ากองทุนชราภาพอย่างน้อย 15 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญ 20% ของเงินเดือน โดยกำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดไว้ที่ 1.5 หมื่นบาท

3.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับอายุ

ในกรณีบริษัทไม่มีส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้รองรับ ก็จะเหลือแหล่งเงินบำนาญภาคบังคับจาก 2 ส่วน คือ กองทุนประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

หากคำนวณแล้วคิดว่ามีเงินไม่พอกับจำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อเดือนหลังออกจากงานไปจนถึงอายุ 85 ปี ก็มีทางเลือกให้สร้างเงินบำนาญเองได้ เรียกว่าบำนาญภาคสมัครใจ ด้วยการซื้อประกันชีวิตที่มีการค้ำประกันเงินต้น และเงินคืนที่แน่นอน ไปจนถึงการออมในพันธบัตร สลากออมสิน ของธนาคารต่างๆ ที่รับประกันเงินต้น และผลตอบแทนที่แน่นอน

รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในตราสารหนี้ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หุ้นสามัญ เพื่อเติมเงินบำนาญให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

เริ่มกันได้ทันที ด้วยการนำเงินคืนภาษีที่จะได้จากการลดหย่อนในปีนี้ไป Top Up เงินบำนาญภาคสมัครใจ ง่ายๆ สบายๆ