posttoday

มาตรการทางแพ่ง...เพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุน

31 มกราคม 2562

ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ปริย เตชะมวลไววิทย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

*******************************************

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หากผู้ลงทุนได้ติดตามข่าวคงได้ทราบเรื่องที่ ก.ล.ต.เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิดกรณีสร้างราคาหุ้น ซึ่งเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งในหลักหลายร้อยล้านบาท จึงมีคำถามมาว่า มาตรการลงโทษทางแพ่งคืออะไร บังคับใช้ในกรณีใดบ้าง โทษมีอะไรบ้าง

ผมขอเริ่มที่ว่าการบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2559 ครับ เป็นวันที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) มีผลบังคับใช้ และได้เพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่งให้เป็นกระบวนการบังคับใช้ทางกฎหมายของ ก.ล.ต. โดยเป็นมาตรการทางเลือกที่จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายรวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนลงได้มาก และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดทุนได้เพิ่มขึ้น

ประเภทความผิดในตลาดทุนที่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้มักเกี่ยวกับความผิดเรื่องความไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น อาทิ การสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายในหาผลประโยชน์ (Insider Trading) การให้ข้อมูลเท็จ และกรรมการบริษัทจดทะเบียนทำผิดต่อหน้าที่ โดยในกระบวนการตรวจสอบของ ก.ล.ต.นั้น เมื่อเห็นว่ามีมูลของการกระทำผิดและเห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งจะเหมาะสมกว่าการดำเนินคดีอาญา ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. หรือรองที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเลือกใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับการกระทำความผิดนั้นๆ ตามที่เสนอหรือไม่

หลังจาก ค.ม.พ.พิจารณาบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งประกอบด้วย (1) ชำระค่าปรับทางแพ่ง (2) เรียกคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการ กระทำผิด (3) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์ (4) ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ (5) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืน ก.ล.ต. แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงโทษด้วยมาตรการทุกประเภทนะครับ ค.ม.พ. จะมีมติว่าจะลงโทษด้วยโทษประเภทใดขึ้นอยู่กับความผิดที่เกิดขึ้น จากนั้นจะเปิดเผยมติ ค.ม.พ.สู่สาธารณะ จึงทำให้พวกเราได้รับทราบว่ากระบวนการพิจารณามาถึงจุดที่พบว่ามีความผิด ซึ่งหากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมหรือไม่ยอมรับมาตรการลงโทษทาง

แพ่งที่ ค.ม.พ.กำหนด อาทิ ไม่ยอมมาชำระค่าปรับทางแพ่ง ขั้นตอนต่อไป ก.ล.ต.จะส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่งด้วยอัตราโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป นับจากวันที่เริ่มมีมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้กับผู้กระทำความผิด พบว่ามีผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตาม ค.ม.พ.แล้วจำนวน 71 ราย จาก 18 คดี ได้รับค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้เท่าผลประโยชน์เป็นรายได้ของแผ่นดินเข้ากระทรวงการคลังจำนวนกว่า 383 ล้านบาท ส่วนผู้กระทำความผิดที่ไม่ยินยอมจึงต้องส่งฟ้องคดีต่อศาลแพ่งจำนวน 91 ราย จาก 12 คดี และยังมีอีก 2 กรณี ที่ผู้กระทำความผิดจำนวน 43 ราย กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภายหลังรับทราบมติ ค.ม.พ.ว่าจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งมียอดค่าปรับที่จะเรียกเก็บอีกกว่า 2,227 ล้านบาท

หลายท่านสงสัยว่า เมื่อดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว ก.ล.ต.ยังมีอำนาจที่จะเอาผิดทางอาญาในเรื่องนั้นได้อยู่หรือไม่ อันนี้ขอตอบว่า หากผู้กระทำความผิดยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและชำระเงินที่กำหนดตามมาตรการลงโทษทางแพ่งครบถ้วนแล้ว ก็จะถือว่าจบทั้งทางแพ่งและอาญา แต่หากไม่ยอมรับ และพอเรื่องไปถึงศาลแพ่งแล้วศาลตัดสินว่าผิด แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา ก็อาจถูกดำเนินการทางอาญาได้ครับ

แม้ว่าการดำเนินมาตรการทางแพ่งนั้น จะทำให้กระบวนการพิจารณานำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้เร็วขึ้น แต่แท้จริงแล้ว สิ่งสำคัญที่ ก.ล.ต.อยากเห็น คือ ต้องเริ่มจากการที่พวกเราทุกคนที่อยู่ในตลาดทุนต่างมีวินัยและมีจิตสำนึกในตนเอง (self-discipline) รวมทั้งต้องมีแรงกดดันจากตลาด (Market Force) ที่ผู้มีส่วนร่วม ในตลาดทุนต่างสอดส่องดูแลและผลักดันให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักซีจีที่ดี ซึ่งหากมีสองส่วนที่แข็งขันแล้ว ตลาดทุนไทยก็จะไม่ต้องพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์และการบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากแต่อย่างใด เพราะแท้จริงแล้ว การบังคับใช้กฎหมายเปรียบเหมือนการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หากเราช่วยกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุได้ ตลาดทุนของเราก็จะมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และเติบโตอย่างยั่งยืนครับ