posttoday

Wealth ฉันหาย

19 สิงหาคม 2560

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตลาดเงินตลาดทุนในช่วงนี้ค่อนข้างเปราะบางและรับรู้ข่าวกันค่อนข้างเร็วทั้งข่าวร้ายและข่าวดี เช่น

โดย...ศุภกร สุนทรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอเชีย เวลท์

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตลาดเงินตลาดทุนในช่วงนี้ค่อนข้างเปราะบางและรับรู้ข่าวกันค่อนข้างเร็วทั้งข่าวร้ายและข่าวดี เช่น ความตึงเครียดของเกาหลีเหนือ เป็นต้น ส่งผลทำให้ความผันผวนของราคาของหลักทรัพย์ที่เราลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นไปด้วย

ซึ่งถ้าเรานั่งดูมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (เอ็นเอวี) หรือราคาที่เคลื่อนไหวแล้วนำมาคำนวณเป็นมูลค่าความมั่งคั่งของเรา ก็จะพบว่ามันเคลื่อนไหวผันผวนไปด้วยและอาจจะพบว่าในบางเดือนความมั่งคั่ง หรือ Wealth ของเราอาจลดลงได้ วันนี้ผมเลยอยากพูดคุยถึงสาเหตุแล้วลองดูว่าเราสามารถบริหารจัดการความผันผวนนี้ได้อย่างไร

เริ่มต้นที่ต้นเหตุที่จะทำให้ความมั่งคั่งของเราหายไปก่อน ซึ่งก็จะได้มาจากการที่ราคาของสินทรัพย์ที่เราลงทุนลดลงและสาเหตุหลักอาจมาจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง หรือความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเหตุที่เศรษฐกิจถดถอยและลุกลามไปในหลายภูมิภาค ก็จะส่งผลให้ความมั่งคั่งของเราลดลงและระยะเวลาในการที่ความมั่งคั่งจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาเท่าเดิมก็จะนานขึ้น ยิ่งถ้าเป็นภาวะเศรษฐกิจระเบิด เช่น ฟองสบู่แตกในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งกว่าที่ตลาดหุ้นจะกลับคืนมาก็อาจจะใช้เวลากว่า 10 ปี แต่ถ้าเป็นความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลต่อการลดลงของความมั่งคั่งของเราเพียงเล็กน้อยและจะสามารถที่จะฟื้นกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมในไม่ช้า

เช่นเดียวกับปัญหาการขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่ลุกลามและขยายวงกว้างการเคลื่อนไหวของความมั่งคั่งของเราก็จะเป็นเสมือนแค่แรงกระเพื่อม แต่ถ้าความขัดแย้งนั้นลุกลามและขยายวงความมั่งคั่งของเราก็อาจจะ “หาย” ไปเป็นเวลานานๆ กว่าจะกลับคืนมาก็ได้

ทีนี้มาดูว่าเราพอจะมีวิธีหรือเครื่องมืออะไรในการบริหารความลึกของการที่ความมั่งคั่งของเราจะหายไปได้ ในที่นี้ผมขอใช้คำว่าไม่ให้มันหายไปเยอะ

วิธีแรก คือ การกระจายความเสี่ยง ซึ่งผมจะเน้นเป็น 2 ระดับ คือ

ระดับแรก ในแง่ของการกระจายไปยังสินทรัพย์ต่างชนิด หรือต่างเผ่าพันธ์ุกัน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้สามารถเห็นผลได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ตลาดหุ้นเกือบพังแต่พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (ตอนนั้นแทบไม่มีพันธบัตรรัฐบาล) กลับให้ผลตอบแทนเกิน 2 หลัก หรือที่ราคาทองคำ (ในรูปเงินบาท) มีราคาสูงขึ้น และในระดับหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น กระจายการลงทุนไปยังหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่างกัน เป็นต้น

กรณีนี้จะเห็นได้จากช่วงที่ประเทศเรามีความขัดแย้งทางการเมือง หรือแม้กระทั่งช่วงต้มยำกุ้ง ที่ตลาดหุ้นไทยมีอาการย่ำแย่แต่ตลาดหุ้นโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นต้น

ระดับที่สอง คือ การลงทุนอย่างมีวินัยและตามแผนการลงทุนที่ได้คิด วิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งมีเครื่องมือย่อยอยู่ 2 อย่างที่จะพูดถึงในที่นี้คือเรื่องของการลงทุนตามเวลาที่กำหนดเอาไว้

เช่น ตั้งใจที่จะลงทุนทุกเดือนหรือทุก 3 เดือน ก็จะเข้าข่ายการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนไปในตัว หรือการปรับพอร์ตการลงทุนให้เป็นไปตามสัดส่วนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยทำให้เฉลี่ยต้นทุนหรือขายทำกำไรไปในตัว เช่น ในกรณีที่หุ้นตกแรง ในขณะที่ตราสารหนี้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สูงเกินไป และสัดส่วนของหุ้นน้อยไป เราก็ต้องขายตราสารหนี้บางส่วนออก (ในราคาที่สูง) และซื้อหุ้นเพิ่ม (ในราคาที่ต่ำ)

สุดท้ายก็คือการฉวยจังหวะซึ่งบางท่านอาจไม่ชอบนัก แต่บางครั้งในวิกฤตเราสามารถสร้างโอกาสได้ เช่น ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หากใครเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หรือซื้อน้ำมันหรือทองคำเอาไว้ก็จะสามารถทำกำไร (เอามาชดเชย) กับการขาดทุนในหุ้น (ทั้งไทยและต่างประเทศได้) เป็นต้นท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านโชคดีในการลงทุนและมีความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลานะครับ