posttoday

นาฬิกาหรู... มายาคติของนักลงทุน นักสะสมที่แท้ขอแค่ ไม่ขาดทุน!

25 มิถุนายน 2559

ก่อนจะเดินเข้าไปในงาน “CIMB THAI Investment Passion : Watches Worth Investing” ที่จัดโดย

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

ก่อนจะเดินเข้าไปในงาน “CIMB THAI Investment Passion : Watches Worth Investing” ที่จัดโดย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งใจเต็มที่ว่า จะต้องมีวิธีทำกำไรจากการลงทุนนาฬิกาหรูแน่นอน เพราะอย่างที่เคยได้ยินกันมาว่า “นาฬิกาหรู” เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าลงทุน

แม้แต่มหาเศรษฐีระดับโลกยังจัดให้นาฬิกาหรูเป็นหนึ่งในของสะสมเพื่อการลงทุน โดยข้อมูลล่าสุดจาก The Wealth Report 2016 โดย ไนท์แฟรงค์ ชี้ว่า ในพอร์ตของสะสมเพื่อการลงทุนของมหาเศรษฐีของโลกมีนาฬิกาอยู่ถึง 36% ซึ่งนอกจากจะเป็น “สัญลักษณ์แสดงฐานะ” แล้ว ยังคาดหมายว่า จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ทางการเงิน

แต่ความหวังที่จะกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการลงทุนนาฬิกาต้องหายวับไปทันทีที่ กฤษณ์ จันทโนทก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต ซึ่งรู้กันในหมู่นักสะสมว่า เขาคือ “ตัวจริง” บอกว่า “นาฬิกา กับการลงทุน มันเป็นมายาคติมากๆ คนส่วนใหญ่มักเชื่อกันว่า ซื้อ Patek Philippe แล้วจะกำไร ซึ่งมันอาจจะไม่จริงก็ได้”

นอกจากนี้ การลงทุนนาฬิกายังมีกับดักทางการเงินสูงมาก ไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้น “... เพราะเมื่อไรที่มีคนบอกว่า หุ้นตัวนี้ดีและเราเข้าไปซื้อตาม แปลว่า เราได้กลายเป็นแมลงเม่าไปแล้ว” กฤษณ์ กล่าว

แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสกำไรจากการลงทุนนาฬิกา

นาฬิกาหรู... กับดักทางการเงิน?

แต่ก่อนที่จะเข้าเรื่องการลงทุนในนาฬิกา กฤษณ์ ออกตัวไว้ว่า สิ่งที่เขาบอกนี้ทั้งหมดเป็น “มุมมองส่วนตัว” ซึ่ง “บางอย่างคนอื่นมองว่าไม่ดี ผมอาจจะมองดี ขณะที่คนอื่นมองว่าดี ผมอาจจะมองไม่ดีก็ได้” เพราะฉะนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลกันพอสมควร

คำถามที่สำคัญที่สุด และน่าจะต้องรู้เอาไว้ก่อนที่คิดจะกระโดดเข้ามาร่วมวง “นาฬิกาหรู” คือ “การสะสมนาฬิกาเป็นกับดักทางการเงิน... จริงหรือไม่”

กฤษณ์ ไม่ได้ฟันธง แต่บอกให้งงๆ ว่า มีทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่”

“ใช่ ถ้าซื้อโดยปราศจากทิศทางที่ชัดเจน หาข้อมูลมาไม่ดีพอ และ/หรือขาดความสามารถในการชั่งใจระหว่างความชอบส่วนตัว กับความต้องการของตลาดในปัจจุบันและในอนาคต”

“ไม่ใช่ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง และรู้ถึงความต้องการในคอลเลกชั่นของตัวเอง และได้ครอบครองเรือนที่มีความพิเศษ หายาก เมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้ากับความต้องการ ซึ่งต้องอาศัยทักษะจากการเรียนรู้”

อย่างไรก็ตาม กฤษณ์ บอกอีกว่า “แต่ถ้าซื้อตามความต้องการของตัวเอง ประเด็นเรื่องการลงทุนก็ไม่ต้องพูดถึง”

คำตอบของกฤษณ์ ยังพอทำให้มีความหวังกับการลงทุนนาฬิกาอยู่บ้าง และเพื่อตอกย้ำให้ชื่นใจขึ้นมาอีกหน่อย กฤษณ์ บอกว่า “นาฬิกามือสองและนาฬิกาโบราณ ถือเป็นแหล่งทำกำไร แต่จะต้องเป็นเรือนที่ใช่ และราคาที่เหมาะสมด้วย”

แต่ก็เตือนให้ระวังกันไว้ด้วยว่า นาฬิกาก็คล้ายกับรถยนต์ คือ โดยทั่วไปแล้วราคาจะลดลงไปตามกาลเวลา โดยทันทีที่นาฬิกาใหม่ออกจากร้าน ราคาจะลดลงทันทีประมาณ 30-60% ของราคาที่ซื้อมา

นาฬิกาหรู... มายาคติของนักลงทุน นักสะสมที่แท้ขอแค่ ไม่ขาดทุน!

 

“นาฬิกาที่ซื้อมาใหม่ราคาจะลดลงทันที โดยแต่ละแบรนด์จะมีความรุนแรงในการลดลงต่างกัน โดยรุ่นที่มีความต้องการซื้อสูงก็อาจจะลดลงเพียง 30% แต่ถ้าเป็นแบรนด์ที่ไม่มีความต้องการซื้อมากนักก็อาจจะลดลงไปได้ถึง 60% ซึ่งนาฬิกาในกลุ่มนี้มักจะมีการเปลี่ยนมือกันในกลุ่มนักสะสมมากกว่าการลงทุน”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้โอกาสในการทำกำไรจากนาฬิกาใหม่กลายเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

กฤษณ์ เล่าประสบการณ์ที่เขาทำกำไรได้ถึงเท่าตัวจากนาฬิกาใหม่ว่า “เมื่อปี 2548-2549 ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ซึ่งในเวลานั้นคนไทยอยากได้ Patek Philippe Nautilus 3712 เพราะมีกระแสว่ากำลังจะเลิกผลิต ตอนผมกลับจากเกาหลีซื้อจากดิวตี้ฟรีราคา 6.8 แสนบาท และกลับมาขายในไทยได้ทันที 1.2 ล้านบาท”

แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุน หรือคนเก็งกำไร ในขณะนั้นต้องน้ำตาตก คือ หลังจากนั้นก็เลิกผลิตรุ่นนี้จริงๆ แต่เปลี่ยนมาผลิต Patek Philippe Nautilus 5712 ที่แทบจะแยกความต่างกันไม่ออก ทำให้คนที่เก็งกำไร 3712 เสียหายไป และในปัจจุบัน 5712 ราคามือสองอยู่ราวๆ 1 ล้านบาทนิดๆ เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ การลงทุนนาฬิกาที่คิดว่ากำไร จริงๆ แล้วอาจจะไม่กำไรก็ได้เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น

กฤษณ์ เล่าว่า เมื่อปี 2548 เขาซื้อ Patek Philippe 5070 ที่ยังไม่ได้แกะออกจากซองในราคา 1.2 ล้านบาท ซึ่งหากไปดูราคาประมูลในตลาดโลกเมื่อปี 2558 ราคาขึ้นไปถึง 2.4 ล้านบาท หรือกำไรเท่าตัวในระยะเวลา 10 ปี

“ถ้าในมุมการลงทุน ถามว่า กรณีนี้กำไรหรือไม่ อาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่กำไรก็ได้ เพราะถ้านำเงิน 1.2 ล้านบาท เมื่อปี 2548 ไปลงทุนในหุ้น ตอนนี้อาจจะมีมูลค่าถึง 5 ล้านบาทแล้วก็ได้”

ทำให้กฤษณ์เตือนคนที่จะลงทุนนาฬิกาอีกครั้งว่า “นักลงทุนมีโอกาสกำไร แต่ไม่ง่าย ต้องฟลุกจริงๆ หรือไม่ก็ต้องรอเวลานานๆ”

เริ่มต้นจากความเข้าใจ

อย่างที่กฤษณ์บอกไว้แล้วว่า ถ้าจะทำให้การลงทุนนาฬิกาไม่เป็นกับดักทางการเงิน ก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยทักษะจากการเรียนรู้

และถ้าคิดจะเริ่มสะสมอย่างจริงจัง กฤษณ์ แนะนำว่า อย่างแรกที่ต้องทำ คือ “กำหนดงบประมาณ” หรือกฎในการลงทุนของตัวเองเอาไว้ เช่น เงื่อนไขและจังหวะในการซื้อขาย โดยต้องเป็นกฎที่สามารถปฏิบัติตามได้

นอกจากนี้ ยังต้องจำกัดจำนวนในการสะสม เช่น จะซื้อเพิ่มเมื่อพร้อมที่จะปล่อยเรือนที่มีอยู่ออกไป

“สาเหตุที่ต้องตั้งงบประมาณ หรือกฎในการลงทุน เพราะการซื้อของสะสมแบบนี้มีโอกาสเลยเถิดได้ง่าย ซึ่งผมมีสินทรัพย์ที่เป็นของสะสมอยู่ประมาณ 80% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ทางเลือก” นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเขายังสามารถทำกำไรจากของสะสมเหล่านี้ได้ปีละประมาณ 20%

ถัดมาต้องรู้จักตัวเองว่า “ซื้อนาฬิกามาเพื่ออะไร” เพื่อเก็บสะสม เพื่อลงทุน เพื่อขาย หรือเพื่อสวมใส่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด “ทางเลือก” ว่า จะซื้อของใหม่ ซื้อของมือสอง ซื้อทั้งสองอย่าง หรือซื้อของค้างสต๊อก

“ต้องตอบให้ได้ว่า ตัวเองเป็นแบบไหน เป็นนักสะสม เป็นพ่อค้า หรือเป็นนักลงทุน เพราะเมื่อบอกตัวเองได้จะรู้ว่าจะซื้อมาเพื่ออะไร และควรจะซื้อแบบไหน”

นักสะสม : จะไม่สนใจว่า ราคาขายต่อจะเป็นเท่าไร

พ่อค้า : จะรู้จักทุกรุ่น รู้ราคาตลาด แต่ไม่สามารถซื้อของใหม่ได้ เพราะซื้อของมือหนึ่งมีแต่จะขาดทุน

นักลงทุน : ซื้อมาแล้วจะเก็บอย่างดี โดยจะซื้อของที่ “คนคิดว่ามีมูลค่า” และหาโอกาสขาย

นอกจากนี้ หากคิดจะเริ่มสะสมนาฬิกาก็จะเป็นต้อง “มีสังคม” โดยต้องติดต่อ พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักสะสมคนอื่นๆ อยู่เสมอ รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะในโลกออนไลน์มีสังคมของนักสะสมนาฬิกาอยู่มาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และอีกข้อหนึ่งที่นักสะสมจะต้องรู้และเตรียมใจ คือ นาฬิกาหรูจะมีต้นทุนในการดูแลสูงมาก โดยเฉพาะนาฬิกาประเภท Complication

“ค่าล้างเครื่องอย่างเดียวก็ 2 แสนบาทแล้ว หรือค่าซ่อม Patek Philippe ที่มีระบบ Minute Repeater อาจจะเท่ากับราคารถสปอร์ตได้ 1 คัน ตอนนี้ผมลดจำนวนการถือครองนาฬิกาลง เพราะไม่อยากขายบ้านมาซ่อมนาฬิกา” กฤษณ์ เปรียบเทียบ

แนวทางการสะสม

ถ้าคิดจะเป็นนักสะสม กฤษณ์ บอกว่า มีแนวทางในการสร้างคอลเลกชั่นอยู่ 4 แนวทาง

1.สะสมตามแบรนด์ หรือยี่ห้อ การเก็บแบบนี้จะเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด โดยอาจจะเริ่มจากแบรนด์ที่ชอบ เช่น Rolex Omega Patek Philippe และเก็บทุกรุ่นในแบรนด์นั้น

2.สะสมตามการออกแบบ หรือรูปแบบ เช่น สะสมตามประเภทหลัก เช่น Dress Sport Design หรือประเภทรอง เช่น แบบนักบิน หรือแบบนักดำน้ำ ซึ่งเป็นการสะสมที่ไม่ยากนัก

3.สะสมตามความซับซ้อน กฤษณ์ บอกว่า การสะสมในแนวทางนี้อาจจะต้องใช้เงินทุนมากหน่อย แต่เป็นแนวทางที่นักสะสมตัวจริงนิยมเก็บกัน เช่น การสะสมรุ่นที่มีระบบ Tourbillion การตีบอกเวลาด้วยเสียง ระบบปฏิทินเปลี่ยนวันที่อัตโนมัติ แบบแยกวินาที และการจับเวลา

4.สะสมตามช่วงเวลาและยุคสมัย การสะสมแนวทางนี้เป็นการสะสมนาฬิกาโบราณ ซึ่งมีหลายยุคหลายสมัย เช่น ยุคศิลปะอาร์ตนูโว ยุค 60-70 ยุคที่มีการออกแบบแนวอวกาศ หรือการออกแบบที่เน้นไปที่การแข่งขันความเร็ว

สำหรับนักสะสมมือใหม่ที่มีเงินทุนไม่มาก กฤษณ์ บอกว่า แนวทางนี้น่าสนใจ เพียงแต่ต้องศึกษาให้มาก ซึ่งในช่วงเริ่มสะสมเขาเองก็มาในแนวทางนี้ เพราะนอกจากจะสนุกที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว เขายังทำกำไรได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กฤษณ์ยังแนะนำอีกด้วยว่า “จะซื้อนาฬิกามือสองอย่างไร” โดยเขาให้ความสำคัญกับ 6 ข้อต่อไปนี้ คือ

1.แบรนด์ ความซับซ้อน สภาพ และเรื่องราวของนาฬิกาเรือนนั้น

“ผู้ผลิตมีความสำคัญมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าปั๊มตรา Patek Philippe แล้วจะได้ราคาดีทั้งหมด ก็ไม่จริง ขณะที่เรื่องราวความเป็นมา ใครเคยเป็นเจ้าของ จะมีผลต่อราคาด้วย เพราะถ้าคนมีชื่อเสียงเคยเป็นเจ้าของจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นด้วย”

2.ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย คุณภาพ และเงื่อนไขของสินค้า

3.กล่องและเอกสารรับประกันเป็นสิ่งสำคัญ

4.การประมูลนาฬิกาควรเป็นทางเลือกท้ายๆ นอกจากมีประสบการณ์

“ถ้าดูไม่เป็น ไม่เชียร์ให้ไปประมูล เพราะหากเป็นนาฬิกาที่ผ่านการซ่อมมาแล้ว หรือสภาพไม่สมบูรณ์ นักสะสมจะไม่สนใจ ซึ่งในตลาดแบบนี้ก็เหมือนตลาดหุ้นที่มีทั้งแมลงเม่า และแก๊ง 4 โมงเย็น”

5.นาฬิกาที่มีราคาสูงควรจะซื้อจากคนรู้จัก

6.ถ้าซื้อทางออนไลน์ ควรตรวจสอบ อ่านกระทู้ หรือข้อคิดเห็นที่น่าเชื่อถือ และเวลาซื้อต้องซื้อกับตัวบุคคล

สมการลงทุนของกฤษณ์

คงเหมือนเวลาที่ไปฟังสัมมนาเรื่องการลงทุนในหุ้น ที่เรามักจะรอฟัง “โพยหุ้น” แบบรายตัว จากนักวิเคราะห์ แต่ในวันนั้น กฤษณ์ไม่ได้ให้ “โพยนาฬิกา” แต่ให้ “สมการลงทุนนาฬิกา” ซึ่งเขาย้ำนักหนาว่า นี่คือ “ความเห็นส่วนตัว”

กฤษณ์ แบ่งนาฬิกาออกเป็น 6 กลุ่มแบรนด์ และ 6 ประเภท ซึ่งเมื่อจับคู่แบรนด์กับประเภทแล้ว จะได้ออกมาเป็นสภาพคล่องและโอกาสกำไร (รายละเอียดในกราฟฟิกประกอบ) ซึ่งช่วยให้เลือกซื้อได้ตามแนวทางที่เหมาะกับแต่ละคน

แต่สำหรับกฤษณ์และนักสะสมตัวจริง เขาบอกว่า “ถ้าซื้อมาแล้วขายต่อไม่ขาดทุน ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะขอแค่ราคาปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเงินเฟ้อก็พอใจ... การไม่ขาดทุนและกำไรใช้ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด”