posttoday

สิทธิชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างกรณีเกษียณ ลูกจ้างควรทราบ นายจ้างควรรู้

26 กันยายน 2560

โดย...พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน FINNOMENA Insign

โดย...พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน FINNOMENA Insign

ว่าด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2540 นั้น ได้มีการกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด กฎหมายดังกล่าวได้มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2540 และจนถึงปัจจุบันไม่ได้มีการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเร็วๆ นี้ภาครัฐได้มีการเล็งเห็นถึงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างจากแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิง เช่น ในด้านของประชากรศาสตร์ของประเทศนั้น จะเห็นว่า อีก 15 ปีข้างหน้า คนไทยอายุเกิน 60 ปี จะมีมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศ ทำให้มีการผลักดันการแก้กฎหมายดังกล่าวให้สะท้อนสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

โดยได้มีการแก้กฎหมายให้ถือว่า การเกษียณอายุ เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้ถือว่าการเกษียณอายุคือการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากไม่มีการระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ให้ใช้เกณฑ์อายุครบเกษียณที่ 60 ปี จะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างงานทันที หลังจากนั้นอาจทำสัญญาฉบับใหม่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่แตกต่างจากเดิมก็ได้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในกฎหมายคุ้มครองแรงงานรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละปีจะมีลูกจ้างที่ครบกำหนดเกษียณอายุประมาณ 3-4 แสนราย

หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โดยทางแพ่งโทษปรับสูงสุดตามค่าชดเชยที่ค้างรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดเงินเพิ่มร้อยละ 15 ตามยอดเงินผิดนัดชำระ 7 วัน สำหรับโทษทางอาญาจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

กฎหมายฉบับใหม่นี้จึงเป็นประโยชน์กับลูกจ้าง โดยเฉพาะกับสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่ได้ระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงาน และไม่มีนโยบายการจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งน่าจะมีเกือบ 1 แสนบริษัท ที่มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 6.5 แสนคน ในสถานประกอบการขนาดเล็ก

สำหรับในมุมของนายจ้างนั้น ก็คงจะต้องมีการเตรียมตัวจ่ายผลประโยชน์พนักงานเหล่านี้ในอนาคต คาดการณ์ได้ยากว่าบริษัทควรตั้งสำรองในเวลานี้เป็นจำนวนเท่าไร อาจจะต้องอาศัยการคาดเดาในอนาคตว่าลูกจ้างแต่ละคนจะมีเงินเดือนเท่าไรในตอนที่แต่ละคนจะเกษียณ และจะมีโอกาสทำงานอยู่กับบริษัทจนถึงเกษียณเป็นจำนวนเท่าไร รวมถึงหลักการในการตั้งเป็นเงินสำรองด้วย ซึ่งหลักการเหล่านี้จะเป็นหลักการคนละแบบกับการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การคำนวณเงินสำรองสำหรับค่าชดเชยจากการเกษียณ (ซึ่งเท่ากับเลิกจ้าง) เป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการตั้งเงินสำรองจะเหมือนกับหลักการเดียวกับแบบประกันชีวิต ที่การันตีผลประโยชน์ให้ในอนาคตที่ระบุไว้ ซึ่งหลักการที่ว่านี้จะอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณเพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสมและไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

ดังนั้น ในทางบัญชีแล้ว นายจ้างก็ควรจะรับรู้ภาระผูกพันของผลประโยชน์พนักงานเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหนี้สิน และทยอยตั้งเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีไว้ด้วย นึกเสียว่าบริษัทกำลังจ่ายเบี้ยประกันให้กับตัวบริษัทเองเพื่อเก็บเงินก้อนนี้ไว้จ่ายลูกจ้างในยามที่เขาเกษียณไป

สรุปคือ ตอนนี้กฎหมายได้กำหนดว่า “การเกษียณ” เท่ากับเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย พร้อมกำหนดอายุเกษียณเป็น 60 ปี ซึ่งนายจ้างก็ไม่ควรชะล่าใจ ตอนนี้ต้องเตรียมตัวคำนวณภาระผูกพันจากผลประโยชน์พนักงานเหล่านี้ ให้ตั้งเงินสำรองรับรู้เป็นภาระหนี้สินของบริษัทและทยอยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเอาไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมที่สูงอายุ ถึงเวลานั้น ถ้าไม่ตั้งสำรองให้ดี แล้วมารอรับรู้เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในตอนที่แต่ละคนเกษียณ มันก็เหมือนระเบิดเวลาของบริษัทดีๆ นี่เอง แล้วในเวลานั้นบริษัทอาจจะมีเงินไม่พอจ่ายให้พนักงานก็ได้ (ดังเช่น บริษัทรถยนต์ชื่อดัง General Motors (GM) ในอเมริกา ที่คำนวณการตั้งสำรองไม่เพียงพอ ไม่มีเงินจ่ายให้กับพนักงานเมื่อยามเกษียณ เรียกง่ายๆ ว่าบริษัทมีกำไรเท่าไร ก็ไม่เพียงพอกับการจ่ายเงินก้อนให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เกษียณไปในแต่ละปี ที่พรั่งพรูกันเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องยื่นล้มละลายในปี ค.ศ. 2009 และยังเป็นคดีฟ้องร้องกันจนถึงทุกวันนี้)

สำหรับอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน อีกทั้งตอนนี้ยังมีประเด็นในการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าถ้าทำงานเกิน 20 ปี จะได้เงินชดเชย 400 วัน (13.3 เดือน) ที่กำลังจะตามมา ซึ่งลูกจ้างก็ต้องรอฟังข่าวดีกันเร็วๆ นี้