posttoday

ธนาคารจะทำธุรกิจ e-Commerce ไหวหรือไม่?

23 มกราคม 2561

6ข้อ น่าคิด ธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกิจ e-Commerce ไหวหรือไม่

โดย...แซม ตันสกุล

เรื่องร้อนแรงล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในเครือสามารถให้บริการ e-Marketplace Platform ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2561 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการธนาคารมาก เพราะในย่านนี้มีเพียงประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ธนาคารสามารถทำธุรกิจนี้ได้เมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับธนาคารในประเทศไทยไม่สามารถทำธุรกิจที่นอกเหนือจากที่เราเห็นได้ ซึ่งการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคารในบ้านเราจะเป็นการรับฝากเงิน สินเชื่อ หรือบริการให้คำปรึกษาเรื่องเงินๆ ทองๆ

โดยเหตุผลหลักที่ผมเคยมีโอกาสได้ไปคุยกับแบงก์ชาติ ก็เพราะว่าธนาคารนั้นมีเงินทุนที่เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นการระดมเงินฝากจากประชาชน และถ้าเปิดไฟเขียวให้ไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถที่จะซื้อกิจการและทำตัวเป็น Monopoly จนอาจทำให้ประชาชนต้องเสียเปรียบ ดังนั้นที่ผ่านมาก็จะไม่เคยเห็นธนาคารทำอะไรที่มากกว่าเรื่องเงิน

จนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นกิจการ e-Commerce จากต่างประเทศมาเจาะตลาดเมืองไทย อาทิ Alibaba ที่มาซื้อกิจการ Lazada ที่ถือเป็น e-Commerce ที่มียอดขายสูงสุดของเมืองไทย หรือ 11street จากประเทศเกาหลีที่มาเขย่าตลาด แบบลด แลก แจก แถม จนขึ้นรั้งเป็นอันดับ 2 ในเวลาอันรวดเร็ว หรือจะเป็น JD.com จากประเทศจีนอีกเช่นกันที่ได้ร่วมกับกลุ่ม Central ด้วยทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดตัวในปีนี้

คำถามว่าเมื่อมี e-Commerce ตัวแม่ๆ เหล่านี้มาในเมืองไทย แล้วธนาคารในประเทศไทยจะกลัวอะไร

คำตอบก็คือ มีตัวอย่างที่ชัดๆ ในประเทศจีน ที่ผมเคยกล่าวไว้ในฉบับที่แล้วว่า พฤติกรรมการใช้เงินของคนไทยมีความคล้ายกับคนจีนเป็นอย่างมาก

ดังนั้นก็ต้องไปดูพัฒนาการของ e-Commerce ของเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ JD.com ซึ่งในช่วงแรกของการเริ่มกิจการเป็นการซื้อขายปกติทางออนไลน์จนมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก ก็จะเริ่มมีการทำธุรกิจ e-Wallet เพิ่ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมที่จะจ่ายให้ธนาคาร (Alipay เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่ให้ดอกเบี้ยพิเศษมากกว่าธนาคารทั่วไปถึง 2 เท่า)

และหลังจากที่ได้ข้อมูลจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจนมหาศาลแล้ว ก็สามารถปล่อยกู้ได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งยังปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคาร และกล้าที่จะปล่อยมากกว่า เนื่องจากมีข้อมูลที่มากกว่า ซึ่งผู้อ่านก็คงจินตนาการตามผมได้ว่า e-Commerce ที่ประเทศจีนก็ไม่ต่างจากธนาคารเท่าไหร่แล้ว และดูเหมือนจะดีกว่าด้วยซ้ำไป

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์มาเป็นแบบนี้แล้ว Alibaba มาเมืองไทยในคราบ Lazada และ JD.com มารวมร่างกับ Central ซึ่งถือเป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์อย่างมาก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยต้องเริ่มคิดแล้วว่า หากปล่อยไปแบบนี้ไม่เกิน 2 ปี สถานการณ์คงจะไม่ต่างจากประเทศจีนเป็นแน่แท้ จึงได้ไปคุยกับแบงก์ชาติเพื่อขอให้อนุมัติในการทำธุรกิจ e-Commerce ซึ่งก็บอกว่าแบงก์ชาติในยุคนี้เข้าใจและปรับตัวได้เร็วมาก

คำถามถัดไปก็คือ แล้วธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกิจ e-Commerce ไหวหรือไม่ ต้องมาพิจารณาเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

1.ระบบ Platform เรื่องนี้คงไม่น่าห่วงถ้าธนาคารจะทำเอง หรือ Outsource ให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ธนาคารเองก็มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้พอสมควร

2.ระบบขนส่ง Logistic แน่นอนว่าคงมีบริษัทโลจิสติกส์ชื่อดังและ Startup คงรีบเข้ามาจีบธนาคารให้บริการในส่วนนี้แน่นอน

3.ระบบการจ่าย Payment เรื่องนี้ก็เป็นงานถนัดของธนาคารอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแทบไม่มีต้นทุนอะไร เพราะผู้ซื้อก็เป็นลูกค้าที่ใช้บริการของธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว

4.โปรโมชั่นในการแย่งส่วนแบ่งการตลาด ต้องขอบอกว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความกล้าของธนาคาร เพราะข้อมูลจากทั้ง Lazada และ 11street ในปี 2017 น่าจะขาดทุนรวมกันเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนมากคือคูปองส่วนลด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการมากที่สุด ซึ่งถ้าธนาคารจะต้องการให้ลูกค้ามาใช้มากๆ ก็ต้องกล้าที่จะมีหมัดสวน จัดโปรเด็ดๆ ออกมา

5.ฐานลูกค้า เรื่องนี้แบงก์ใหญ่จะได้มีโอกาสและความได้เปรียบ โดยเฉพาะแบงก์ที่มีกลุ่มลูกค้า SME จำนวนมากเช่นกัน แต่จริงๆ แล้วการที่จะทำให้ร้านค้าเหล่านี้มาขายอยู่บนแพลตฟอร์มของธนาคารเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ข้อมูลแบบสม่ำเสมอก็ต้องย้อนกลับไปข้อที่ 4 ว่ากล้าที่จะลงทุนค่าการตลาดมากน้อยเพียงใด

6.ระบบการปล่อยกู้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องถนัดของธนาคาร แต่จะปล่อยกู้ได้ดีก็ต้องมีลูกค้าที่มาใช้อย่างสม่ำเสมอ

โดยรวมก็จะเห็นได้ว่าธนาคารจำเป็นต้องดีดลูกคิดคำนวณให้ดีว่า จะต้องใช้เงินลงทุนค่าการตลาดเท่าไร เพื่อที่จะได้ฐานลูกค้าและได้ปล่อยกู้ได้ต่อไป ซึ่งถ้าธนาคารต้องมีตัวเลขกำไรสูงๆ เพื่อโชว์ผู้ถือหุ้นอาจจะลำบากมากทีเดียว

โดยตอนนี้ถ้าธนาคารสนใจจะทำจริงๆ มี 3 โมเดลด้วยกัน คือ

1.ลงทุนทำเองทั้งหมด เหมือนที่ KBank ทำอยู่ในตอนนี้ หรือ Krungsri Auto Market ที่ให้ลูกค้าประกาศขายรถ

2.ร่วมกับ e-Commerce จากต่างประเทศ ซึ่งไม่แน่ใจว่าสนใจจะทำเองหรือไม่

3.ร่วมกับ e-Commerce จากประเทศไทย อย่าง tarad.com ที่เพิ่งประกาศว่าพร้อมร่วมทำงานกับธนาคาร

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะโมเดลไหน หากเกิดขึ้นจริง ผลประโยชน์ทั้งหมดก็อยู่ที่ผู้บริโภคอย่างพวกเราครับ

สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามข่าวสารและความรู้ฟินเทค สามารถกด Follow ได้ที่เฟซบุ๊ก Krungsri Finnovate ครับ รับรองสนุกแบบมีสาระแน่นอนครับ