posttoday

ทำไมเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้

08 พฤศจิกายน 2559

มองคนรอบๆ ตัวเราบางคนมีตำแหน่งสูง เป็นถึงผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการต่างๆ ที่มีเงินเดือนหลักแสนแล้ว

โดย...กันย์ ภาพ   คลังภาพโพสต์ทูเดย์, อีพีเอ

มองคนรอบๆ ตัวเราบางคนมีตำแหน่งสูง เป็นถึงผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการต่างๆ ที่มีเงินเดือนหลักแสนแล้ว แต่ก็ยังคงใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่และมีภาระหนี้สินมากมาย สงสัยกันหรือไม่เหตุใดถึงเป็นแบบนั้น ช่วง 11 ปีแรกของการทำงาน ว่าอะไรที่ทำให้เรายังคงจนอยู่อย่างนั้น แม้ว่าจะมีรายได้ดีก็ตาม

1.พอได้เงินเดือนเพิ่มก็หาภาระมาใส่ตัว

พอเงินเดือนขึ้น ก็หาห้องเช่าใหม่ ดีกว่าเดิม แพงขึ้นอีก พอสิ้นปีโบนัสออกพร้อมปรับเงินเดือน ก็เอาไปดาวน์รถคันที่แพงขึ้น คนเราส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อมีเงินก้อนจากโบนัส หรือเมื่อมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น ก็รู้สึกว่าอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ใช้จ่ายมากขึ้น เข้าภัตตาคารบ่อยขึ้น ซื้อของแบรนด์ดังเกรดดีขึ้น ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็หมด

2.อยู่กับปัจจุบันแต่ไม่มองอนาคต 

หลายคนเวลาเจอปัญหาอะไรยากๆ ก็ไม่อยากแก้ ปล่อยได้ปล่อยไป ถูไถไปวันๆ และนี่คือสูตรแห่งความหายนะเลย เพราะนิสัยนี้จะติดไปสู่เรื่องของการเงินไปด้วย บางทีอยากได้อะไรก็ซื้อๆ หมุนๆ ใช้เงินไปก่อน ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มองภาพรวม มองไม่ออกว่าตอนนี้สถานะการเงินของเราเป็นยังไง เรามีทรัพย์สินเท่าไหร่ หนี้สินเท่าไหร่ เงินสดเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าทุกวันนี้รายได้น้อยกว่ารายจ่ายหรือเปล่า ชักเงินเก็บออกมาอุดทุกเดือนแล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ว่าคุณอายุเท่าไหร่ ต่อให้เพิ่งเรียนจบก็ตาม ต้องมองเห็นภาพแล้วว่า ตอนเกษียณ ตอนที่ไม่มีรายได้หรือไม่ได้ทำงาน เราต้องมีรายได้เท่าไหร่ แล้วรายได้จะมาจากไหน

3.คิดว่าวันนี้ยังไม่ต้องรีบออมเงิน

อีกแป๊บค่อยเริ่มเก็บเงินก็ได้ เราอายุยังน้อย สนุกๆ ไปก่อน เดี๋ยวอีกสักพักค่อยเริ่มมองเรื่องการออมเงินหรือการลงทุน คุณคิดผิดถนัด การเริ่มออมเร็วกว่าคนอื่นแค่ 5 ปี ตอนปลายทางคุณจะมีเงินเก็บต่างกันลิบลับ เพราะด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการเก็บออมเพื่อการลงทุน แต่นิสัยการออมก็เป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องคือถ้าเราอยากได้อะไร เราควรวางแผนตั้งเป้าออมเงินไว้ให้ได้เท่านั้นก่อนค่อยเอาไปซื้อ แบบนี้จะไม่มีภาระแต่ถึงแม้จะซื้อแบบผ่อน ก็สามารถทำให้หนี้นี้เป็นการผ่อนที่ฉลาดได้ เช่น ออมเงินก้อนไปลงทุน แล้วเอาดอกเบี้ยไปผ่อนชำระสินค้า เท่ากับได้ของฟรี และเงินต้นก็ยังอยู่

4.ไม่เคยจดบันทึกเรื่องการใช้เงิน

ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเรารู้แล้ว ก็มีรายได้อยู่แหล่งเดียว (เงินเดือน) แล้วแต่ละเดือนก็มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เรื่องใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่เรื่อง ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าห้อง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าอาหาร หลักๆ ก็แค่นี้ ไม่เห็นต้องจดบันทึกเลย คิดผิดถนัด เพราะบางทีเรื่องเล็กๆ หลายเรื่องรวมกันทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ควรจะประหยัดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ (เพราะมันเล็กๆ น้อยๆ จนไม่รู้ตัว) แล้วสุดท้ายจะพบว่าเงินไปไหนตอบไม่ได้

5.แยกไม่ออกว่าอะไรจำเป็น

ไม่มีเป้าหมายทางการเงิน แยกไม่ได้บางเรื่องเป็นแค่ความอยาก แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น ช่วงนี้รถเสียบ่อยจำเป็นต้องเปลี่ยนแล้วล่ะ มือถือรุ่นใหม่ออกมาจำเป็นต้องเปลี่ยนแล้ว แล้วเป้าหมายทางการเงินล่ะ เกี่ยวอะไรกับข้อนี้ ก็เพราะบางทีคนส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายทางการเงินกันไง ก็ทำให้ไม่มีอะไรฉุดรั้งความคิดเลยว่า อันนี้เอาไว้ก่อนดีกว่า เราต้องกันเงินอีกส่วนไว้ลงทุน อันนี้ยังไม่จำเป็น ยอมลงทุนซ่อมใหญ่ครั้งนึงแล้วใช้ไปได้อีกนานๆ ดีกว่า เคล็ดลับของข้อนี้ก็คือ ถ้าคุณมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน คุณจะสามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวานได้ คุณจะยับยั้งชั่งใจเป็น หลีกเลี่ยงและรอดพ้นจากความต้องการหรือความพึงพอใจระยะสั้นไปได้ คุณจะยอมเสียสละบางอย่าง เพราะมองเป็นเป้าที่อยู่ไกลๆ

6.มีหนี้ไม่รีบใช้

สังเกตใบเสร็จรับเงินค่างวดผ่อนบ้านหรือเปล่า ว่าค่าดอกเบี้ย มันแพงกว่าเงินต้นซะอีก ตราบใดที่ยังมีเงินเดือนอยู่ ก็จะผ่อนชำระไปเรื่อยๆ เวลามีเงินก้อนมา เช่น โบนัส แทนที่จะเอาไปโปะ เอาไปปิด ก็เอาไปซื้อของฟุ้งเฟ้อซะแทน ปล่อยให้ดอกเบี้ยมันกัดกินอยู่นั่นแหละ จำเลยว่า มีเงินก้อนเมื่อไหร่ ให้เอาไปจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อนเสมอ ปิดให้เร็วที่สุด

7.อัพเกรดอุปกรณ์รอบกายตลอดเวลา

บางคนกระเป๋า-เสื้อผ้า-รองเท้า mix & match กันจน เสื้อใหม่รองเท้าไม่มี match รองเท้ามากระเป๋าไม่เข้ากัน กระเป๋ามาดูกระโปรงเพิ่มอีกตัวดีกว่า อุ๊ยแฟชั่นใหม่ออกมาอีกแล้ว อย่างนี้จะเหลือรึ คุณต้องให้ความชอบของคุณมันทำเงินได้บ้าง ไม่ใช่ให้ความชอบทำให้เสียเงินอย่างเดียว ถ้าเราไม่ระมัดระวังละก็จนอยู่ดี