posttoday

ธนาคาร vs Fintech ใครจะรอด?

27 พฤศจิกายน 2561

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปสัมมนาและแลกเปลี่ยนความรู้ที่สองมหาอำนาจทาง Fintech ของโลก นั่นคือฮ่องกงและสิงคโปร์

เรื่อง...แซม ตันสกุล

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปสัมมนาและแลกเปลี่ยนความรู้ที่สองมหาอำนาจทาง Fintech ของโลก นั่นคือฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งทั้งคู่จงใจที่จะจัดงาน Fintech Week ในเวลาใกล้เคียงกันเพื่อวัดศักยภาพ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วโดยส่วนตัวผมก็ยังเห็นว่าสิงคโปร์นำอยู่พอสมควร ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและธนาคารเอกชนที่ร่วมมือกันอย่างชัดเจน จงทำให้ในฉบับนี้ผมอยากจะวิเคราะห์ให้ชัดๆ ว่า Fintech Startup จะสามารถทำลาย (Disrupt) ธนาคารได้หรือไม่ หรือธนาคารเองจะเป็นฝ่ายทำลาย Fintech Startup และหรือทั้งสองต้องร่วมมือกันทำให้อยู่รอด

Fintech Startup จะสามารถทำลาย (Disrupt) ธนาคารได้หรือไม่

จากผลสำรวจล่าสุดทั่วโลกจะเห็นภาพชัดเจนว่า ธนาคารเสียรายได้ส่วนหนึ่งให้กับผู้เล่นหน้าใหม่นั่นก็คือ Fintech Startup โดยเฉพาะสาย Payment ถ้ายกตัวอย่างให้ภาพชัดเจนก็เช่น Alipay ที่ทำให้ประชากรชาวจีนเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการชำระเงิน โดยหันมาจ่ายทุกอย่างผ่านแอพนี้ จนแทบลืมโมบายแบงก์กิ้ง (ทำให้รัฐบาลจีนต้องลงมาช่วยธนาคารพาณิชย์ โดยให้ระบบการชำระเงินของ Alipay ต้องผ่านธนาคารก่อน) หรือทางฝั่งยุโรปก็จะมี Revolut ที่สามารถทำทุกอย่างได้ เรียกว่าเป็นน้องๆ ธนาคารเลยทีเดียว โดยมีบริการบัตร ทั้งในรูปแบบบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และสามารถลิงค์กับทุกธนาคาร อีกทั้งยังสามารถใช้บัตรนี้ได้ในต่างประเทศด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกเป็นพิเศษ (แบบนี้แล้วใครๆ ในอังกฤษก็ใช้กัน)

และเห็นได้ชัดเจนว่า Fintech สาย Payment เมื่อเริ่มกิจการไปสักพักและมีข้อมูลมากพอจะสามารถปล่อยกู้แบบออนไลน์ได้ทันที นี่ยังไม่นับรวมสาย Peer 2 Peer Lending (P2P) หรือเพื่อนปล่อยกู้ให้เพื่อนบนออนไลน์ เช่น Lending Club ในสหรัฐที่กล้าปล่อยกู้ให้กับคนที่กู้ธนาคารไม่ผ่าน และทำให้หลายคนรู้สึกว่าอยากเอาเงินตัวเองมาปล่อยกู้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะฝากเงินไว้กับธนาคาร และนี่ก็คือจุดที่น่าคิดว่าทำไม Fintech กล้าปล่อย แต่ธนาคารยังยึดติดวิธีเดิมจนไม่กล้าปล่อยกู้

ธนาคาร vs Fintech ใครจะรอด?

ธนาคารเองจะเป็นคนทำลาย Fintech Startup

หลายคนคงสงสัยว่าเป็นไปได้หรือที่ธนาคารจะมีนวัตกรรมที่จะทำลาย Fintech Startup ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่ผมอยากยกตัวอย่างให้ผู้อ่าน ดังนี้

1.เคสใกล้ตัวทุกคนคือเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคารและการจ่ายบิลทุกประเภท เมื่อทำธุรกรรมบนโมบายแบงก์กิ้ง (ซึ่งเริ่มจากธนาคารหนึ่งและลามไปทุกธนาคารอย่างไม่น่าเชื่อและเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว) และนี่ก็เป็นการทำลาย Fintech Startup สายการโอนเงิน หรือจ่ายบิลหลายๆ เจ้าเลย อาทิ True Money หรือ LinePay เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายคนใช้ธุรกรรมบนแอพเหล่านี้ เพราะค่าธรรมเนียมถูกกว่ามาก แต่เมื่อธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมเลยก็ไม่มีเหตุผลที่จะใช้ต่อ และยังลามไปถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่หลายๆ คนเคยจ่ายบิลที่ 7-11 ในราคาค่าธรรมเนียม 15 บาท ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นทำให้ปริมาณธุรกรรมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

2.ใน 2 ปีที่ผ่านมา มี Fintech Startup ที่ทำเกี่ยวกับบล็อกเชน (Blockchain) เป็นจำนวนมาก และมานำเสนอกับธนาคาร แต่เนื่องจากระบบบล็อกเชนของธนาคารต้องการเพียงไม่กี่แพลตฟอร์ม โดยต้องรองรับได้ทุกๆ ธนาคาร หรือทุกๆ จุด (Node) เช่น กรุงศรี กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ต้องใช้ระบบเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน โดยผู้ประกอบการที่จะทำให้ได้ก็มักจะเป็นเจ้าใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น IBM เป็นต้น ทำให้ก็เป็นไปได้ยากที่ธนาคารจะทำงานกับสตาร์ทอัพ

ธนาคารและ Fintech Startup ต้องทำงานด้วยกัน

“Collaboration is the New Competition” สูตรนี้น่าจะเป็นสูตรสำเร็จและง่ายที่สุดสำหรับทั้งธนาคารและ Fintech Startup เพราะนวัตกรรมถือเป็นเรื่องใหม่และยากที่ธนาคารจะทำได้ หรือถ้าทำได้ก็มักจะใช้เวลานาน โดยในปัจจุบันเราจะเห็นหลายๆ ธนาคารก็ทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมให้กับลูกค้า อย่างหลายๆ ธนาคารในสิงคโปร์ก็ปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน โดยทำงานร่วมกับ Startup ในการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือแทบจะทุกธนาคารทำงานกับระบบ Robo Advisor ในการแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า

กรุงศรีก็เช่นกันที่ประกาศอย่างชัดเจนที่จะทำงานร่วมกับ Fintech Startup โดยในปีนี้ได้ทำงานร่วมกันมากกว่า 30 Startups เพื่อที่จะเร่งนวัตกรรมภายในองค์กรและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ ให้กับลูกค้า

และในวันศุกร์ที่ 30 พ.ย.นี้ กรุงศรี ฟินโนเวต หน่วยงานที่ดูแลด้านสตาร์ทอัพของกรุงศรีจะจัดงาน Krungsri Rise Batch 3 Demo Day หรือการให้สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมจากทั้งในและต่างประเทศมานำเสนอผลงาน โดยงานจะจัดที่ Big Co-Working Space พระราม 9 ตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ www.zipeventapp.com แล้วพิมพ์ Krungsri Rise ผมรับรองได้เลยว่างานนี้คุณจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉมได้เลย

แล้วเจอกันนะครับ