posttoday

ใช้บัตรเครดิตให้เป็น

29 มกราคม 2560

เกินกว่าครึ่งของผู้ที่มีปัญหาทางการเงิน มักมีบัตรเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาแทบทั้งสิ้น

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

“บัตรเครดิต” จัดเป็นหนึ่งในผู้ร้ายยอดนิยมตลอดกาลของโลกการเงิน เพราะเกินกว่าครึ่งของผู้ที่มีปัญหาทางการเงิน มักมีบัตรเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาแทบทั้งสิ้น

ยิ่งในปัจจุบันที่การทำบัตรเครดิตนั้นทำกันได้ง่ายขึ้น เพราะเพียงมีหลักฐานว่ามีเงินเดือนหรือรายได้ประจำแค่หลัก 7,500 บาท/เดือน ก็สามารถเป็นเจ้าของบัตรเครดิตกันได้แล้ว

ด้วยเหตุที่ทำกันได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทำให้หลายต่อหลายคนเมามันกับการมีบัตรอภินิหารนี้ มีหนึ่งใบก็ใช้จนหมด ใช้หมดก็ทำบัตรใหม่ เอาเงินมาหมุน กดเงินจากบัตรนี้ไปจ่ายบัตรโน้น หมุนไปหมุนมา สุดท้ายก็กลายเป็นหนี้สินพะรุงพะรัง ยอดหนี้เต็มวงเงินมันทุกใบ

อันที่จริงแล้วหน้าที่ของบัตรเครดิตนั้นก็คือ การเป็นตัวแทนของเงินในการจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าในชีวิตประจำวัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไม่ต้องพกพาเงินในปริมาณมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหาย รวมไปถึงการเป็นแหล่งเงินสำรองในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน

แต่ก็นั่นแหละ ปัญหาของบัตรเครดิตก็คือ คนส่วนใหญ่ใช้มันไม่ถูกวิธี เข้าใจเอาว่าเป็นบัตรอภินิหารที่ช่วยให้เราสามารถครอบครองสิ่งของที่ต้องการได้ก่อน และค่อยผ่อนชำระคืนในภายหลังได้

ถ้าคิดได้แค่นี้ก็ผิดแล้วครับ ทั้งนี้เพราะจะว่าไปแล้ว ปัญหาเดียวที่ทำให้คนติดหนี้บัตรเครดิตกันงอมแงมก็คือ การไม่มีเงิน (ปัญญา) ชำระคืนนั่นแหละ ซึ่งนั่นเป็นผลมาตั้งแต่การตัดสินใจรูดปรื๊ดครั้งแรกแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ที่รูดบัตรมักไม่มีเงินพอที่จะจ่ายได้ในทันที และส่วนใหญ่เป็นคนที่ขาดวินัยทางการเงิน

อารัมภบทมาเสียนาน วันนี้ผมมีวิธีการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง เพื่อสภาพคล่องและเครดิตทางการเงินที่ดีมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านครับ

1) ไม่ควรพกบัตรเครดิตหลายใบ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีบัตรเครดิตหลายใบ บอกได้เลยว่าคุณมีโอกาสที่จะบริหารเงินพลาดและเกิดปัญหาวินัยทางการเงินครับ เพราะการมีบัตรเครดิตหลายใบจะทำให้การดูแลและจัดการบัญชีการใช้จ่ายของบัตรเครดิตแต่ละใบทำได้ยาก ท้ายที่สุดก็เลยไม่ทำ ใช้อะไร จ่ายอะไร จากบัตรไหนใบไหน มั่วไปหมด รู้อย่างเดียวว่าบัตรนี้เหลือวงเงินเท่าไหร่ บัตรนั้นเต็มหรือยัง ถ้าเป็นอย่างนี้ บอกได้คำเดียวว่ารอดยากครับ

ทางที่ดีผมแนะนำว่าแค่ 2 ใบก็น่าจะพอ ทั้งนี้ควรเลือกบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ย (ปกติร้อยละ 20) และค่าดำเนินการต่างๆ (อาทิ ค่าใช้วงเงิน) ต่ำที่สุดด้วยก็จะดี

2) ไม่มีเงินสดอย่าใช้

ฟังดูแล้วอาจขัดกับหน้าที่ของบัตรเครดิตสักนิดหนึ่ง แต่ผมหมายความอย่างนั้นจริง ๆ เพราะทุกครั้งที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณต้องถามตัวเองดูก่อนว่า คุณสามารถซื้อของสิ่งนั้นด้วยเงินสดได้หรือเปล่า ถ้าได้ ก็อนุญาตให้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากได้แท็บเล็ตสักเครื่อง ราคาประมาณ 1.5 หมื่นบาท และอยากจะรูดบัตรเครดิตซื้อ ก็จงถามตัวเองเสียก่อนว่ามีเงินเหลือปลอดภาระสัก 1.5 หมื่นบาทในบัญชีเงินฝากหรือไม่ ถ้ามีก็ซื้อไปได้เลย เพราะปลายเดือนคุณมีปัญญาใช้คืนเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีเงิน หรือมีเงินแต่มีภาระอื่นรออยู่ ก็อย่าทะลึ่งรูดบัตรเด็ดขาด เพราะทันทีที่คุณรูดบัตรเครดิตประตูสู่หายนะทางการเงินจะเปิดต้อนรับคุณทันที

สำหรับคนที่คิดเอาว่าจ่ายทั้งก้อนไม่ไหว แต่สามารถจ่ายขั้นต่ำได้ เช่น แท็บเล็ตเครื่องละ 1.5 หมื่นบาท ไม่มีปัญญา แต่ถ้า 1,500 บาท 10 เดือน (จ่ายขั้นต่ำ) น่าจะพอไหว ก็ขอให้ท่านกลับบ้านไปนั่งคิดคำนวณดูงบรายรับ-รายจ่ายของตัวเองให้ดี ว่ามีปัญญาคืนเขาแน่หรือเปล่า ทุกวันนี้เงินออมสักเดือนละ 1,000-1,500 บาท พอจะมีกับเขาบ้างมั้ย

และถ้าต้องชำระคืนหนี้เขาแม้จะแค่เดือนละ 1,500 บาทก็ตาม มันจะกระทบกับสภาพคล่องของเราหรือเปล่า คิดให้ดีๆ ค่อยๆ เก็บเงินแล้วกลับมาซื้อใหม่วันหลังก็ยังไม่สาย แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่มีเงินสดก็ควรรู้จักอดทนรอคอยดีกว่า

3) ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น (ชำระเต็มจำนวน อย่าชำระขั้นต่ำ!)

ข้อนี้คือหัวใจสำคัญเลยครับ เพราะถ้าคุณชำระคืนเท่าที่คุณใช้ไปได้ แสดงว่าคุณมีเงินเพียงพอที่จะซื้อของนั้น แต่ใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยเหตุแห่งความสะดวกตรงตามวัตถุประสงค์เป๊ะเลย ซึ่งตรงนี้วิธีการก็ต่างกันครับ สำหรับผมหากวันไหนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไป
ก็จะหักเงินหยอดกระปุกรอไว้รวมชำระตอนปลายเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนเราจะสามารถชำระคืนเต็มจำนวนได้

คำถามคือ ทำไม? ไม่ควรชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment) คำตอบง่ายๆ ก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มชำระเงินขั้นต่ำ นั่นเป็น
สัญญาณอันตรายที่เตือนว่าคุณกำลังจะมีปัญหาทางการเงินแล้ว เพราะการจ่ายขั้นต่ำนั้นมีค่าใช้จ่ายทั้งดอกเบี้ย และค่าใช้วงเงินต่างๆ มากมาย โดยเฉลี่ยตกร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่บั่นทอนความมั่งคั่งอย่างยิ่ง

คิดดูง่ายๆ ว่ากว่าจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสัก 10-15% ยังเหนื่อย แล้วนี่มาปล่อยให้บัตรเครดิตกินดอกเบี้ยเรา 20% ต่อปี อย่างนี้อีกนานครับกว่าจะรวย (Minimum Payment = Maximum Pain)

4) ชำระคืนให้ตรงเวลา

ไม่ว่าจะชำระคืนเต็มจำนวนหรือชำระขั้นต่ำ จงอย่าลืมที่จะชำระคืนให้ตรงเวลา เพื่อประโยชน์ด้านเครดิตทางการเงิน ซึ่งอาจจำเป็นต่อการกู้ยืมเงินในกิจกรรมสำคัญของคุณในวันข้างหน้า อาทิ กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือศึกษาต่อ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการชำระคืนของคุณจะถูกบันทึกอยู่ในเครดิตบูโร ซึ่งก็เหมือนเป็นดาบสองคม เพราะถ้าคุณเป็นผู้มีระเบียบวินัยทางการเงินดี ชำระคืนหนี้ตรงเวลาสม่ำเสมอ คุณก็จะมีคะแนน (Credit Score) ที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อการกู้ยืมเงินในอนาคต

ตรงกันข้ามกับคนที่ละเลย จ่ายเงินช้ากว่ากำหนดเป็นประจำ หรือพานไม่ชำระเอาเสียเลย อย่างนี้ก็จะเป็นการสร้างภาพลบต่อเครดิตของตัวเอง เข้าตำรายืมแล้วไม่คืน อย่างนี้คงยากที่จะมีใครให้กู้ยืมอีกในวันข้างหน้า

ท้ายที่สุดที่อยากจะบอกผู้อ่านทุกท่านก็คือ ศัตรูทางการเงินตัวฉกาจไม่ใช่บัตรเครดิต หรือดอกเบี้ยเงินกู้ แต่มันคือตัวของเราใจของเรานั่นแหละ ทุกปัญหาคนเรานั่นเองที่เป็นคนสร้างมันขึ้นมา ดังนั้นเพื่อความสุขในชีวิต คุณควรบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม สร้างนิสัยมีเงินก่อนค่อยซื้อ พอมีเงินแล้วจะซื้อด้วยเงินสด หรือซื้อผ่านบัตรเครดิต ก็ไม่ใช่ปัญหาแล้วครับ

ภาพ...เอเอฟพี