posttoday

บริหารอั่งเปา แล้วเราจะรวยยาว

15 มกราคม 2561

ถ้าเริ่มเก็บเงินอั่งเปาที่ได้มาตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งโต โดยไม่ใช้เงินก้อนนี้เลย อนาคตก็อาจจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่มากขนาดที่คนได้รับอาจจะคาดไม่ถึง

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เข้าสู่ช่วงตรุษจีนกันแล้ว ซึ่งโดยปกติคนไทยเชื้อสายจีนก็จะมีการแจกอั่งเปาให้กับลูกหลาน หรือแม้แต่บริษัทห้างร้านที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็นิยมแจกอั่งเปาให้กับลูกน้องเป็นของขวัญต้อนรับวันดีๆ

ลองคิดดูว่า ถ้าเริ่มเก็บเงินอั่งเปาที่ได้มาตั้งแต่ยังเด็กจนกระทั่งโต โดยไม่ใช้เงินก้อนนี้เลย อนาคตก็อาจจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่มากขนาดที่คนได้รับอาจจะคาดไม่ถึง แต่หากนำเงินอั่งเปามาใช้แล้วก็หมดไปทุกปี เราก็จะรู้สึกอู้ฟู่เพราะมีเงินอั่งเปามาช่วยให้ช็อปปิ้งสนุกมือขึ้นเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น

วันนี้เราจึงขอนำเสนอแนวทางดีๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้กำลังจะรวยนับเงินในซองอั่งเปาที่กองอยู่ตรงหน้ากันไม่หวาดไม่ไหว ให้สามารถบริหารอั่งเปาที่อยู่ตรงหน้าได้คุ้มค่ามากที่สุด

อย่ามองอั่งเปาเป็นเงินลอยเข้ากระเป๋า

พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า เวลาเราได้เงินไม่ว่าจะจากแหล่งใดก็ตาม ทั้งการทำงาน ถูกลอตเตอรี่ หรือได้อั่งเปา เงินพิเศษตามเทศกาล ก็ควรรู้จักจัดสรรไปใช้ในเรื่องต่างๆ ไม่ควรใช้เพื่อวัตถุประสงค์เดียว

“คนมักจะมองเงินที่ไม่ได้มาจากการทำงานเหมือนไม่ใช่เงินของตัวเอง มองเป็นเงินที่ลอยมา จึงใช้อย่างไม่ระวัง ทั้งที่จริงไม่ว่าเงินนั้นจะมาจากไหน ค่าของมันก็เท่ากัน ถ้าเราใช้หมดก็เสียโอกาสในการลงทุนและออม” พรอนงค์ เตือนสติไว้

ทั้งนี้ เมื่อได้อั่งเปามาแล้ว อยากให้เริ่มคิดก่อนว่า ถ้าไม่จำเป็นจะต้องนำไปใช้ก็อย่าไปเร่งใช้โดยคิดว่าไม่มีต้นทุน หลายครั้งคนได้อั่งเปามาก็จะนำไปซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่จำเป็นต้องซื้อเป็นสิ่งของนอกเหนือจากความจำเป็น ที่ตัดสินใจซื้อไปอย่างไม่รอบคอบ ซึ่งจริงๆ แล้วนานๆ อาจจะใช้แค่ครั้งหนึ่ง เพราะหากเป็นของจำเป็นจริงก็คงไม่รอจนได้อั่งเปาแล้วจึงซื้อ

ทางที่ดีลองแบ่งอั่งเปาใช้แค่ส่วนเดียว 20% หรือ 50% แล้วที่เหลือก็ไว้เก็บออม มองให้เงินก้อนนี้เป็นเหมือนเงินก้อนที่มาช่วยแบ่งเบาภาระของเราในด้านการออม เพื่อไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น

เก็บอั่งเปาแล้วค่อยรอใช้ดอกผล

แววตา ปราชญ์เมธีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเนี่ยน เวลธ์ คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อคิดดีๆ ว่า เมื่อเด็กๆ หรือคนหนุ่มสาวได้รับอั่งเปามาแล้ว อยากให้เริ่มต้นจากการคิดว่า เราจะใช้เงินอั่งเอาที่ได้วันนี้ หรือจะเก็บไว้เพื่อใช้ในอนาคต

ถ้าเราเลือกคำตอบแรกคือใช้วันนี้ เราก็นำเงินไปซื้อและได้สิ่งของที่เราต้องการใช้ทันทีเลย แต่หากเลือกคำตอบหลัง เราก็สามารถจะนำเงินอั่งเปาก้อนนี้ไปลงทุน แล้วรอให้ผลตอบแทนของการลงทุนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจึงค่อยนำผลตอบแทนจากการลงทุนมาซื้อสิ่งของที่ต้องการ โดยที่เงินอั่งเปาซึ่งเป็นเงินต้นก็ยังอยู่ครบทุกบาททุกสตางค์

แววตา แนะนำเพิ่มอีกว่า การลงทุนแบ่งได้เป็น 3 มิติ คือ การลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ก่อนอื่นก็ต้องนำเงินอั่งเปามาแบ่งตามมิติที่ว่ามาก่อน จากนั้นจึงจะไปสู่กระบวนการเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับแผนการลงทุน

ใครที่คิดว่า อยากลงทุนแค่ระยะสั้นๆ ก็อาจจะลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในมันนี่ มาร์เก็ต ซึ่งประกอบไปด้วยเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน และตั๋วเงินคลัง หากต้องการนำไปลงทุนระยะกลาง 2-3 ปี เพื่อนำมาใช้ก็ไปลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรที่ได้ผลตอบแทน 3%

กรณีที่อดใจรอไหวนำเงินอั่งเปาไปลงทุนระยะยาวได้ ก็อยากแนะนำให้นำเงินไปซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไปเลย แต่ในที่นี้คงไม่ได้แนะนำให้นำเงินไปซื้อหุ้น เพราะอาจจะยากเกินไปสำหรับคนที่ยังไม่เคยลงทุน การเริ่มต้นลงทุนจากกองทุนรวมน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

แววตา กล่าวว่า อั่งเปาก็เหมือนกับการได้โบนัส ได้รางวัลชีวิต อาจไม่ถึงขั้นต้องเก็บหมดทุกบาททุกสตางค์ แต่เลือกเก็บบ้างและใช้บ้างก็ได้

เช่น หากบางปีมีความจำเป็นต้องซื้อของมูลค่าสูง ก็อาจจะอดใจรอนำเงินอั่งเปามาสมทบเป็นเงินก้อนใหญ่ เพื่อซื้อเงินสดแทนที่จะซื้อไปก่อนเป็นเงินผ่อน หรือปีไหนหากไม่มีความต้องการสิ่งของอะไรในชีวิต ไม่จำเป็นต้องใช้อั่งเปา ปีนั้นก็ใช้โอกาสทำให้เงินพอกพูน

ให้อั่งเปาเป็นเครื่องมือหัดออม

ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย เสนอว่า หากผู้ปกครองให้อั่งเปาบุตรหลานไปแล้ว ก็ใช้อั่งเปาเป็นเครื่องมือหัดออมเลยได้

สมมติว่าคนที่รับอั่งเปายังเด็กมากๆ พ่อแม่ก็อาจจะรับอาสาเข้าช่วยบริหารอั่งเปานี้ให้ แต่ถ้าเป็นเด็กที่อยู่ในวัยดูแลเงินตัวเองได้แล้ว ก็ต้องเริ่มปล่อยให้เด็กบริหารจัดการอั่งเปาที่ได้ว่าจะนำไปใช้อย่างไรบ้าง โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ

“อยากให้เด็กรุ่นใหม่หัดออมด้วยอั่งเปา เมื่อเป็นเด็กไม่เคยลงทุนมาก่อน จึงควรเริ่มต้นการลงทุนผ่านกองทุนรวมก่อน เพื่อเปิดทางให้ได้หัดเรียนรู้การจัดการเงิน จะลงทุนกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นก็ไม่ผิด เพราะยังวัยเด็กอยู่จึงมีเวลากลับตัวได้อีก ที่สำคัญยิ่งอายุยังไม่มากยิ่งควรลงทุนในตราสารทุนมากกว่าตราสารหนี้แม้เวลานี้ตราสารทุนจะดูเหมือนราคาแพงเกินไป แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจุดสูงสุดอยู่ตรงไหน ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเติบโตต่อ” ชวินดา กล่าว

นอกจากนำอั่งเปาไปลงทุนกองทุนรวมหุ้นก้อนใหญ่ทีเดียวแล้ว อีกวิธีก็สามารถแบ่งเงินอั่งเปาค่อยๆ ลงทุนทุกเดือนก็ได้ โดยนำเงินอั่งเปาไปลงทุนในมันนี่ มาร์เก็ต ก่อน แล้วค่อยทยอยแบ่งเงินออกมาลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือลงทุนในหุ้นเองเลย ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะได้ลงทุนครบทั้งก้อนตามต้องการเช่นกัน

สำหรับพ่อแม่คนไหนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน การลงทุนก็สามารถให้คำแนะนำการจัดสรรอั่งเปาไปลงทุนเองได้ แต่หากพ่อแม่คนไหนไม่เข้าใจ ก็ขอแนะนำว่าให้ไปถามเจ้าหน้าที่ธนาคารที่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนได้ เป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงคำตอบได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ก็เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะขอรับคำแนะนำจาก บลจ.โดยตรงก็ได้เช่นกัน หรือจะเข้าไปศึกษาในสังคมออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีผู้รู้ทางการเงินการลงทุน นำเสนอข้อมูลการลงทุนที่น่าสนใจในแบบเข้าใจง่ายเอาไว้ก็ได้

ยังไงก็ขอให้ปีนี้ อั่งเปา ตั่วตั่ว ไก๊ (ได้อั่งเปาเยอะๆ) แล้วเราก็มาเก็บอั่งเปาเพื่อความมั่งคั่งในระยะยาวกันเถอะ