posttoday

เงินด่วน…ทางลัดสู่นรกทางการเงิน

17 กุมภาพันธ์ 2560

คนส่วนใหญ่กู้ยืมเงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยลืมคิดไปว่า เป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้คืน

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

ถ้าคุณกำลังมองหา “เงินด่วน” เพื่อนำไปใช้จัดการกับปัญหาการเงินของคุณ อันเนื่องมาจากหนี้สินหรือการใช้จ่ายเกินตัว ผมอยากให้คุณอ่านบทความนี้ แล้วคิดดูอีกครั้ง

เรื่องมันเริ่มต้นจากการนั่งคุยและสอบถามลูกศิษย์ที่ทำงานด้านอินเทอร์เน็ตในเย็นวันหนึ่ง ผมถามเขาว่าคนส่วนใหญ่เสิร์ชหาข้อมูลเรื่องการเงิน ด้วยคีย์เวิร์ดอะไรเยอะที่สุด คำตอบของเขาทำให้ผมได้ยินแล้วรู้สึกตกใจ

“เงินด่วน” “เงินกู้” “กู้เงิน” “สมัครบัตรเครดิต” และ “เงินกู้นอกระบบ” เดือนๆ หนึ่งมีคนกดคีย์เวิร์ดเหล่านี้ในกูเกิลรวมกันกว่า 4 แสนคน

จากคำเสิร์ชข้างต้นก็พอจะบอกได้ถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเงินขาดมือของคนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ในฐานะโค้ชการเงินที่ช่วยเหลือปลดหนี้คนมานับพัน สิ่งแรกที่อยากจะเตือนก็คือ การแก้ปัญหาเงินขาดมือด้วยการหยิบยืมนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะหากกู้ยืมเงินนั้นมาเพื่อใช้จ่ายและบริโภคในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการนำไปผ่อนชำระคืนหนี้ที่มีอยู่เดิม (กู้หนี้ใหม่ไปส่งหนี้เก่า) ก็ยิ่งแต่จะทำให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า

ธุรกิจที่กู้เงินมาลงทุนต่อยอดกิจการนับวันก็มีแต่ก้าวหน้า แต่ถ้าหากธุรกิจไหน กู้ยืมเงินมาหมุน มาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง มาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโสหุ้ยต่างๆ แบบนี้รับประกันได้เลยว่า อีกไม่นานก็เจ๊ง

คนเราก็เหมือนกัน ถ้ากู้ยืมเงินมาลงทุนก็มีแต่จะร่ำรวยและมั่งคั่งขึ้น (แต่ต้องลงทุนเป็นนะ ความรู้ทางการเงินต้องมี)แต่ถ้าหากกู้มาจ่าย กู้มากิน แบบนี้ไม่นานก็กู้มั่ว กู้ไปเรื่อย แล้วก็พาตัวเองติดกับดักทางการเงินชนิดดิ้นไม่หลุด

อะไรที่ทำให้การกู้ยืมเงินมากินอยู่ใช้จ่ายเป็นปัญหาลุกลามในระยะยาว?

1) คนส่วนใหญ่กู้ยืมเงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (สังเกตจากคำว่า​“ด่วน”) โดยลืมคิดไปว่า เป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้คืน คำถามคือ …แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาคืนเขา?

ยิ่งใครทำงานประจำ เดือนหน้าเงินเดือนคุณก็ได้เท่าเดิม เดือนนี้ไม่พอใช้ เดือนหน้าก็คงไม่ต่างอะไรจากเดือนนี้ แล้วทีนี้ทำอย่างไร ก็กู้วนกันไปไม่รู้จบนะสิ

ใครที่ทำงานในบางองค์กรที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์จะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี วันเงินเดือนออกคือ วันกู้รอบใหม่เพราะเงินเดือนใหม่ถูกหักไปจ่ายหนี้เก่าจนหมด ทีนี้ทำอย่างไร ก็ต้องกู้ใหม่ และกู้วนไปอย่างนี้ไม่มีวันจบ

จะแก้หนี้ต้องใช้เงินที่ปลอดภาระแก้ปัญหา เช่น รับจ้างทำงานพิเศษ สร้างธุรกิจเล็กๆ นอกเวลางาน หรือรอโบนัส คอมมิชชั่น ที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานมาชำระคืน ไม่ใช่เซ็นแกร็กเดียวเงินกู้วิ่งเข้าบัญชี

2) ถ้ากู้มาใช้จ่ายโดยไม่ระวัง รีบร่วน เร่งด่วนมากๆ อาจติดกับดักดอกเบี้ยที่ทำให้อาการสาหัสมากขึ้นไปอีก

ที่จริงคนเป็นหนี้นั้น สามารถกู้เงินมาจัดการเงินกู้เดิมได้ (ภาษาทางการเงินเรียก “รีไฟแนนซ์”) แต่หลักการที่ถูกต้องของการกู้ยืมเงินก้อนใหม่นั้นจะต้องมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนต่ำลง มิฉะนั้นการกู้ของคุณจะนำไปสู่ภาระทางการเงินที่ใหญ่หลวงขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ คนที่มีปัญหาเป็นหนี้บัตรเครดิต แล้วไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาชำระหนี้

หนี้บัตรเครดิตนั้นคิดดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์/ปี แต่พอขาดเงินชำระหนี้ เรากลับไปกู้หนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์/เดือน คิดง่ายๆ กลมๆ ก็ตก120 เปอร์เซ็นต์/ปี

แล้วรู้อะไรมั้ยครับ ถ้าคุณกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ 120 เปอร์เซ็นต์/ปี เงินกู้ตั้งต้นของคุณจะกลายเป็น 2 เท่า ภายในเวลาแค่ครึ่งปี นี่คือความอันตรายของ “เงินด่วน”ที่หากกู้ไปโดยไม่คิด ไม่วางแผน ก็มีแต่จะพัง พัง และพัง เท่านั้น

อ่านจบแล้วลองตัดสินใจดูอีกที ว่าจะยังเลือกใช้เงินด่วนอยู่หรือไม่? หรือจะเริ่มจัดการกับหนี้ของเราอย่างจริงจังและชาญฉลาด

เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องการบริหารเงินส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง ผ่านวิดีโอความยาว 12 ชั่วโมงเต็มฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมเอกสารประกอบการเรียน ได้ที่ www.facebook.com/MoneyLiteracyThailand