posttoday

อย่าฝากการลงทุนของเราไว้กับลมปากคนอื่น

06 สิงหาคม 2560

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

กับคำถามที่ว่า “มีเงินเก็บ...ลงทุนอะไรดี” นั้น มีถามกันเข้ามาตั้งแต่เงินหมื่นไปจนถึงเงินล้าน แต่ที่ฮิตที่สุด ก็คือตัวเลข 1 แสนบาท นี่แหละ

อาจเป็นเพราะตัวเลขดังกล่าวนั้นเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเกินไปจนหวังผลอะไรจากการลงทุนไม่ได้ และก็ไม่มากเกินไปจนคนส่วนใหญ่มีเงินไม่ถึง

แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเท่าไร การตั้งคำถามว่า “มีเงินเท่านั้นเท่านี้...ฉันควรลงทุนอะไรดี” นั้น เป็นคำถามที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้นถาม เพราะมันสะท้อนถึงทั้งในเรื่องของความมักง่ายและไมนด์เซตทางการเงินที่ผิด

มาเริ่มกันที่อุปนิสัย “มักง่าย” ในการลงทุนกันก่อน...

ตัวผมเองเป็นคนหนึ่งที่แอบรู้สึกขัดใจเสมอ เวลาได้ยินกูรูทางการเงินบางท่านตอบคำถามผ่านรายการวิทยุและโทรทัศน์ เช่น ดิฉันมีเงิน 10 ล้าน ท่านกูรูคิดว่าดิฉันควรเอาไปทำอะไรดี

“ถ้าคุณมีเงิน 10 ล้าน คุณควรเอา 3 ล้าน ไปซื้อบ้าน 2 ล้าน ไปซื้อพันธบัตร 3 ล้าน ไปซื้อทองคำและกองทุนรวม และที่เหลือฝากธนาคารเอาไว้”

ฟังแล้วตลกดี เพราะดูแล้วมักง่ายทั้งคนถามและคนตอบ

คุยกันยังไม่ถึง 2 นาที วางแผนชีวิตให้เสร็จสรรพ เป้าหมายชีวิตเขาเป็นยังไงก็ยังไม่รู้ ภาระทางการเงินมีอะไรบ้างก็ยังไม่เข้าใจ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบ เพราะมันไม่ต้องคิดมาก แค่เทน้ำร้อนก็กินได้เลย

คำถามคือ เราเชื่อคำแนะนำของกูรูทางการเงินเหล่านั้นได้อย่างไร

เขาเป็นใคร เขารู้หรือไม่ว่าเรามีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไรต้องการผลกำไรจากการลงทุนเท่าไรรับความเสี่ยงได้แค่ไหน มีแผนการเงินต้องใช้จ่าย หรือมีภาระอะไรบ้าง และถ้าเชื่อเขาแล้วขาดทุนขึ้นมาใครรับผิดชอบ ฯลฯ

จากคำถามข้างต้นจะเห็นว่า ไม่มีใครตอบได้ว่า ลงทุนอะไรดีได้เท่ากับเจ้าของเงิน หรือตัวเราเองหรอกครับ

ดังนั้น ถ้าคุณมีเงิน 1 แสน และกำลังหาวิธีทำให้มันงอกเงย สิ่งแรกที่คุณควรใส่ใจก็คือ “การลงทุนในตัวเอง” โดยการเติมความรู้ให้กับตัวเองเป็นอันดับแรก

คุณสนใจลงทุนเรื่องอะไร ก็ลองลงทุนเวลาหาหนังสือหนังหามาอ่าน เสิร์ชกูเกิล ดูยูทูบ เข้าสัมมนา  หรือแบ่งเวลาไปพูดคุยกับคนที่ลงทุนในแบบเดียวกันกับที่คุณสนใจ เพื่อเติมความรู้ จะได้สร้างแผนการและเลือกลงทุนได้เอง

อย่าทำตัวมักง่าย เหมือนรายการหุ้นในโทรทัศน์

ซื้อตัวนั้นดีมั้ย ราคาเท่าไรจึงจะซื้อได้ ซื้อแล้วขายได้ที่เท่าไรดี ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ สรุปแล้วคนถามไม่รู้เรื่องอะไรเลย และไม่ได้คิดอยากจะรู้ด้วย ซื้อหุ้นเหมือนซื้อหวย แทงตามเลขดังเลขเด็ด หุ้นตัวนั้นทำธุรกิจอะไรก็ไม่รู้ พอซื้อถือไว้สักพักก็หงุดหงิดงุ่นง่าน ข่าวดีข่าวร้ายผ่านเข้ามางงไปหมด จะขายหรือจะถือต่อก็ไม่รู้ สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมคือโทรถามคนที่แนะนำให้ซื้อ

แบบนี้ไม่เรียกว่า “การลงทุน” นะครับ

จำไว้ว่า “เงินจะไม่อยู่กับคนที่ไม่ฉลาดทางการเงิน” ดังนั้นต่อให้มีเงินเป็นล้าน แต่ขาดความรู้ทางการเงินก็หมดตัวได้ครับ

ดังนั้น จะลงทุนอะไรไม่ต้องไปถามใคร ถามตัวเอง สนใจอะไรก็เอาเวลาไปศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น เก็บเงินไว้ก่อน ไม่ต้องรีบใจร้อน และอย่าจ่ายเงินลงทุนอะไรโดยไม่รู้อย่างเด็ดขาด

อีกเรื่องก็คือ อย่าไปยึดติดกับเงินในมือ และเผลอใช้มันเป็นตัวกำหนดขนาดการลงทุนของตัวเอง

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่คนมีเงินเก็บหลักพัน จะลงทุนบ้านเช่า ราคา 3 ล้านได้

เพราะธนาคารไม่เคยดูเงินเหลือเก็บจริงๆ เขาดูแค่สลิปเงินเดือนว่ามีเงินเดือนเข้าจริงตามที่บอกหรือไม่ ดูว่ามีติดหนี้ที่ไหน อย่างไร ต่อให้เงินไม่เคยเหลือ แต่ถ้าสลิปเงินเดือนถึง ไม่มีหนี้เสีย แค่นี้ก็มีสิทธิเป็นเจ้าของบ้านเช่าได้แล้ว

โจทย์ทั้งหมดจึงกลับไปอยู่ที่ “คุณมีความรู้ทางการเงินหรือไม่” เพราะถ้าคุณมีความรู้ทางการเงิน ต่อให้ไม่มีเงินคุณก็สามารถลงทุนได้

เริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเอง ถามตัวเองสิว่า สนใจจะลงทุนในอะไรแล้วเลือกศึกษา

จากสิ่งนั้นจะเป็นธุรกิจ อสังหา ริมทรัพย์ หุ้น หรือทองคำ ก็แล้วแต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้และเข้าใจในสิ่งที่ลงทุนให้มากพอก่อนที่จะใส่เงินลงไป และอย่าโลภจนเกินไป จนเผลอเอาผลตอบแทนเยอะๆ เป็นเป้าหมายการลงทุน โดยไม่ประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง

High Understanding, High Return : ยิ่งคุณรู้จักสิ่งที่คุณลงทุนมากเท่าไร คุณก็ยิ่งได้รับผลตอบแทนจากมันมากขึ้นเท่านั้น

และจงอย่ามักง่าย เพราะความมักง่ายไม่เคยทำให้ใครรวย