posttoday

หลักการออมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง

19 เมษายน 2560

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงานมาแล้วหลายปีแต่แทบไม่มีเงินเก็บเลย วันนี้ผมมีหลักการง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยวินัยการเงินขั้นสูงมาเป็นตัวช่วยพวกเราทุกคนให้สามารถเก็บออมเงินได้ในแบบที่ตั้งใจกันครับ

หลักการที่ถูกต้องสำหรับการออมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ประกอบด้วยหลักการง่ายๆ 3 ข้อ ดังนี้

1) เก็บออมเป็นประจำ ขั้นต่ำ 10% ของรายรับ 

การออมที่เหมาะสมนั้นต้องไม่มากเกินไปจนเป็นภาระ และก็ต้องไม่น้อยเกินไปจนยากที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน โดยส่วนตัวผมอาศัยแนวคิดจากหนังสือเล่มโปรดของตัวเองสมัยเรียน นั่นคือ The Richest Man in Babylon ของ George S. Clason ที่ว่า

“หากต้องการมั่งคั่ง คนเราต้องออมให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 10 ส่วนของทรัพย์สินที่หามาได้”

ซึ่งสัดส่วนการออมดังกล่าวก็ไปตรงกันพอดีกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่บอกว่า คนที่มีชีวิตพอมีพอกิน ไม่ลำบากในวัยหลังเกษียณ มักมีอุปนิสัยรักการออม และสัดส่วนเงินออมของพวกเขาก็คือ 10% ของรายได้ (ถ้าได้ถึงระดับ 20% ยิ่งดี) จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณการออมให้มากขึ้นตามอายุและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจจากงานวิจัยเดียวกันยังบอกอีกว่า “คนจน” หรือคนที่เงินขาดมือมักจ่ายให้ทุกคน แต่ไม่จ่ายให้ตัวเอง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขายังคงจนต่อไป

สำหรับคนที่ทุกวันนี้อาจยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระหนักมือ ผมก็ยังแนะนำให้เก็บออมนะครับ แต่อาจไม่ต้องถึงระดับ 10% ก็ได้ ถ้าเป็นหนี้อยู่

การเริ่มออมสัก 3% ก็เป็นตัวเลขที่ดีสำหรับการเริ่มต้นครับ หัวใจสำคัญของหลักคิดนี้ก็คือ อย่าให้เงินที่หามาได้กับทุกๆ คน ยกเว้นตัวเองเป็นอันขาด และถ้าจะให้ดีจงจ่ายให้ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก (Pay Yourself First)

2) การออมให้เป็นอัตโนมัติ

นี่คือหลักคิดที่จะช่วยคุณเอาชนะปัญหาด้านวินัยการเงินของตัวเอง หลักการง่ายๆ ของวิธีดังกล่าวก็คือ “เงินที่เรามองไม่เห็น คือ เงินที่เราไม่มีโอกาสได้ใช้” หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันกับการหักภาษี หักเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก่อนที่คุณจะได้รับเงินเดือนนั่นเอง

วิธีการก็คือ ให้คุณติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัญชีเงินเดือนของคุณ ให้ช่วยหักเงินออม 10% ของรายได้ก่อนหักภาษีไปยังบัญชีเงินฝากที่เปิดใหม่เพื่อการออมทรัพย์โดยเฉพาะ ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกเดือน ณ วันที่เงินเดือนออก ที่สำคัญห้ามเบิกเงินในบัญชีดังกล่าวมาใช้โดยเด็ดขาด (การไม่ทำเอทีเอ็มสำหรับบัญชีดังกล่าวก็ถือเป็นการดีครับ)

เมื่อหักเงินออมไปแล้ว เงินที่เหลือในบัญชีเงินเดือนทั้งหมด คุณก็สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องกังวล เพราะไม่ว่าอย่างไร คุณก็มีเงินออมในแต่ละเดือนเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว

สำหรับท่านที่ยังไม่รู้เรื่องการลงทุน ผมแนะนำให้หักเงินออมไปเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากก่อนนะครับ เอาไว้รู้เรื่องการลงทุนอีกนิดค่อยเขยิบหาที่เพิ่มดอกผลจากการออม

สำหรับอัตราการเก็บออมนั้น เบื้องต้นคือ 10% แต่หากทางหน่วยงานของคุณมีการหักเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว คุณก็อาจปรับลดอัตราการออมเพิ่มในส่วนของตัวเองลงให้ผสมกันพอดีได้ 10% หรือจะไม่สนใจ เก็บเพิ่มอีก 10% ต่างหากไป ก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใดครับ

3) ลงมือทำเดี๋ยวนี้

การเฝ้าดูหรือรอดูคนอื่นทำไม่มีทางทำให้เราร่ำรวยขึ้นมาได้ครับ ดังนั้นมันต้องเริ่มต้นทันทีตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ (อ่านจบทำเลย) ยิ่งในปัจจุบันเป็นยุคที่บริการตัดบัญชีนั้นทำได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ยิ่งใครสมัครอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง ก็ยิ่งง่าย ท่านสามารถตั้งการตัดเงินจากบัญชีหนึ่งไปยังบัญชีหนึ่ง โดยกำหนดวัน-เวลาล่วงหน้าได้เลย เพียงเสียเวลาเริ่มต้นสักนิดหน่อย ที่เหลือก็ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยอัตโนมัติ

แม้ว่าเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังในวันนี้ อาจดูไม่เหมือน “เคล็ดลับ” สักเท่าไหร่ เพราะจะว่าไปคนส่วนใหญ่ก็น่าจะพอรู้วิธีการที่ผมเล่าให้ฟังในวันนี้กันแทบทั้งนั้น แต่ก็อย่างว่าแหละครับ…

“เคล็ดลับอาจไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แต่มักเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้ แต่ไม่ทำมันมากกว่า”