posttoday

แนวคิดอย่างง่ายเพื่อจัดสรรเงินลงทุนในตราสารทุนตามอายุของนักลงทุน

11 กรกฎาคม 2562

โดย...พิชญ ฉัตรพลรักษ์ กองทุนบัวหลวง

โดย...พิชญ ฉัตรพลรักษ์ กองทุนบัวหลวง

นักลงทุน 2 คนที่มีเป้าหมายการลงทุนอย่างเดียวกัน อาจจะจัดสรรเงินลงทุนที่แตกต่างกันได้ คนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง มักจะจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งได้แก่ ตราสารทุน ในสัดส่วนที่มากกว่า

ส่วนคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า มักจะจัดสรรเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าในสัดส่วนที่มากกว่า ส่วนในด้านระยะเวลาในการลงทุนนั้น นักลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนสั้นๆ มักจะจัดสรรเงินลงทุนค่อนไปในทางตราสารหนี้มากกว่านักลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนยาวกว่า

สำหรับเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวนั้น นอกจากการยอมรับความเสี่ยงและทัศนคติที่มีต่อความเสี่ยงของนักลงทุนแล้ว ปัจจัยอายุของนักลงทุนเองก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยหลักการพื้นฐานของการจัดสรรเงินลงทุน ความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอจะถูกปรับลดลงเมื่ออายุของนักลงทุนมีมากขึ้น

แนวคิดอย่างง่ายเพื่อจัดสรรเงินลงทุนในตราสารทุนตามอายุของนักลงทุน

ดังนั้น จะมีแนวคิดใดบ้างที่นักลงทุนพอจะนำมาเป็นแนวคิด เพื่อให้เห็นภาพการแบ่งสัดส่วนการลงทุน ระหว่างตราสารทุนและตราสารหนี้แบบเบื้องต้นตามอายุการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปในเบื้องต้น โดยไม่ต้องใช้วิธีการคำนวณที่เข้าใจยากและซับซ้อนเกินไป เรามาติดตามกัน

แนวคิดอย่างง่าย หรือที่เรียกกันว่า กฎหัวแม่มือ (Rule of Thumb) แนะนำไว้ว่า ให้นำตัวเลข 100 ลบออกด้วยอายุปัจจุบันของนักลงทุน ก็จะได้สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนอายุ 25 ปี ควรมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน คือ 75% (100-25) นักลงทุนอายุ 50 ปี ควรมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน คือ 50% (100-50)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวนำมาใช้กันนานหลายปีแล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น โลกาภิวัฒน์ ระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงของตลาดมีมากขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ มีความเคลื่อนไหว (หรือมีค่าสหสัมพันธ์) กันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา และทำให้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงลดลง

ในด้านตราสารหนี้ ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนต่ำและความผันผวนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตช้าลง อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในอดีต

นอกจากนี้ อายุคาดเฉลี่ยประชากรไทยปรับเพิ่มขึ้นจากในอดีต และมีแนวโน้มเป็นไปตามประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้น เนื่องจากความรู้และการศึกษา การแพทย์ ยา และการสาธารณสุขดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายในระยะยาวมีสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงมีผู้เสนอแนวคิดให้ปรับเพิ่มตัวเลขจาก 100 เป็น 110 หรือถึง 120

นอกจากปัจจัยเรื่องอายุแล้ว ปัจจัยเรื่องเพศชายและหญิงก็ทำให้การจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนตามอายุในระยะยาวแตกต่างกันได้ เนื่องจากคาดว่า อายุเฉลี่ยประชากรหญิงของไทยมีอายุยืนกว่าเพศชายโดยเฉลี่ยประมาณ 7 ปี (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2556; สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2548-2549)

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวคิดอย่างง่ายในการปรับสัดส่วนการลงทุนตามอายุของนักลงทุนดังกล่าวแล้ว การจัดสรรเงินลงทุนยังต้องยึดหลักการรักษาเงินลงทุน (Capital Preservation) และการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ (Valuation) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดสรรเงินลงทุนไว้ด้วยเสมอ และอยู่ในตลาด (Stay Invested) เพื่อให้การจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาวตามอายุนักลงทุนได้ผลดีอีกด้วย