posttoday

ศัตรูของความมั่งคั่ง ตอนที่2

11 ตุลาคม 2560

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

ความเดิมตอนที่แล้วเราได้พูดถึงความสำคัญของค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของการลงทุนระยะยาว ตัวอย่างที่ให้ไว้แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เปิดทำการ 42 ปี ของคนสองคนจะแตกต่างกันได้เกือบเท่าตัว ถ้าคนหนึ่งถูกคิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าอีกคนเพียง 1% ต่อปี เราจึงไม่ควรมองข้ามศัตรูของความมั่งคั่งนี้ ซึ่งปรากฏตัวอยู่ในหน้าหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนเด็ดขาด

แต่ศัตรูของความมั่งคั่งนั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว วันนี้เราจะมาพูดถึงศัตรูตัวฉกาจอีกตัวซึ่งมีเพียงคนหยิบมือเดียวที่รู้จักความร้ายกาจของมัน คือ การกระจุกตัวของความเสี่ยงในการลงทุน มันจะนำมาซึ่งความผันผวนที่สูงกว่าการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงที่ดี

สมมติเราลงทุน 100 บาท ด้วยสองวิธีต่างกัน วิธีแรกสร้างผลตอบแทนให้การลงทุนแบบผันผวน ให้อัตราผลตอบแทน 20% และลบ 12% สลับกันทุกปี วิธีที่สองจะสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนแบบไม่ผันผวน ให้อัตราผลตอบแทนคงที่บวก 4% เหมือนกันทุกปี ดูผิวเผินเหมือนสองวิธีจะให้ผลตอบแทน 8% ทุกๆ สองปีเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมูลค่าการลงทุนของทั้งคู่จะแตกต่างกันชัดเจนในระยะยาว

เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี เราจะพบว่าการลงทุนแบบผันผวนตามวิธีแรกจะมีมูลค่าการลงทุน 226 บาท ขณะที่การลงทุนแบบไม่ผันผวนตามวิธีที่สองจะมีมูลค่าการลงทุน 324 บาท แตกต่างกันถึง 43% (ดูตารางที่ 1)

ที่เป็นแบบนี้ เพราะว่าความผันผวนของการลงทุนนั้นจะทำลายมูลค่าการทบต้นของเงินลงทุนไป สมมติเราลงทุนเจ๊งติดลบ 50% ในปีแรก หากต้องการทำให้มูลค่าการลงทุนกลับไปเท่าเดิมได้ เราต้องมีอัตราผลตอบแทนปีที่สองถึง 100% ถึงจะกลับไปเป็นเท่าเดิม เนื่องจากฐานมูลค่าเงินลงทุนหลังขาดทุนปีแรกจะลดลงมาก ทำให้ผลตอบแทนปีที่สองต้องดีขึ้นสองเท่าเพราะต้องสร้างผลตอบแทนจากฐานเงินที่ต่ำลงมาก

การลงทุนให้กระจายความเสี่ยงมีหลายรูปแบบ วันนี้จะหยิบกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากแต่นักลงทุนส่วนใหญ่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องนักมาเล่าสู่กันฟัง

ข้อแนะนำ คือ การกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน ช่วยกระจายความเสี่ยง และได้รับประโยชน์จากค่าเงินในเวลาที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่าง จากวิกฤตต้มยำกุ้ง (ก.พ. 2539-ก.ย. 2541) ที่ SET Index ติดลบ 60.18% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า 22.43% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือจะเป็นช่วงเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของไทยเดือน พ.ค. 2556-ม.ค. 2557 ที่ SET Index ติดลบถึง 19.06% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 12.83%

เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเงินในไทย มูลค่าทรัพย์สินต่างประเทศจะเพิ่มค่าขึ้นมากเมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาท กลยุทธ์ขายทำกำไรเงินลงทุนต่างประเทศในจังหวะดังกล่าวเพื่อหาโอกาสเข้าซื้อหุ้นไทยที่ราคาลงมากจะสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว ดังนั้นกลยุทธ์ที่เปิดความเสี่ยงจากเงินตราต่างประเทศเป็นการช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยใน SET Index กับการลงทุนแบบกระจายตัวไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกผ่าน MSCI All Country Index เมื่อแปลงค่าเงินเป็นเงินบาทแล้ว จะพบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของดัชนีสองตัวนี้ในอดีต 42 ปีที่ผ่านมาจะใกล้เคียงกันที่ 9% แต่ค่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทยสูงกว่าการกระจายในหุ้นทั่วโลกเกือบเท่าตัว (ดูตารางที่ 2)

ตัวเลขนี้ไม่ได้แสดงว่าตลาดหุ้นไทยด้อยกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศในแง่การลงทุน แต่เพราะตลาดทุนไทยมีมูลค่าตลาดรวมกันแค่ 24 ล้านล้านบาท ไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดทุนทั่วโลกที่มีขนาดรวม 4,074 ล้านล้านบาท ทำให้ลำพังหุ้นไทยไม่สามารถกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

โชคดีที่ปัจจุบันเรามีกองทุน FIF ที่ไปลงทุนตราสารในต่างประเทศหลากหลายและลงทุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่ดีมากวิธีหนึ่ง ขอเพียงอย่าลืมศึกษาวิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และต้องให้ความสำคัญอันดับแรกเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมที่กองทุนคิดเพราะสิ่งนี้ยังเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของการสะสมความมั่งคั่งอยู่ครับ &O5532;