posttoday

รู้ทันลงทุน : ก.ล.ต.ตามติดสินทรัพย์ดิจิทัล

27 มิถุนายน 2562

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

ก.ล.ต. ตามติดสินทรัพย์ดิจิทัล

โดย...ปริย เตชะมวลไววิทย์

ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.ล.ต.

................................................

 

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ผมขอมาอัพเดทสถานการณ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ทราบกันหน่อยนะครับ

อย่างแรกเลย คือ การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาเตือนประชาชนเป็นระยะ ๆ ให้ระวังจะถูกหลอกโดยอ้างสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเราพบกรณีที่มีคนนำคริปโทเคอร์เรนซีหรือเหรียญต่าง ๆ มาเป็นตัวชูโรงในการหลอกลวงคนไปลงทุน ซึ่งที่จริงไม่ได้มีการลงทุนใด ๆ แต่เป็นแชร์ลูกโซ่ธรรมดาที่เพียงเปลี่ยนเรื่องจูงใจมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้นครับ เช่น อ้างว่ามาร่วมกันลงทุนเพื่อขุดเหรียญต่าง ๆ หรือเทรดทำกำไร แล้วจะแบ่งผลตอบแทนต่อวันสูงเท่านั้นเท่านี้ให้

เวลาเราออกมาเตือนแต่ละครั้ง ก็จะมีคนมาแย้งเพราะเขาบอกว่ายังได้กำไรอยู่เลย จะจริงอย่างที่ ก.ล.ต. เตือนได้อย่างไร

เรื่องนี้ต้องย้ำว่า อะไรที่ดูดีเกินจริง เช่น สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงมากหรือรับประกันผลตอบแทน ก็มีโอกาสที่จะเกินจริงและทำท่านเสียหายได้ง่าย ๆ นะครับ ต้องฝากเตือนทั้งตัวเองและญาติพี่น้องเพื่อนฝูงให้ระมัดระวังกันด้วยครับ เพราะถ้าเสียเงินไปแล้วคงไม่สามารถตามกลับมาได้ง่าย ๆ ผมว่าเราระมัดระวังและพิจารณาด้วยเหตุผลอย่างรอบคอบก่อนจะลงทุนดีกว่าครับ

ทั้งนี้ หากท่านคิดว่ารับความเสี่ยงได้และอยากจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจริง ๆ ก็ขอให้ลงทุนกับผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องนะครับ สามารถดูรายชื่อได้บนเว็บ ก.ล.ต. www.sec.or.th/digitalasset และ เสี่ยงสูง.com

เรื่องแชร์ลูกโซ่ หรือการหลอกลวงต่าง ๆ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ดังนั้น เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตอนนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

อีกทั้งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เพื่อทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย การป้องปรามการกระทำผิด และการให้ความรู้แก่ประชาชน มีประสิทธิภาพและกระจายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายให้คนในกว้างได้

นอกจากเรื่องการหลอกลวงต่าง ๆ แล้ว หลายท่านสอบถามมาว่าการดำเนินการของ ก.ล.ต. เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ระยะหลังนี้มีอะไรอัพเดทไหม เลยขอถือโอกาสเล่าให้ฟังว่า การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและออกกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องนะครับ เช่น การเพิ่มมาตรฐานการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคุณสมบัติกรรมการ ผู้บริหาร และการคำนวณเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนฝั่งไอซีโอนั้นก็มีการ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้รองรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อบุคคลในวงจำกัดเพื่อให้มีกลไกดูแลผู้ลงทุน อย่างเป็นธรรมโดยไม่สร้างภาระเกินจำเป็นต่อผู้เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่าการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีส่วนใดหยุดชะงักไป แต่ที่จะดูนิ่ง ๆ ช่วงนี้อาจจะมาจากสองสาเหตุ อันแรกคือ ขณะนี้ยังไม่มีไอซีโอพอร์ทัลที่เริ่มประกอบธุรกิจ ถึงแม้ว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะให้ความเห็นชอบไปแล้วหลายราย เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ไอซีโอพอร์ทัลเหล่านี้ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การเข้ารับการประเมินความพร้อมของระบบงานโดยทีมของ ก.ล.ต. ก่อนเริ่มให้บริการจริง

ต้องเรียนว่าเรื่องนี้ก็เป็นกระบวนการทำงานตามปกติสำหรับทั้งผู้ให้บริการด้านหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนะครับ อดใจรอกันอีกหน่อยครับ ที่เราต้องให้ความสำคัญเพราะไอซีโอพอร์ทัลมีบทบาทสำคัญในกระบวนการระดมทุนไอซีโอ เพราะจะมีหน้าที่กลั่นกรองโครงการต่าง ๆ ก่อนมายื่นขออนุญาตต่อ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ผมทราบมาว่า พอร์ทัลเหล่านี้มีโปรเจกต์ไอซีโอ อยู่ในมือแล้ว หากเริ่มประกอบธุรกิจแล้ว ฟันเฟืองเรื่องไอซีโอภายใต้กฎหมายไทยก็จะพร้อมเดินหน้าได้ครับ

ส่วนเหตุอีกด้าน คือ พัฒนาการที่รวดเร็วในเรื่องนี้ จากเดิมที่พูดถึงไอซีโอกันมาก แต่ระยะหลังคนเริ่มหันไปพูดถึง เอสทีโอ (STO - Security Token Offering) ซึ่งก็คือการเสนอขายหลักทรัพย์ เช่น การออกหุ้นหรือหุ้นกู้ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในกระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ นั่นเองครับ

ที่ผ่านมามีผู้สอบถาม ก.ล.ต. กันเข้ามาพอสมควรเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นเอสทีโอเกิดขึ้นจริงในตลาดทุนไทย และมีภาคเอกชนเข้ามาเสนอความคิดเห็นและแสดงความสนใจที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องเอสทีโอกันอยู่หลายราย ต้องเรียนว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือในประเด็นกฎหมาย

ต้องย้ำว่าการสร้างโอกาสในการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นประเด็นที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถใช้ตลาดทุนไทยตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศในฐานะตลาดทุน ที่ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่อย่างแท้จริง ซึ่ง ก.ล.ต. จะพยายามขจัดอุปสรรค ส่งเสริม และปรับตัวเพื่อรองรับอย่างเต็มความสามารถครับ

หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือแนวคิดใดที่น่าสนใจ สามารถเข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. ได้ตลอดเลยนะครับ