posttoday

พี่ใหญ่ในสกุลเงินดิจิทัล บิตคอยน์...ดี หรือ ร้าย

17 กันยายน 2559

ยอมรับตามตรงเลยว่า ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกับ “บิตคอยน์” ก็ยังงงๆ และไม่มั่นใจว่าควรจะนำเสนอเรื่องนี้หรือไม่

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ยอมรับตามตรงเลยว่า ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกับ “บิตคอยน์” ก็ยังงงๆ และไม่มั่นใจว่าควรจะนำเสนอเรื่องนี้หรือไม่ เพราะออกจะนำสมัยเกินไปสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ และเมื่อประเมินจากความรู้สึกคนรอบตัวและข้อมูลในโลกออนไลน์แล้ว เหมือนจะเอนเอียงไปทาง “ร้าย” มากกว่าดีคงเพราะมีทั้งข่าวการฉ้อโกงของเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ และการประกาศไม่รับรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อหลายปีก่อน

แต่ยอมรับอีกทีว่า หลังจากได้ลงมือหาข้อมูลและทำความเข้าใจ “บิตคอยน์” พี่ใหญ่ในสกุลเงินดิจิทัลอย่างจริงจังก็เริ่มจะมองบิตคอยน์ (รวมทั้งเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ) ไปในทางที่ “ดี” มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว เงินดิจิทัลก็ไม่ต่างจาก “รถยนต์” ที่จะดีหรือร้ายก็ขึ้นอยู่กับ “คนขับ”

เหมือนกับที่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กรรมการผู้จัดการ Coins.co.th เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “ตอนที่รถยนต์ออกมาใหม่ๆ คนก็บอกว่าไร้ประโยชน์ ทำให้คนตาย แม้แต่ไฟฟ้า แรกๆ คนก็บอกว่าอันตราย เช่นเดียวกับบิตคอยน์ ที่คนบอกว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับตลาดมืด สำหรับอาชญากร”

“จริงๆ แล้ว บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีกลางๆ ไม่ได้ดี ไม่ได้ร้าย ขึ้นอยู่กับคนนำไปใช้ ถ้าใช้ในด้านที่ดีมันจะเปลี่ยนโลกเราได้” จิรายุส กล่าว

แต่อย่าเพิ่งปักใจเชื่อทั้งหมด เพราะบิตคอยน์ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เพราะฉะนั้นต้องมาชั่งน้ำหนัก เปรียบเทียบกันชัดๆ อีกทีว่าจะเทใจไปทางดีหรือร้ายกันแน่

ข้อดี...มีมาก

1.อยู่ที่ไหนในโลกก็ใช้ได้

เพราะทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์ ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลก ถ้าสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ก็สามารถใช้เงินดิจิทัลได้

ในปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่เปิดรับชำระค่าสินค้าด้วยบิตคอยน์ แม้แต่ Microsoft และ Dell หรือ Overstock ขณะที่ในประเทศไทยก็มีหลายรายการที่สามารถชำระได้ด้วยบิตคอยน์ โดยทำรายการผ่าน Coins.co.th

นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าทั่วโลกอีก 8,174 ร้านค้า ที่รับชำระด้วยบิตคอยน์ แม้ว่าจะกระจุกตัวอยู่ในยุโรปและอเมริกา แต่ในไทยก็มีร้านค้ารับบิตคอยน์ 30 แห่ง (ตรวจสอบร้านค้าได้ที่ CoinMap.org) และเชื่อได้เลยว่าในอนาคตจะมีร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.ค่าธรรมเนียมน้อยนิด

ประโยชน์ที่โดดเด่นมากที่สุดของบิตคอยน์ในทุกวันนี้ คือ การโอนเงินระหว่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินน้อยมาก โดยค่าใช้จ่ายประมาณ 1-3% ของมูลค่าการโอนในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมโอนเงินในรูปแบบอื่นๆ

3.ทำรายการง่ายแค่ปลายนิ้ว

เมื่อก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบัน การโอนเงินระหว่างประเทศจะมีขั้นตอนและกระบวนการที่ยุ่งยาก ใช้เวลานานหลายวันกว่าที่คนปลายทางจะได้รับเงิน แต่ถ้าเป็นการโอนด้วยบิตคอยน์จะใช้เวลาเป็นนาทีเท่านั้น

จิรายุส บอกว่า “เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว โอนเงินไปให้น้องสาวที่อังกฤษ ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น” ทำให้เขาไม่คิดจะใช้การโอนเงินในรูปแบบอื่นๆ อีกเลย พร้อมกับเปรียบเทียบว่า “ถ้าลองได้
ขับรถแล้วจะไม่กลับไปขี่ม้าอีก”

นอกจากนี้ ยังสามารถทำรายการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมการเงินทางอินเทอร์เน็ตอื่นๆ และใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคาร เพียงแค่ต้องมี “กระเป๋าเงิน” หรือ Bitcoin Wallet (ซึ่งในไทยเริ่มมีบริการแล้ว)

4.ไม่ถูกควบคุมจากรัฐบาล

เพราะบิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก จึงไม่มีรัฐบาลใดในโลกนี้สามารถเข้าไปควบคุมหรือแทรกแซงค่าเงินได้ จนทำให้มีคนเรียกว่า นี่คือ “สกุลเงินของประชาชน” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร

5.ปลอดภัยด้วย Blockchain

เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์ คือ Blockchain ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง ไม่มีใครเป็นตัวกลาง

เพราะการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain จะเก็บในรูปแบบของกล่องข้อมูล (Block) และนำมาเรียงต่อกันเป็นห่วงโซ่ (Chain) โดยให้ทุกคนในเครือข่ายคอมพิวเตอร์บันทึกรายการที่เกิดขึ้นลงไปในบัญชีให้เหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้บันทึกลงไปแล้วได้

และหากใครสักคนต้องการจะเข้าไปจารกรรมข้อมูล จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังมหาศาลมาก ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะไม่มีใครทำได้

แม้ว่าก่อนหน้านี้อาจจะมีข่าวการฉ้อโกง หรือจารกรรมออนไลน์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงการขโมยเงินจาก “ผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน” ไม่ใช่ตัว “บิตคอยน์”

เรื่องร้าย...มีไม่น้อย

1.ยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการ

แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศจะตื่นตัวต่อการมาของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ แต่ก็มีทั้งในมุมที่ยอมรับและไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยังยอมรับให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นการทำธุรกิจของ FinTech ในด้านนี้

แต่ถ้าดูจากปริมาณการใช้บิตคอยน์และการพัฒนาในโลกดิจิทัล คงบอกได้ว่า แม้ทางการจะไม่ยอมรับแต่ก็มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ต้อง “รับผิดชอบ” ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง

2.ราคาผันผวนสูง

อย่างที่เห็นภาพความคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์เทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะรู้เลยว่าราคาค่อนข้างผันผวน คงเพราะยังเป็นของใหม่ แต่ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ราคาจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และค่อนข้างนิ่งอยู่แถวๆ 2 หมื่นบาท/บิตคอยน์ มาสักระยะหนึ่งแล้ว

3.มิจฉาชีพจ้องเล่นงาน

เมื่อต้นปีมีข่าวใหญ่โตในแวดวงเงินดิจิทัลว่า Bitstamp ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ขนาดใหญ่ถูกเจาะระบบขโมยบิตคอยน์ไปได้ถึง 1.9 หมื่นบิตคอยน์ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 165 ล้านบาท และพอเข้ากลางปี Bitfinex ตลาดแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ของฮ่องกงถูกแฮ็กเงินไปกว่า 1.19 แสนบิตคอยน์ หรือประมาณ 2,276 ล้านบาท จนทำให้ราคาบิตคอยน์ในตลาดร่วมจาก 2.3 หมื่นบาท เหลือ 1.9 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นธรรมดาของมิจฉาชีพที่พยายามหาช่องโหว่ทางเทคโนโลยีเข้ามาหาประโยชน์จาก “คนไม่รู้” เพราะฉะนั้น บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เอามาใช้หลอกลวงประชาชนที่หวังจะได้ผลตอบแทนสูงๆ จากสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร

ไม่ว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ที่ใช้เงินดิจิทัลเป็นสินค้า หรือหลอกให้ลงทุนทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล แล้วปิดเว็บไซต์เชิดเงินไปต่อหน้าต่อตา

4.ตลาดสีเทา

เพราะธุรกรรมของบิตคอยน์ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการโอนเงินที่ไม่อยากเปิดเผยของเหล่าอาชญากร จนทำให้บิตคอยน์กลายเป็น “สีเทาๆ” ไปด้วย แต่หากมีระบบการตรวจสอบข้อมูลคนทำธุรกรรมอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับการเปิดบัญชีธนาคารก็น่าจะลดปัญหานี้ไปได้

เมื่อได้รับข้อมูลทั้งด้านดีและร้ายแล้ว คงต้องถึงเวลาตัดสินใจกันเองแล้วล่ะว่า บิตคอยน์ ดี หรือ ร้าย