posttoday

Retraining และ Reskilling ทางรอดของแรงงานยุค 4.0

14 พฤษภาคม 2562

แรงงานทุกสาขาอาชีพหนีไม่พ้น การเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ดังนั้นการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญของแรงงานยุค 4.0

แรงงานทุกสาขาอาชีพหนีไม่พ้น การเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ดังนั้นการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญของแรงงานยุค 4.0

************************

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

การพัฒนาคนด้วยการให้ความรู้และฝึกทักษะใหม่เป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือและทักษะที่ได้ฝึกฝนในขณะทำงานนั้นอาจไร้ประโยชน์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในปี 2561 บริษัท McKinsey ได้คาดการณ์ว่า แรงงานจำนวน 375 ล้านคน หรือร้อยละ 14 ของแรงงานทั่วโลก จะต้องมีการเปลี่ยนอาชีพอันเนื่องมาจากการมีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 20 ในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป โดยแรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรไปสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิใช่การเปลี่ยนแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เหมือนอดีตที่ผ่านมา หากแต่เป็นการเปลี่ยน “อย่างรวดเร็ว” จนอาจทำให้แรงงานบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

การ Retraining และ Reskilling จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแรงงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งบริษัท McKinsey ได้ทำการสำรวจผู้บริหาร 300 คนในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายรับต่อปีมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก พบว่า ร้อยละ 66 ของผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และร้อยละ 62 ของผู้บริหารต้องการ Retraining หรือ Replacing คนในองค์กรตนเองเป็นจำนวนถึง 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมดภายในเวลา 4 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญคือ บริษัทไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า รูปแบบงานควรเปลี่ยนไปอย่างไร และทักษะหรือองค์ความรู้อะไรที่พนักงานต้องเรียนรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ปัญหาที่ว่า ภาคเอกชนหรือภาครัฐควรเป็นผู้ดำเนินการ Retraining และ Reskilling กำลังแรงงานนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน โดยภาคเอกชนจะดำเนินการก็ต่อเมื่อ Productivity ที่เพิ่มขึ้นของพนักงานก่อให้เกิดรายได้กับบริษัทมากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรดำเนินการอบรมและให้ความรู้แบบทั่วไปแก่แรงงาน เช่น ภาษาอังกฤษ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับคนต่างวัยและต่างสาขา ในขณะที่ภาคเอกชนจะยินดีลงทุนอบรมให้ความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะกับการทำงานในบริษัทของตน เนื่องจากภาคเอกชนจะไม่ต้องการแบกรับต้นทุนในการจัดอบรมให้ความรู้ทั่วไป ซึ่งแรงงานสามารถนำไปใช้ที่บริษัทใดก็ได้ ทำให้เมื่อพนักงานลาออกบริษัทจะไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการจัดการอบรมได้อย่างคุ้มค่า หรือประโยชน์ส่วนเพิ่มของการจัดอบรมน้อยกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มนั่นเอง ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์นั้น รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการเอง โดยในปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศให้เงินสนับสนุนจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4,661 ล้านบาท) เพื่อจัดหลักสูตรระยะสั้น 28 หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง สำหรับแรงงานจำนวน 30,000 คน โดยใช้เวลาเรียน 13 สัปดาห์

การ Retraining และ Reskilling นั้นสามารถทำได้สำหรับทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่เกษตรกร ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นนักวิจัยในโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งเป็นโครงการที่ค้นหาศักยภาพของชุมชน และจัดการอบรมเพื่อให้ความรู้ในเรื่องที่คนในชุมชนต้องการ โดยเลือกชุมชนในเขตหนองจอกซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จากการพูดคุยกับผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน พบว่า คนในชุมชนมีความต้องการเรียนรู้การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการเกษตร อาทิ การใช้ไฟฟ้าเพื่อปั๊มน้ำจากคลองและต่อเข้ากับท่อไปยังเครื่องรดน้ำ

อัตโนมัติในแปลงเกษตร หรือการนำไฟฟ้าไปใช้กับตู้อบเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ลดลงเป็นอย่างมากจึงมีความคุ้มค่าในการใช้งาน การให้ความรู้กับคนในชุมชนจึงส่งผลให้คนที่ต้องการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปคำนวณขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะใช้ และสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และประหยัดเงินค่าไฟฟ้า

ผู้เขียนมีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ผู้ร่วมการอบรมเป็นผู้สูงวัยในสัดส่วนสูง และปราชญ์ชาวบ้านที่ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและใช้ความรู้ที่ได้ไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้งานจริง เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี แต่ท่านยังคงเปิดใจรับความรู้ใหม่ และยังคงริเริ่มทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ หรือเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การปลูกฟักทองญี่ปุ่นที่มีเนื้อเหนียวนุ่ม รสชาติหวาน และมีราคาสูง และการเลี้ยงนกสวยงามราคาสูง ทำให้ผู้เขียนคิดว่า การ Retraining และ Reskilling นั้นมิได้มีข้อจำกัดด้านอายุแต่อย่างใด การจัด Retraining และ Reskilling สำหรับผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นยังคงสามารถสร้างรายได้ รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และมีความสุขในการดำรงชีวิตด้วย

Retraining และ Reskilling ทางรอดของแรงงานยุค 4.0

อีกสาขาอาชีพหนึ่งที่ การ Retraining และ Reskilling มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ งานบริการด้านการแพทย์ โดยปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์หลากหลายประเภท ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน ตัวอย่างของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ได้แก่ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หุ่นยนต์ช่วยจ่ายยา หุ่นยนต์ที่คอยดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ที่ใช้พยุงตัวผู้ป่วยสำหรับการทำกายภาพบำบัด ฯลฯ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้ใช้งานหรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์เหล่านี้ ต้องรับองค์ความรู้ใหม่ๆ และฝึกฝนทักษะในการใช้งานหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้บริการแก่คนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ ลดการเหนื่อยล้า ซึ่งทำให้ลดการผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้บริการได้

จากตัวอย่างทั้งในภาคการเกษตร และการให้บริการทางการแพทย์ข้างต้น ทำให้เห็นถึงความสำคัญของ การ Retraining และ Reskilling อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ Lifelong learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้แรงงานในยุค 4.0 มีความรู้รอบด้าน ทันสมัย มีความยืดหยุ่นในการทำงาน และสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้ ... บางทีสิ่งที่ยากอาจไม่ใช่การเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่คือการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ... และทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินมาแสนนานแล้วว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ค่ะ