posttoday

ศัตรูของความมั่งคั่ง ตอนที่ 1

18 กันยายน 2560

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร บลจ.บางกอกแคปปิตอล

ในบทความตอนที่แล้ว เราได้มีการพูดถึงความสำคัญของการลงทุนในหุ้นระยะยาวสำหรับการสร้างความมั่งคั่ง และได้แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นจะค่อยๆ ลดลงเมื่อระยะเวลาการลงทุนยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการลงทุนสำหรับการเกษียณที่มีอายุการลงทุนเฉลี่ยประมาณ 30 ปี

เราสามารถคิดคร่าวๆ ว่าเงินที่ออมในช่วงอายุ 25-30 ปี จะถูกนำมาใช้ในช่วง 5 ปีแรกหลังการเกษียณระหว่างอายุ 60-65 ปี ส่วนเงินออมช่วงสุดท้ายในวัยทำงานที่เก็บระหว่างอายุ 55-60 ปี จะถูกนำมาใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิตหลังอายุ 85 ปี

โดยทั่วไปแล้วมีนักลงทุนจำนวนน้อยมากที่จะมีเวลาและความรู้ด้านการลงทุนที่เพียงพอที่จะสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่เลือกซื้อหุ้นรายตัวสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณได้เอง

นักลงทุนส่วนใหญ่จึงลงทุนผ่านกองทุนรวม การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อดีที่สำคัญในเรื่องการกระจายลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว โดยมีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นที่ถือครองตามกลยุทธ์การลงทุนที่แสดงไว้ในหนังสือชี้ชวน นอกจากนี้แล้วกองทุนบางประเภท เช่น RMF หรือ LTF ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมถ้าลงทุนตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด

แต่สิ่งสำคัญที่สุดต่อผลตอบแทนระยะยาวของกองทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้ามหรืออาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในการคัดเลือกกองทุนที่จะลงทุน คือ ค่าใช้จ่ายรวมของกองทุน (Total Expense Ratio) ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่บริษัทจัดการกองทุน หรือ บลจ.จัดเก็บเรียกจากกองทุนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งโดยปกติค่าธรรมเนียมการจัดการจะคิดทุกวันเป็นเปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม

สำหรับตาราง 1 จะแสดงตัวเลขค่าเฉลี่ยมัธยฐาน (Median) ของค่าใช้จ่ายรวมกองทุนของ บลจ.ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากที่สุด 10 อันดับแรกของไทย ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2560

ในตารางนี้แบ่งแยกกองทุนตามสินทรัพย์ที่ลงทุน 6 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางในประเทศ กองทุนตราสารทุนในประเทศ

กองทุน RMF-ตราสารทุน กองทุน RMF-ตราสารหนี้ และกองทุน LTF โดยค่าเฉลี่ยมัธยฐานของค่าใช้จ่ายรวมของกองทุน สำหรับประเภทกองเหล่านี้ คือ 0.36% 0.49% 1.72% 1.79% 0.68% และ 2.01% ตามลำดับ

การทบต้นของค่าใช้จ่ายกองทุนในระยะยาวมีผลอย่างมหาศาลกับความมั่งคั่งที่เราจะสะสมได้ มาลองพิจารณาตัวอย่างการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 42 ปีที่ตลาดเปิดดำเนินงาน

ตามที่แสดงในกราฟ 1 ถ้าเริ่มต้นลงทุน 1 หมื่นบาท ตามดัชนี SET ในปี 2518 ที่ตลาดเริ่มเปิดทำการ โดยนำเงินปันผลที่ได้ระหว่างทางกลับไปลงทุนเพิ่มในดัชนีอย่างต่อเนื่องมาตลอด ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2560 จะอยู่ที่ 290,377 บาท

ขณะเดียวกันถ้าหักค่าใช้จ่ายรวมของกองทุนตราสารทุนที่ 1.72% ต่อปี จากมูลค่าเงินลงทุน ปรากฏว่าประมาณการมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2560 จะเหลืออยู่เพียง 136,350 บาท เท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ มูลค่าเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายของกองทุน

วิธีการคิดในใจง่ายๆ ที่ไม่คำนึงถึงการทบต้นของค่าใช้จ่าย เราสามารถทำได้โดยให้นำค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่เป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปีคูณจำนวนปีที่จะลงทุน เราจะทราบคร่าวๆ ได้ว่าเงินก้อนสุดท้ายที่เทียบกันระหว่างมีและไม่มีค่าใช้จ่ายจะต่างกันเท่าไร

ยกตัวอย่างเช่น กองทุนสองกองทุนที่ลงทุนแบบเดียวกันแต่มีค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนต่างกันอยู่ 1% ต่อปี สุดท้ายจะมีมูลค่าเงินลงทุนต่างกันอย่างน้อย 20% ถ้าลงทุน 20 ปีในสองกองทุนนี้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมของกองทุนคือ ศัตรูหมายเลขหนึ่งของผลการดำเนินงานระยะยาวของกองทุนที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการคัดเลือกกองทุนสำหรับการลงทุนระยะยาว

คราวนี้หวังว่านักลงทุนทุกคนจะไม่มองข้ามค่าใช้จ่ายของกองทุนที่ทางการบังคับให้ทุกกองทุนแสดงตัวเลขกันไว้อย่างชัดเจนอีกต่อไป