posttoday

ทางรอด+รุ่ง ฟินเทคน้องใหม่

17 มกราคม 2561

เป้าหมายของคนที่มีแนวคิดใหม่ๆ และคนรุ่นใหม่ พุ่งไปที่ถนนสายสตาร์ทอัพ ที่นำเทคโนโลยีมาเป็นสะพานการนำสินค้าและบริการส่งตรงถึงมือผู้บริโภค

โดย...วารุณี อินวันนา

วันนี้เห็นผลการสำรวจจากหลายๆ สำนัก ระบุว่า คนรุ่นใหม่ต้องการที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ที่จะทำงานที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เป้าหมายของคนที่มีแนวคิดใหม่ๆ และคนรุ่นใหม่ พุ่งไปที่ถนนสายสตาร์ทอัพ ที่นำเทคโนโลยีมาเป็นสะพานการนำสินค้าและบริการส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะสายฟินเทคที่กำลังมาแรง แต่ใช่ว่าทุกคนจะไปถึงฝั่งฝัน

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ หนึ่งในสตาร์ทอัพสายฟินเทครุ่นแรกๆ ของประเทศไทย ที่เดินบนถนนสายนี้มากว่า 10 ปี และยังคงผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องแบบมีกำไรและรุ่งด้วย โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท T2P ผู้ให้บริการด้านฟินเทคและโซลูชั่น การชำระเงินแก่ธุรกิจออนไลน์ และธุรกิจ ค้าปลีกต่างๆ และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท โฟคอล อินเทลลิเจนซ์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับองค์กร นับว่าเป็นรุ่นพี่ในสายฟินเทคคนหนึ่ง

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ฟินเทคคือตัวจี๊ดในสายตาสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ มองเราเป็นตัวป่วน เพราะเราสามารถใช้เทคโนโลยีออกแบบเครื่องมือให้บริการที่มีราคาถูกบนมือถือได้

ในขณะที่สถาบันการเงินเข้าไม่ถึง เพราะการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูง จึงมุ่งไปให้บริการกับผู้มีอำนาจจ่ายสูง และมองผ่านคนเล็กๆ (รายย่อย) ซึ่งเป็นฐานคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แม้จะเข้าถึงสถาบันการเงินได้ถึง 70% ของประชากรทั้งหมด แต่เข้าถึงบริการทางการเงินต่ำ เช่น จำนวนผู้มีบัตรเครดิตแค่ 30% เท่านั้น ทั้งๆ ที่คนเล็กๆ มีรายได้ประจำสูง แต่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เพราะเครื่องมือทางการเงินมีน้อย

“ตลาดแบบนี้แหละที่เหมาะกับการดิสรัพมาก หรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจของคนทำธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะสามารถออกบริการราคาถูกเข้าไปในมือถือได้ ซึ่งวันนี้คนไทยเรามีโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยคนละ 1.4 เครื่อง/คน จึงง่ายที่จะเข้าถึงคนเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ทำให้สถาบันการเงินเรียกเราว่าพวกตัวจี๊ด”ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิ แนะนำน้องใหม่ที่สนใจเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพสายฟินเทคในโครงการ อลิอันซ์ อยุธยา แอคทิเวเตอร์ ว่า การที่จะอยู่รอดแบบมีกำไรและมีโอกาสรุ่งด้วย จะต้องมีคุณสมบัติ

1.การผสมข้ามดอท หรือการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ จะได้ไอเดียที่ดีมาก หมายถึงว่าต้องไปเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจแนวใหม่จากธุรกิจอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะธุรกิจสถาบันการเงิน แบงก์ ประกันเท่านั้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง หากมีความแตกต่างจะทำให้คู่แข่งตามได้ยาก จะทำให้สามารถอยู่รอดได้ และเป็นการรอดที่มีกำไร มีโอกาสเติบโตหรือรุ่งด้วย ฟินเทครายใหญ่มาก็ไม่กลัว

2.มีโมเดล หรือรูปแบบการให้บริการที่แตกต่าง อย่างบริษัทผมให้บริการอี-วอลเล็ต ถ้าเป็นวอลเล็ตธรรมดาที่รับเติมเงินเข้ามา และใช้เงินอย่างเดียว ผมก็กลัวรายใหญ่ แต่วิธีของผมคือ เข้าไปเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ของผู้ให้บริการรายใหญ่ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล บิ๊กซี ซัมซุง ทำให้สามารถเติบโตไปตามกลุ่มผู้ใช้บริการเหล่านี้ หากฟินเทคกลุ่มที่ให้บริการชำระเงิน หรือเพย์เมนต์เข้ามาก็ไม่กลัว

 

ทางรอด+รุ่ง ฟินเทคน้องใหม่ ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์

สำหรับฟินเทคในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งน้องใหม่ๆ ก็ต้องดูว่าตัวเองถนัดด้านไหน หรือสนใจจะเข้าสู่วงการในกลุ่มไหน แต่ที่มีขนาดใหญ่และมีเม็ดเงินไหลเวียนมากที่สุด หรือวอลุ่มใหญ่ที่สุดในโลกคือ กลุ่มการให้กู้และการชำระเงิน

1.ทำตัวเหมือนแพลตฟอร์ม เช่น การชำระเงิน/โอนเงิน หรือ Payments/Transfers  หรือเป็นคนกลางในการปล่อยกู้ระหว่างผู้ต้องการกู้กับคนที่มีเงินและต้องการปล่อยกู้โดยตรง  และระดมทุน (P2P หรือ Lending) ถ้าเป็นคนกลางในการระดมทุน ก็เป็นคนกลางให้บริษัทที่ต้องการหาคนมาซื้อหุ้นบริษัทกับนักลงทุนที่อยากซื้อหุ้น ซึ่งข้อดีของการเป็นแพลตฟอร์มคือ ยิ่งมีขนาดธุรกิจใหญ่ ยิ่งหนีรายใหม่ได้ง่ายขึ้น สามารถถีบตัวเองไปได้เรื่อย

2.กลุ่มเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่ค่อยเห็นในประเทศไทย เช่น พวกนำบล็อกเชนมาพัฒนาการให้บริการ ที่จะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดมากหนีคู่แข่งไปได้ไกลทุกครั้งที่ทำอะไรใหม่ขึ้นมา

3.กลุ่มที่สามารถขยายได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เช่น กลุ่มที่พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่สามารถทำงานบนฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่แล้ว 

4.การนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างรายได้ อาจจะยอมลงทุนเพื่อขยายขนาดธุรกิจ เช่น การเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดเครดิตเรตติ้ง

“ผมได้เจอกับบริษัทที่ปล่อยกู้ เมื่อลูกค้าเข้าไปในเว็บไซต์ บริษัทจะส่งลูกค้ารายนั้นไปยังบริษัทสตาร์ทอัพที่จัดเครดิต ซึ่งจะขอล็อกอิน พาสเวิร์ด เฟซบุ๊ก ไลน์ วอตส์แอพ จะได้เข้าไปดูพฤติกรรมคนขอกู้ และทำการประเมินความเสี่ยง จากนั้นส่งต่อไปให้บริษัทผู้ปล่อยกู้ ซึ่งมีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ประมาณ 50 ล้านคน ที่ยอมให้สตาร์ทอัพรายนี้เข้าไปดูข้อมูลส่วนตัว”ณัฐวุฒิ กล่าว

5.บริการที่เกาะไปกับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะเข้าไปทำลำพังยาก เช่น ผู้ให้บริการหัวอ่านบัตรเครดิตที่เป็นแบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรม ไม่สามารถที่จะขยายธุรกิจลำพังได้ ก็ไปร่วมพัฒนากับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เป็นร้านค้าต่างๆ ก็เกาะไปกับธุรกิจธนาคาร

6.การให้บริการผ่านเอไอ  ซึ่งบริษัทผมพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นการให้บริการอี-วอลเล็ต ชื่อ ดีพพอคเก็ต ที่ให้คนโอนเงินให้แก่กันได้ยามฉุกเฉิน และทวงคืนได้ จะทำให้ทราบว่าใครคืนเงินเร็วหรือช้า และเก็บเป็นสถิติ เพื่อประเมินเครดิตในการปล่อยกู้

“เอไอจะเข้าไปเรียนรู้พฤติกรรมว่าคนแบบนี้คืนเงินเร็วหรือช้า และพยายามสร้างรูปแบบในการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง การเกิดรายการกู้ ปล่อยกู้ และคืนเงินกู้ เป็นล้านล้านครั้งต่อวัน มันก็จะเรียนรู้เป็นล้านล้านกรณี เป็นความท้าทายมาก”ณัฐวุฒิ กล่าว