posttoday

นโยบายของเฟดที่ไม่มีความแน่นอน

24 มิถุนายน 2562

ในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่าน เฟดได้ปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยไปมาก มีความไม่แน่นอนสูง จากที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุดจะมาปรับลดลง เป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องติดตามและประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด

ในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่าน เฟดได้ปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยไปมาก มีความไม่แน่นอนสูง จากที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุดจะมาปรับลดลง เป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องติดตามและประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด

*************************

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

หากย้อนไปเพียง 6 เดือนก่อนช่วงธันวาคม 2561 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีท่าทีที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 2-3 ครั้งในปี 2019 แต่ภายในต้นปี 2019 เฟดก็ได้มีการสื่อสารอีกว่ายังไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จะดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ประจวบเหมาะกับช่วงที่การเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความคืบหน้าในทางบวก ตลาดหุ้นทั่วโลกจึงพลิกฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เดือนมีนาคมเฟดกลับลำส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากสงครามการค้า สร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 2 ไตรมาส ตลาดตราสารหนี้ให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและธันวาคมซึ่งต่างจากการคาดการณ์เมื่อต้นปีอย่างสิ้นเชิง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2019 แต่การจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้อีกมากน้อยแค่ไหนและนานเพียงใด ขึ้นอยู่กับการประนีประนอมการค้าและตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ในเมื่อนายโพเวล ประธานเฟดเริ่มหันมาเปิดช่องให้สามารถสนับสนุนการลดดอกเบี้ยและมีสมาชิกเฟดอีกหลายท่านออกมาสนับสนุนเช่นกัน โอกาสต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนมาพุ่งกระโดดขึ้นถึง 94.4% (ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2019) จาก เพียง 7.9% เมื่อปลายเดือนมกราคม

หนึ่งในปัจจัยที่เฟดพิจารณาการลดดอกเบี้ยในระยะนี้ เกิดจากเศรษฐกิจหลักของโลกอยู่ในช่วงท้ายของการขยายตัว ราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นแรง สภาพคล่องในตลาดมีเพียงคงที่หรือลดลง ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายทั้งในและระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรที่พร้อมจะขับเคลื่อนสหรัฐฯให้เข้าใกล้หรือถอยห่างออกจากภาวะถดถอยได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากจุดสูงที่มากกว่า 3% ในไตรมาส 4 ปี 2018 สู่ปัจจุบันที่ระดับ 2.0% เห็นได้ว่าในระยะเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาท่าทีของเฟดได้เปลี่ยนไปมากและมีความไม่แน่นอนสูง โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงโดยเฉพาะช่วงการประชุมในเดือนกันยายนเป็นต้นไป ก็ยังไม่แน่นอนเสมอไป จากบทเรียนสำคัญที่ผ่านมาในครึ่งแรกของปีนี้ นักลงทุนอาจเห็นเฟดปรับเปลี่ยนนโยบายฉับพลันหันกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ก็เป็นได้

ดังนั้น สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงจะมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงขึ้นจากการตีมูลค่าตามตลาดรายวัน ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเสถียรให้กับพอร์ตและหลบหลีกความเสี่ยงเหล่านี้ ทาง KBank Private Banking จึงได้แนะนำให้ลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูงเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยลงหรือใช้เครื่องมือทางการเงินให้มีโอกาสที่จะติดลบน้อยลงด้วย เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด กองทุนการันตีเงินต้น กองทุนคอมเพล็กซ์ ต่างๆ ที่ไม่มีสภาพคล่องในระยะเวลา 3 ปี แต่มีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาในตลาดน้อยกว่ากองทุนทั่วไป