posttoday

สิ่งที่ต้องระวัง ในการลงทุนหลังเกษียณ

22 มิถุนายน 2560

ระวังในการใช้เงินหลังเกษียณ เพราะกว่าจะมีเงินก้อนขนาดนี้ อาจพลาดพลั้งเงินหมดแบบไม่รู้ตัว

โดย...โยโมทาโร่ ภาพ อีพีเอ, เอพี

เราคงเคยอ่านเคล็ดลับการออมการลงทุนก่อนเกษียณมามากมาย แต่ยังมีอีกสิ่งที่ต้องรับรู้ก็คือเรื่องการระวังในการใช้เงินหลังเกษียณ ในบางเรื่องบางอย่างที่คุณอาจจะพลาดไปโดยไม่รู้ตัว

1. การจ่ายเงินก้อนให้ลูกหลาน


ชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอน จริงอยู่ว่าคุณอาจจะมีเงินเก็บที่คำนวณแล้วว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายถึง 20 ปี แต่หากคุณมีชีวิตยืนยาวกว่านั้นล่ะ มีชีวิตอยู่แต่เงินหมดแล้วจะเอาอะไรเลี้ยงชีพ เก็บเงินก้อนของคุณไว้ลงทุนกับสิ่งที่ให้ผลตอบแทนงอกเงยอย่างอื่นจะดีกว่า แล้วค่อยเอาผลตอบแทนนั้นแบ่งให้ลูกหลานเมื่อมีความจำเป็น จะดีกว่าให้เงินก้อนแล้วสลายหายไปกับตา ยิ่งให้กับลูกหลานที่ไม่มีความสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ยิ่งเป็นการให้ที่สูญเปล่า

2. ลงทุนกับอาชีพในฝัน

อาชีพที่อยากจะทำกับงานที่สร้างเงินมักจะสวนทางกันเสมอในความคิดของคนส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพียงแค่เราอยากจะหางานที่สร้างเงินสร้างฐานะได้อย่างรวดเร็วมากกว่า พอถึงวัยเกษียณที่เริ่มวางมือจากงานหนึ่งก็เริ่มสนใจกลับไปหางานที่อยากจะทำเช่นงานไม้ งานประดิษฐ์ การทำไร่ทำสวน วาดภาพ เล่นดนตรี หรืองานฝีมืออื่นๆ

ไม่ควรลงทุนไปกับงานอดิเรกเหล่านี้ตอนเริ่มต้นมากนัก เพราะคุณยังไม่มีประสบการณ์ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดและสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะงานด้านการเกษตร ที่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงในการหาซื้อที่ดินและการลงแปลงเพาะปลูก คนที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์มักจะเกิดความผิดพลาดในจุดเล็กๆ น้อยๆ แต่สร้างความเสียหายใหญ่

สิ่งที่ต้องระวัง ในการลงทุนหลังเกษียณ


3. ระวังการต้มตุ๋น

อย่าคิดว่าอายุยิ่งมากยิ่งเก๋าประสบการณ์ ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย แต่ความจริงแล้วแม้จะมีประสบการณ์มาก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้ทันเหลี่ยมโจร ที่มักใช้จุดอ่อนเรื่องความโลภของคนมาเป็นเครื่องมือ คุณคงเคยได้ยินข่าวว่ามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ถูกหลอกต้มตุ๋นลงทุนจนสูญเงินก้อนใหญ่มาแล้ว

4. ระวังการค้ำประกัน

อยากเป็นเศรษฐีให้เป็นนายหน้าอยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน การค้ำประกันบุคคลอื่นเป็นความเสี่ยงที่คุณไม่ควรทำ แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่คิดว่าไว้ใจได้ แต่ชีวิตนั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน คุณคงไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตอนอายุ 70 ปี ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยในวัยชราที่ต้องใช้เรี่ยวแรงที่มีเดินขึ้นศาลฟ้องร้อง

สิ่งที่ทุกคนมักจะเจอก็คือการใช้ความน่าสงสาร การใช้ความสนิทสนมมาเป็นเครื่องมือกึ่งบังคับใจให้ยอมเซ็น บ้างก็ใช้เงินก้อนเป็นค่าตอบแทนในการเซ็นค้ำ ซึ่งคุณต้องรู้จักปฏิเสธหากไม่กล้าปฏิเสธด้วยตัวเอง ลองใช้เหตุผลอื่นๆ เช่น เซ็นค้ำให้ลูกหรือหลานไปแล้วไม่อยากเซ็นให้ใครอีก หรือบอกว่าตอนนี้กำลังยื่นกู้ปรับปรุงบ้านอยู่เหมือนกันคงเซ็นค้ำให้ไม่ได้ และสุดท้ายที่ค่อนข้างได้ผลก็คือ ถามชื่อธนาคารที่คนคนนั้นมาขอให้ค้ำ แล้วบอกว่า ติดเครดิตบูโรของธนาคารนี้อยู่เหมือนกัน เซ็นค้ำยังไงก็ไม่ผ่านแน่ๆ (ไฟแนนซ์ไม่มีสิทธิเช็กเครดิตบูโรของคนค้ำยกเว้นชื่อคนค้ำจะมีอยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว) ถ้ามีธนาคารอื่นเสนออีกก็บอกไปเลยว่าติดกับที่นี่เหมือนกันตอนนี้ลำบากมาก

5. ระวังการเบิกใช้เกินจำเป็น

สุดท้ายการเบิกเงินใช้เกินความจำเป็นไปซื้อของฟุ่มเฟือยยิ่งทำให้เงินเก็บหมดเร็วยิ่งขึ้น ควรใช้เงินที่มีลงทุนให้เกิดผลตอบแทนและใช้เงินตอบแทนนั้นแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายก็จะช่วยทำให้เงินก้อนนั้น มีใช้กินใช้จ่ายได้ตลอด

เช่น คนมีเงินลงทุน 5 ล้านบาท ถอนเงินออกใช้เดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท จะเบิกเงินใช้ได้นานถึงอายุ 73 ปี แต่หากนำเงิน 5 ล้านบาทลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปีละ 4 เปอร์เซ็นต์จะมีเงินใช้จนถึงอายุ 89 ปี แต่ถ้าลงทุนได้ผลตอบแทน 6% ต่อปีก็จะยิ่งมีเงินใช้นานขึ้นไป

ดังนั้น จึงควรทำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนจะเป็นการดีที่สุด แต่อย่างไรก็ดีไม่ควรลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะยิ่งอายุมากยิ่งไม่ควรรับความเสี่ยงสูงตามอายุ