posttoday

7 พฤติกรรมของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน

14 พฤศจิกายน 2561

ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เผยผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ส่วนใหญ่ยังต้องพัฒนาเรื่องวินัยในการทำธุรกิจ

เรื่อง...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เผยผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ส่วนใหญ่ยังต้องพัฒนาเรื่องวินัยในการทำธุรกิจ แนะควรแยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าเงินส่วนตัวออกจากกัน และควรทุ่มเวลาให้การทำมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น และทำธุรกิจโดยมีแผนธุรกิจกำกับทิศทาง พร้อมชี้ SME ไทย ทำธุรกิจสไตล์ One Man Show ไร้ทายาทสืบทอด มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวไม่ทันต่อสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ SME ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 7 หมื่นราย/ปี แต่มีเพียง 50% เท่านั้น ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ และเมื่อผ่านปีแรกไปได้จะมีธุรกิจอีกราว 10% ที่ไปไม่ถึงฝัน และต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต่อยอดไปสู่การศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่า... เกิดอะไรขึ้นกับ SME ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน? ภายใต้หัวข้อ “7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน”


ชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี กล่าวว่า จากการสำรวจทางออนไลน์กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1-50 ล้านบาท/ปี แบบคละประเภทธุรกิจ คละอุตสาหกรรม จำนวน 200 คน ได้แบ่งวงจรชีวิตของ SME ออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ ช่วงเริ่มต้น (Start) ซึ่งเงินทุนและแผนธุรกิจถือเป็นปัจจัยหลักในการตั้งต้น แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ ช่วงพัฒนาและช่วงอิ่มตัว (Growth & Mature) หากบริหารกำไรและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมองหาตลาดใหม่เสมอ ธุรกิจย่อมจะเจริญเติบโตถึงขีดสุด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวต่อ ทรงตัว หรือถดถอย ถือเป็นความท้าทายที่ SME จะต้องหันมาใส่ใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเลือกเส้นทางที่จะไปต่ออย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ทีเอ็มบีได้วิเคราะห์และนำเสนอเป็นบทสรุป “7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน” ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทยในปัจจุบัน ดังนี้

1.ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน โดย 84% ของ SME ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาด ตนเองและครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบทันที ที่น่าสนใจคือ SME ราว 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ

2.ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ SME มากถึง 72% ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เคยทำตามแผน เนื่องจากหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหารายวัน และปัญหาเฉพาะหน้า

3.“กระเป๋าธุรกิจ” และ “กระเป๋าส่วนตัว” คือกระเป๋าเดียวกัน พบว่า 67% ของ SME มีพฤติกรรมการใช้ “เงินธุรกิจ” กับ “เงินส่วนตัว” ปนกัน อาทิ ให้คู่ค้าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวโดยจำไม่ได้ว่าเงินของส่วนตัวมีอยู่เท่าไร ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง เมื่อต้องการใช้เงินส่วนตัวหรือครอบครัว มักจะเอาเงินได้จากบริษัทออกมาจ่าย และหยิบเงินสดจากเครื่องเก็บเงินหรือลิ้นชักออกมาจับจ่ายส่วนตัว โดยไม่ได้จดค่าใช้จ่ายไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว

4.ยอดขายสูง...แต่อาจไม่กำไร การทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นเครื่องการันตีกำไรของธุรกิจ แต่ 37% ของ SME เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขายของขาดทุน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ 14% ลดราคาสินค้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุน 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดเพียงว่าแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร

5.ทุ่มเวลากับการผลิต จนไม่มีเวลาให้การตลาด การดำเนินธุรกิจของ SME แบ่งเป็น 4 ส่วนงาน คือ 1.กระบวนการผลิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารสต๊อกสินค้า การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมทัพ การผลิตและการบรรจุ 2.งานสำนักงาน ได้แก่ การทำบัญชี การเงินและภาษี การวิเคราะห์ยอดรายรับ-รายจ่าย การบริหารพนักงานและสวัสดิการ การทำเอกสารซื้อ-ขาย 3.การขาย การเฝ้าหน้าร้าน การพบปะลูกค้าและการขายสินค้า และ 4.การตลาด ได้แก่ การตลาดและการสร้างแบรนด์ ทั้งนี้ พบว่า SME ถึง 87% ไม่มีเวลาให้กับการตลาด ทำให้พลาดในการสร้างจุดเด่นหรือสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

6.ONE MAN SHOW...NO Stand-in น่าตกใจว่า 70% ของ SME ไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่จะมาเป็น “ตัวตายตัวแทน” ที่จะตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้เลย ขณะที่ 49% ยอมรับว่าพบปัญหาธุรกิจสะดุด หากตนเองไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลง ออร์เดอร์หรือฐานลูกค้าหายไปทันที

7.ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ จากข้อมูลพบว่ามี SME ถึง 62% ที่ขยันสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาธุรกิจเสมอ ขณะที่อีก 38% ยังไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ เหตุผลส่วนใหญ่คือ 19% เกรงว่าจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ 14% ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูลสิ่งใหม่ๆ และ 5% มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว จึงไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ

สำหรับข้อแนะนำสำหรับ SME คือ

1) เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย

2) วางแผนธุรกิจคร่าวๆ ด้วยตนเอง

3) แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นเงินเข้าออกอย่างชัดเจน

4) คิดต้นทุนให้ครบ

5) หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ

6) เริ่มคัดเลือก หรือพัฒนาบุคลากร เพื่อวางรากฐานให้มั่นคง

7) การความรู้เพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษา SME ร่วมงานสัมมนา หรือ SME Community ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนผู้ประกอบการด้วยกัน เหล่านี้ถือเป็นแนวทางที่ทำให้ SME ไทยสร้างความแตกต่าง-Make THE Difference ให้กับตัวคุณ ให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างยั่งยืน และก้าวไปถึงฝั่งฝันได้นั่นเอง