posttoday

ออกจากงาน ไม่ออกจากประกันสังคม

03 มกราคม 2560

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ขอลาทีเจ้านายที่รัก จากนี้ขอไปเป็น “ฟรีแลนซ์”แต่ในใจยังหวั่นๆ ว่า แล้ว “สิทธิประโยชน์” ที่เคยมีเคยได้เมื่อตอนเป็นมนุษย์เงินเดือนจะต้องหายไป

ปีใหม่ ชีวิตใหม่ ขอลาทีเจ้านายที่รัก จากนี้ขอไปเป็น “ฟรีแลนซ์”แต่ในใจยังหวั่นๆ ว่า แล้ว “สิทธิประโยชน์” ที่เคยมีเคยได้เมื่อตอนเป็นมนุษย์เงินเดือนจะต้องหายไป และนับจากนี้ไปไม่ว่าจะเจ็บป่วย คลอดลูกชีวิตวัยเกษียณ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่เหมือนตอนเป็นมนุษย์เงินเดือนที่อย่างน้อยก็ยังมีสวัสดิการจากประกันสังคม

แต่เดี๋ยวก่อน... ถ้ายังออกจากงานประจำมาไม่เกิน 6 เดือน และเคยส่งเงินสมทบตามมาตรา 33 มาไม่น้อยกว่า 12 เดือน (และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม) คุณจะได้สิทธินั้นกลับคืนมา เพียงแค่ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาทเท่านั้น

เพราะเราจะกลายเป็น “ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39” ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้แก่

1.กรณีเจ็บป่วย

2.กรณีคลอดบุตร

3.กรณีทุพพลภาพ

4.กรณีตาย

5.กรณีสงเคราะห์บุตร

6.กรณีชราภาพ

เงินสมทบเดือนละ 432 บาท จะคำนวณจากฐานเงินสมทบ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาท/เดือน) โดยใน 9% นี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

- ส่วนที่ 1 เงินสมทบ 3% หรือ 144 บาทเป็นเงินสมทบเพื่อคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร โดยรัฐบาลช่วยสมทบให้อีก 1.5% หรือ 72 บาท

- ส่วนที่ 2 เงินสมทบ 288 บาท หรือ 6% บวกกับเงินสมทบจากรัฐบาลอีก 1% หรือ 88 บาท เป็นเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ

ถึงแม้ว่าประกันสังคมจะมีเวลาให้ 6 เดือนหลังลาออกจากงาน โดยในช่วง 6 เดือนนี้จะยังให้สิทธิการรักษาพยาบาลตามเดิม แต่ขอให้ไปสมัครตั้งแต่เนิ่นๆ ไปทันทีที่มีเวลา เพราะถ้าปล่อยให้เลยเวลาไปแล้วก็จะอดหมดสิทธิสมัคร

วิธีการสมัครง่ายๆ ก็แค่ไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมที่เราสะดวก แต่อย่าลืมพกบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนาไปด้วยจากนั้นก็ไปกรอกแบบฟอร์มขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20) เท่านี้ก็ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนี้เราก็มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราไม่ต้องวุ่นวายอะไรเลย เพราะจะถูกหักจากเงินเดือนก่อนที่เราจะรู้ตัวเสียอีกแต่นับจากนี้เราต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองและห้ามลืมเด็ดขาด เพราะถ้าลืมจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 2% ต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังอาจจะ “สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน” ถ้า...

- ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน(สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)

- ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)

วิธีการนำส่งเงินสมทบก็ไม่ยากเย็นอะไร เพราะมีให้เลือกหลายวิธีแล้วแต่ความสะดวก โดยจะไปจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมที่ไหนก็ได้ ด้วยแบบส่งเงินสมทบฯ (สปส. 1-11)

หรือหลังจากชำระครั้งแรกที่สำนักงานประกันสังคมแล้ว จากนั้นจะไปจ่ายเงินสดที่…

1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

2.ธนาคารกรุงไทย 

3.ธนาคารธนชาต 

4.เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN ทุกสาขา (ค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท) 

5.เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ (ค่าธรรมเนียมรายการละ10 บาท)

แต่ถ้ายังไม่สะดวก หรือกลัวจะหลงๆ ลืมๆ ตามประสาคนงานเยอะ สามารถเลือกหักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคาร6 แห่ง ได้แก่

1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา    

2.ธนาคารกรุงไทย (ค่าธรรมเนียมรายการละ 5 บาท)

3.ธนาคารธนชาต

4.ธนาคารกสิกรไทย

5.ธนาคารไทยพาณิชย์

6.ธนาคารทหารไทย

กรณีหักผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ที่สาขาที่เปิดบัญชี หรือสำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง ยกเว้นสำนักงานใหญ่

เพียงเท่านี้ความคุ้มครองทั้ง 6 กรณีก็จะคงอยู่ไปตลอดจนกว่าลาออกไปเอง หรือกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนตามเดิม ซึ่งจะเข้าไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

แม้จะดูถูกดูแคลนว่า ไปหาหมอประกันสังคมจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง (โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน) แต่เมื่อถึงเวลา “เจ็บหนัก” บอกได้เลยว่าเราจะขอบคุณประกันสังคม และไม่เสียดายเงินที่ต้องจ่ายเดือนละ432 บาท