posttoday

"ฟรีแลนซ์" ทำอย่างไรให้มีชีวิตรอดในปีแรก

27 กันยายน 2560

โดย...ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

โดย...ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีกับคุณเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดัง และคุณปอมชาน-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง นักวาดภาพลายเส้นที่มีผลงานโด่งดังมากมาย ในงานเสวนา “ยอดมนุษย์ฟรีแลนซ์ เหนื่อยนัก ก็พักได้” ของ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งสองท่านในฐานะฟรีแลนซ์ชั้นนำของเมืองไทย มาแบ่งปันแนวคิดการสร้างผลงานให้มีคุณภาพและการใช้ชีวิตอย่างสมดุลทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ส่วนผมในฐานะนักวางแผนการเงินก็ให้มุมมองเกี่ยวกับการจัดการเงินออม การลงทุน ภาษี เพื่อเติมเต็มให้งานก็ไม่ขาดและเงินก็ไม่พลาด

คำว่า “ฟรีแลนซ์ (Freelance)” นั้น เดิมเขียนแยกกันคือ Free Lance เป็นคำที่ใช้ในวรรณกรรมประมาณช่วงปี ค.ศ. 1800 โดย Free หมายถึงการเป็นอิสระไม่ได้มีสังกัดกับใครคนใดคนหนึ่ง ส่วน Lance หมายถึงอาวุธประเภทหอกสำหรับทิ่ม ใช้อธิบายเกี่ยวกับทหารรับจ้างที่อุทิศอาวุธและฝีมือของตนเองให้กับผู้ว่าจ้างใดก็ตามที่จ่ายเงินในจำนวนที่ตนพึงพอใจ ดังนั้น สายอาชีพนี้จึงต้องทำงาน (ลงสนามรบ) จึงจะได้เงิน (ค่าจ้าง) มาดำรงชีพ

เรื่องนี้เป็นปัญหาพื้นฐานของฟรีแลนซ์ ด้วยเหตุที่ “เงิน งาน และสุขภาพ” สามอย่างนี้มักไม่ค่อยไปด้วยกันได้สักเท่าไร การทำงานจะช่วยให้ได้เงินแต่อาจตามมาด้วยปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายหรือจิตใจที่อ่อนแอลง ขณะที่การไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นการใช้จ่ายเงินและไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาของการสร้างรายได้ แต่ทำให้ได้พลังกลับคืนมาลงสนามรบครั้งต่อไป

คนทำงานฟรีแลนซ์มักพูดคล้ายกันว่า ในช่วงปีแรกๆ ของการทำงาน เป็นช่วงที่กดดันอย่างมาก เพราะตนเองยังไม่เป็นที่รู้จัก ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะหางานได้ อีกทั้งค่าจ้างต่อหนึ่งชิ้นงานก็ไม่ได้สูงมากนัก

คุณเต๋อให้แนวคิดว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ต้องเน้นคุณภาพของงานไว้ก่อน แม้ในปีแรกอาจติดขัดเรื่องรายได้อยู่บ้าง แต่เมื่อลูกค้าเห็นว่าผลงานมีคุณภาพยอดเยี่ยมก็มักจะส่งงานชิ้นอื่นๆ มาให้ รวมทั้งมีการบอกต่อไปยังเพื่อนในวงการคนอื่นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

ส่วนคุณปอมชานมีการวางแผนหาลูกค้าอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการมองจากมุมลูกค้าว่าต้องการคนที่มีผลงานแบบไหน หากคิดว่าเหมาะกับสไตล์ของตนเองแล้วจึงเลือกที่จะเข้าไปติดต่อ ทำให้มีโอกาสได้งานสูงมาก เรื่องนี้ผมไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมในงาน แต่ขอเขียนในบทความนี้สักหน่อย แนวคิดของคุณปอมชานนี้เรียกว่า Reverse Funnel หรือกรวยคว่ำ คือ เลือกติดต่อลูกค้าที่มีแนวโน้มชอบผลงานของเราไปเลย (เลือกจากก้นกรวย) แทนที่จะหว่านแหแล้วเจอทั้งลูกค้าที่ชอบและไม่ชอบ (เลือกจากปากกรวย)

หากยังคงหาลูกค้าแบบหว่านแหก็แนะนำให้เข้าใจหลักการ “10 เปอร์เซ็นต์” คือ หากเราส่งเมลผลงานเราไปโชว์คน 100 คน จะมี 10 คน ที่ติดต่อเรากลับ และจะมี 1 คน ที่เป็นลูกค้าเรา ดังนั้น การทำแบบนี้ก็ต้องขยันหาลูกค้าให้มาก และอย่าไปท้อเพราะโดยสถิติแล้วคนร้อยละ 90 จะปฏิเสธเรา

การจะมีชีวิตการเงินให้รอดในช่วงปีแรกที่ยังหาลูกค้าได้น้อยนั้น ทางที่ดีคือต้องเตรียมเงินให้พร้อมก่อนเริ่มอาชีพนี้ เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นนักวางแผนการเงินแบบฟรีแลนซ์ นายคนนี้แทบไม่มีลูกค้าเลยในช่วงหลายเดือนแรกของการทำงาน แต่ยังคงใช้ชีวิตกินเที่ยวได้เป็นปกติ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาก็พบว่ามีคอนโดปล่อยเช่าอยู่สองห้อง ได้เงินค่าเช่ามาเพียงพอกับการดำรงชีพ ดังนั้นสามารถ “เลือกลูกค้า” ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องทำงานหนักหรือกดดันตัวเองแต่อย่างใด

เรื่องนี้คล้ายหลักการลงทุนแบบหนึ่งที่เรียกว่า “Core and Satellite” ซึ่งจะมีสินทรัพย์หลัก (Core Assets) ที่ใช้เป็นพื้นฐานสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคงและสินทรัพย์แบบโคจรรอบนอก (Satellite Assets) สำหรับเลือกลงทุนตามความชอบเพื่อจับโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม

ดังนั้น ฟรีแลนซ์ที่จัดการเงินเป็นควรมีแหล่งรายได้ 2 ประเภทนี้ คือ มีสินทรัพย์ประเภท Passive Income ทำงานด้วยตัวมันเอง และสินทรัพย์ประเภท Active Income คือการใช้ทักษะฝีมือของตนเองในการสร้างรายได้ โดยในช่วงแรกที่กำลังเก็บเกี่ยวชื่อเสียงและประสบการณ์นั้น ก็ใช้สินทรัพย์การเงินเป็นแหล่งพึ่งพิงเลี้ยงดูตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีกล่าวคือทำให้ไม่ต้องเน้นผลิตงานด้วยปริมาณ แต่ผลิตด้วยคุณภาพดังที่คุณเต๋อแนะนำ รวมทั้งเป็นฝ่ายเลือกลูกค้าที่จะเหมาะกับสไตล์ของตนเอง ซึ่งจะเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญในด้านที่เราต้องการอย่างที่คุณปอมชานให้มุมมอง

จะว่าไปแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากแรงกดดันได้ เพราะงานของเยอร์คีสและด็อดสัน (Yerkes and Dodson) ในปี 1908 ชี้ให้เห็นว่า สมรรถภาพจะดีก็ต่อเมื่อเราอยู่ภายใต้แรงกดดันที่พอเหมาะ เรียกว่าภาวะ “ตื่นตัว” (Eustress) ซึ่งจะได้ผลงานที่ดีกว่าคนที่อยู่ในภาวะสงบ (Calm) หรือภาวะระทมทุกข์ (Distress) ซึ่งก็คล้ายกับที่พระพุทธองค์ได้แนะนำให้ยึดทางสายกลาง ไม่ให้หย่อนเกินไปหรือตึงเกินไปนั่นเอง

ช่วงแรกของการเป็นฟรีแลนซ์ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคนรอบข้าง ที่มองว่าการทำงานประจำน่าจะสร้างรายได้มั่นคงกว่า เรื่องนี้คุณเต๋อและคุณปอมชานแนะนำว่าก็ต้องพิสูจน์ฝีมือให้เห็น อาจใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ผมว่าการจะทำเช่นนี้ได้ คนนั้นต้องมีมุมมองว่า “ฟรีแลนซ์คือไลฟ์สไตล์” คล้ายกับที่เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน (Sir Richard Branson) ผู้ก่อตั้งกลุ่มเวอร์จินส์กล่าวได้ว่า “Entrepreneur is a lifestyle, not a career” คือ รักงานที่ทำอยู่เป็นชีวิตจิตใจ มีความสุขในการทำงาน แล้วความสำเร็จชื่อเสียงเงินทองก็จะตามมาเอง