posttoday

อนาคตไม่ฉุกเฉิน ถ้าเตรียมเก็บเงินตั้งแต่วันนี้

28 กันยายน 2560

เงินฉุกเฉิน ต้องมีเท่าไรถึงจะพอ

 

เงินอีกหนึ่งก้อนที่แสดงถึงความพร้อม และความมั่นคงในการใช้ชีวิตที่เราทุกคนควรจะเตรียมตัว และเตรียมพร้อมให้เร็ว (ที่สุด) คือ เงินสำรองฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุร้ายแรง ตกงาน หรืออะไรก็ตามที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้นมา เราจะสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านั้นและมีเงินไว้ใช้จ่ายยามวิกฤตได้

เงินฉุกเฉิน ต้องมีเท่าไรถึงจะพอ

ถ้าไม่มี โอกาสสร้างหนี้ก็คือสถานการณ์กดดันตามมาทันใด ตั้งแต่บากหน้าไปหยิบยืมญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ คนรอบข้าง ไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณใคร ก็เลือกเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดดอกเบี้ย 18-24% ต่อปีเข้าไป แต่ร้ายแรงกว่านั้นถ้าเป็นคนพื้นฐานการเงินไม่ดีอยู่แล้ว เลือกเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยโหดหินต่อเดือน 30% สำหรับค่ารักษาคนที่เรารักนอนคางเหลืองอยู่โรงพยาบาล ไม่สู้ก็ต้องสู้! เป็นลูกหนี้นอกระบบจนได้

ที่ว่า ฉุกเฉิน ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เหตุฉุกเฉินไม่ปกติ เช่น กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น ความไม่สงบทางการเมือง หรือภัยสงคราม ซึ่งต้องเป็นเงินก้อนหนึ่งสำหรับใช้สอย จนกว่าสถานการณ์นั้นๆ คลี่คลาย

กรณีที่ 2 เหตุฉุกเฉินปกติ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การต้องซ่อมบำรุงอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้ใหญ่เมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย เช่น การซ่อมรถยนต์หรือชดเชยความเสียหายจากอุบัติเหตุ การซ่อมบ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น

เงินฉุกเฉิน ถือเป็นเงินออมส่วนหนึ่ง ที่เรากันไว้สำหรับการใช้จ่าย กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด กรณีเหตุฉุกเฉินที่ไม่ปกติ ก็คงจำเป็นต้องมีเงินสดจำนวนหนึ่งเพื่อการใช้สอย ซึ่งจะมากน้อย ขึ้นอยู่กับว่าภาวะฉุกเฉินนั้นจะรุนแรงยืดเยื้อนานแค่ไหน ส่วนเงินฉุกเฉินปกติก็ควรกันเอาไว้ส่วนหนึ่ง

การเก็บเงินไว้เผื่อฉุกเฉินนั้น จำนวนขั้นต่ำที่ควรเก็บไว้ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน เช่น หากในแล่ละเดือน มีค่าใช้จ่าย 8,000 บาท ควรกันเงินในส่วนนี้ไว้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นบาท

มนุษย์เงินเดือนได้เปรียบอยู่แล้วเรื่องบริหารเงินก้อนนี้ มีรายได้ที่แน่นอน รู้ว่าเงินเดือนออกทุกวันที่เท่าไร ทำให้สามารถจัดระบบการออมเงินและระบบรายจ่ายได้ การเก็บเงินออมสำรองฉุกเฉิน มีหลักง่ายๆ คือ

ตัวอย่าง ปกติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 70% ของรายได้ หากเรามีเงินเดือน 5 หมื่นบาท แสดงว่าเรามีค่าใช้จ่าย รายเดือน 3.5 หมื่นบาท เราควรมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 1.05-2.1 แสนบาท สำหรับสถานการณ์ตกงานกะทันหัน เงินออมสำรองฉุกเฉินก่อนนี้ก็มาใช้จ่ายในช่วงรองานใหม่ได้อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป

เงินฉุกเฉิน ต้องถอนมาใช้ง่าย

แนะนำว่า “ฉุกเฉิน” แบบถอนเงินแล้วควรจะได้เงินเลยภายในวันนี้ ต้องถอนมาใช้ง่าย เงื่อนไขน้อย แต่ก็ไม่ใช่แค่บัญชีออมทรัพย์ การเก็บเงินไว้เผื่อฉุกเฉินสักประมาณ 1-1.5 แสนบาท ควรมีวิธีเก็บเงินสดสภาพคล่องสูง ที่ไม่ใช่บัญชีออมทรัพย์อย่างเดียวแน่นอน แม้ว่าตัวนี้เน้นพักเงินยาว แต่บางคนเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่เดียวคือ ออมทรัพย์ เอาสะดวกไว้ก่อน ถอนออกมาใช้ฉุกเฉินได้ในทันทีทันใด

หลายคนมีวิธีเก็บออมก่อนใช้ เช่น เก็บออมทรัพย์กับสหกรณ์บริษัท แล้วเดือนนั้นใช้เงินกะทันหัน ซึ่งการจะถอนเงินในสหกรณ์มาใช้ จะต้องปิดบัญชีเอาเงินออกมาหมด และใช้เวลาหลายวัน ทำให้เห็นว่า เราต้องมีเงินที่ถอนมาใช้ได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องให้ผลตอบแทนสูงก็ได้ 

ถ้าเป็นตัวเลือกยุคปัจจุบันก็อาจเป็นบัญชีออมทรัพย์พิเศษของธนาคารหลายๆ แห่ง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ME by TMB, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และอื่นๆ ดอกเบี้ยก็น่าจะประมาณ 3% ซึ่งก็อย่าไปมองที่ผลตอบแทนไม่ต่างกันมาก เน้นถอนสะดวก ได้เงินไวดีกว่า แบบถอนเงินแล้วควรจะได้เงินเลยภายในวันที่ต้องการใช้

คนเราเมื่อคิดถึงการใช้เงินฉุกเฉิน เรื่องแรกคือ สุขภาพการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ การมีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ แน่นอนว่ามันคือการตัดสินใจทางการเงินที่ชาญฉลาดมาก เพราะหากคุณป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจนต้องรักษาในโรงพยาบาลและใช้เงินจำนวนมาก การมีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพจะช่วยได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีบางอย่างที่ประกันเหล่านี้ไม่ครอบคลุม ที่คุณควรมีเงินเก็บสำรองไว้ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพด้วย