posttoday

เสาชิงช้าในวัดไทย

02 ตุลาคม 2559

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมศิลปากรพาไปชมวัดและพระนครคีรี จ.เพชรบุุรี ที่ตื่นตาตื่นใจ นอกจากเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องน้ำตาล

โดย...ส.สต

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมศิลปากรพาไปชมวัดและพระนครคีรี จ.เพชรบุุรี ที่ตื่นตาตื่นใจ นอกจากเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องน้ำตาลและขนมหวานแล้ว เรื่องโบราณสถาน และศิลปะจังหวัดนี้ ก็หาจังหวัดอื่นเทียบยาก ไม่ต้องกล่าวถึงวัดว่ามีมากเกิน 400 วัดทั้งจังหวัด

วัดที่กรมศิลปากรพาไปชมนั้นแตกต่างจากวัดอื่นๆ คือวัดเพชรพลี ไม่ใช่เป็นวัดที่มีโบราณสถาน แต่เป็นวัดที่สร้างโบราณสถานขึ้นใหม่ คือเสาชิงช้า ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเสาชิงช้านั้น สำหรับประกอบพิธีของพราหมณ์ เช่น โล้ชิงช้า เป็นต้น อันเสาชิงช้านี้มักสร้างคู่กับโบสถพราหมณ์ เช่น ที่หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ก็สร้างคู่กับโบสถ์พราหมณ์ หรือเสาชิงช้าที่ จ.เพชรบุรี ก็สร้างคู่กับโบสถ์พราหมณ์เช่นกัน ทั้งโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้านั้นเป็นสัญลักษณ์ศาสนาฮินดู

แต่วัดเพชรพลี ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 35 ถนนเพชรพลี ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ภาค 15 ฝ่ายมหานิกาย ยอมทุ่มเงิน 3 ล้านบาท สร้างขึ้นมาในวัดทีเดียว เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เพิ่งเป็นพระครูปลัดเมื่อต้นปี กล่าวว่า สถานที่ตั้งวัดนี้มีชุมชนพราหมณ์และโบสถ์พราหมณ์อยู่คู่กัน จึงตกลงสร้างเสาชิงช้า อันเป็นสัญลักษณ์ของพราหมณ์ขึ้นมา

อาณาเขตของวัด ทิศเหนือ จรดที่ดินเอกชน ทิศใต้ จรดถนนเพชรพลี ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จรดที่ดินสาธารณะ มีเนื้อที่จำนวน 7 ไร่ 26 ตารางวา ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 94 ตอน 75 วันที่ 16 ส.ค. 2520

เอกสารที่วัดแจก บอกว่า วัดเพชรพลี เดิมเรียกว่า วัดพริบพรี ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่า จะเป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง เพราะมีชื่อเดียวกับชื่อ จ.เพชรบุรี ซึ่งสมัยก่อนเรียกเมืองเพชรว่า “เมืองพริบพรี” ที่ชาวต่างประเทศเรียกกันมาแต่โบราณ และน่าจะเป็นเทวสถานที่สร้างในสมัยสุโขทัย ที่พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่มายังสุวรรณภูมิ พร้อมๆ กับอีกหลายต่อหลายแห่งในกลุ่มบริเวณนี้ เช่น วัดกำแพงแลง วัดสามพราหมณ์ ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาในสมัยขอม มีเทวาลัย ก่อนจะมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง

วัดเพชรพลีนี้ยังมีชื่อเสียงที่กล่าวถึงสิ่งสำคัญคือ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของศาสนาพราหมณ์ บริเวณเสาชิงช้านี้แต่เดิมเคยเป็นนิคมชาวพราหมณ์ตระกูลพราหมณ์รามราช หรือพราหมณ์เจาะหู อยู่อาศัย จึงมีเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งครั้งก่อนคงมีการประกอบพิธีสำคัญๆ ฝ่ายพราหมณ์ในเมืองเพชรบุรีมาแต่โบราณ เพราะใกล้กับเสาชิงช้า เคยมีโบราณสถาน เรียกว่า โบสถ์พราหมณ์ เป็นหลักฐานอยู่ และยังปรากฏจากหลักฐานในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ กล่าวถึงเรื่องนี้อีก ความว่า

“เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ”

ทั้งนี้ เพราะสุนทรภู่ได้เดินทางมาเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2374 และยังได้มีโอกาสมาเยี่ยมโคตรญาติของท่านที่บ้านประตูไม้ไผ่ เข้าใจว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดเพชรพลี และน่าจะเป็นชุมชนฝ่ายพราหมณ์ด้วย ท่านยังได้บอกเล่าไว้ในนิราศด้วยว่า ขณะนั้นยังมีโบสถ์พราหมณ์กับเสาชิงช้าปรากฏอยู่ แสดงว่าบ้านโคตรญาติของท่านเป็นพราหมณ์และคงอยู่ในละแวกวัดพริบพรี ดังคำกลอนที่ว่า

“เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา”

พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ เมื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรพลี ปัจจุบันได้จัดสร้างเสาชิงช้าขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2550 บัดนี้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ดั้งเดิม

วัดเพชรพลีได้มีเจ้าอาวาสปกครองสืบต่อกัน เท่าที่สืบค้นได้เริ่มตั้งแต่เจ้าอธิการหวาด มาโฆ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. 2433 ถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พ.ศ. 2556  ก็เป็นเวลา 123 ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งอดีตเจ้าอาวาสทุกรูป และเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ สิ่งปลูกสร้าง เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญสุวรรณเจดีย์ และมีการก่อสร้างอาคารเสนาสนะเพิ่มเติม รวมทั้งอาคารวชิรปราสาทขึ้นเป็นที่รวบรวมของเก่า เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งได้เก็บรวบรวมพระพุทธรูปสมัยต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ จัดไว้เป็นหมวดหมู่

วัดนี้ยังมีการส่งเสริมด้านการศึกษาทั้งธรรมและบาลี โดยส่งนักศึกษาเข้าสอบสนามหลวง มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์ตามโครงการของกรมการศาสนา จัดตั้งกองทุนและมอบทุนแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นอกจากนี้มีการแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนและเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทำให้วัดเพชรพลีเป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของชาวพุทธและสาธุชนโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.เพชรบุรี ในด้านโบราณคดี ศิลปศาสตร์ และประวัติศาสตร์

เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันชื่อ พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ (ศุภชัย ชยธมฺโม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่าราบ-ช่องสะแก พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน