posttoday

เมื่อไหร่... “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”

06 พฤศจิกายน 2561

ลองมานั่งคำนวณเล่นๆ จัดงานแต่งเล็กๆ ก็ใช้เงินแสน มีลูกหนึ่งคนก็ใช้เงินล้าน แต่ทุกวันนี้มองสลิปเงินเดือนยังมีแค่เงินหมื่น คิดแล้วมันก็แสนเศร้า

โดย..ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

“เมื่อไหร่จะมีลูก”

อยู่ดีๆ คำพวกนี้ก็กลายเป็นคำถามประจำชาติที่คนวัยทำงานทุกคนต้องเจอ คำว่า “เมื่อไหร่” กลายเป็นคำถามที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังตามคนอื่นอยู่หนึ่งก้าวเสมอ โดยเฉพาะในโลกที่มีการแข่งขันทางออนไลน์อย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่โชว์ความก้าวหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย บางครั้งถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จ เลยทำให้หลายๆ คนต้องพยายามวิ่งตามกระแสอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่ทันได้วางแผนว่าแล้วต้องใช้เงินมากขนาดไหนที่จะบรรลุทุก “เมื่อไหร่” ที่ถูกถาม

ลองมานั่งคำนวณเล่นๆ จัดงานแต่งเล็กๆ ก็ใช้เงินแสน มีลูกหนึ่งคนก็ใช้เงินล้าน แต่ทุกวันนี้มองสลิปเงินเดือนยังมีแค่เงินหมื่น คิดแล้วมันก็แสนเศร้า แต่อย่าลืมว่าจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะบรรลุทุก “เมื่อไหร่” คือการวางแผน ทั้งกายใจ และเงิน

การวางแผนที่ดีนั้น ควรเริ่มต้นจากการรู้สิ่งที่เราต้องการก่อน อยากแต่งงานหรือไม่ เมื่อไหร่ อยากมีลูกหรือไม่ กี่คน พร้อมเจออุปสรรคต่างๆ หรือไม่ ต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไร แล้วจะต้องแบ่งเงินมาเก็บเดือนละเท่าไร ฝากธนาคารอย่างเดียวหรือเอาไปลงทุนต่อยอดดี แล้วเงินที่เหลืออยู่จะพอใช้หรือเปล่า ถ้าตอบคำถามทุกอย่างได้ฉลุย ก็ลุยเพื่อเป้าหมายกันไปเลย จะยกตัวอย่างให้ดูกันง่ายๆ เผื่อเอาไปลองทำกันตามนี้

เมื่อไหร่... “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”

ชายหญิงคู่หนึ่งตั้งใจว่า อีก 5 ปี จะแต่งงาน คิดว่าต้องใช้เงินจัดงานประมาณ 5 แสนบาท จะช่วยกันเก็บเงินโดยเปิดบัญชีเงินฝากไว้ร่วมกัน เฉลี่ยแล้วต้องเก็บปีละ 1 แสนบาท ตกเดือนละ 8,300 บาท ช่วยกันเก็บ 2 คน ก็ประมาณเดือนละ 4,200 บาท/คน ถ้าทำตามแผนนี้ได้ก็ไม่ต้องกู้เงินมาจัดงาน ไม่เป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และไม่ต้องฝากความหวังไว้กับซองช่วยงานที่ไม่แน่นอนว่าจะได้เท่าไร

หรือถ้าอยากให้ดอกเบี้ยช่วยทำงาน บัญชีเงินฝากปลอดภาษีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกรณีนี้ เพราะเงื่อนไขการฝากตรงกับแผนการเก็บเงิน คือ ต้องฝากเงินเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน เช่น 24 36 48 หรือ 60 เดือน แถมอัตราดอกเบี้ยมักสูงกว่าบัญชีแบบออมทรัพย์และดอกเบี้ยได้รับการยกเว้นภาษี แต่มีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น จึงควรศึกษาเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเปิดบัญชี เช่น อัตราดอกเบี้ย ความสะดวกในการฝากเงิน ซึ่งปัจจุบันบัญชีเงินฝากปลอดภาษี 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2.5% ต่อปี จำนวนเงินที่ต้องออมจะลดลงเหลือประมาณ 7,700 บาท/เดือน เฉลี่ยแล้วออมคนละ 3,900 บาท/เดือน และได้ดอกเบี้ยช่วยในการเก็บเงินประมาณ 3.6 หมื่นบาท

แต่อย่างที่รู้กันว่า ทุกอย่างไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เพราะระหว่างทางก็จะมี “ของมันต้องมี” มาทดสอบจิตใจกันอยู่เรื่อยๆ หรือก็จะโดนเร่งมาจนเรารู้สึกว่า รอไม่ได้แล้วต้องจัดภายใน 3 วัน 7 วัน ไม่งั้นคนต้องนินทาฉันแน่ๆ ก็ต้องปักธงเป้าหมายของเราให้แน่นๆ ไม่ให้ถูกสั่นคลอนไปตามสิ่งเร้ารอบๆ ตัวเหล่านี้

สุดท้าย อย่ามัวรอว่า “เมื่อไหร่” คนมาเร่งค่อยทำ หรือคิดแต่ว่า “เมื่อไหร่” เราจะมี แต่คิดให้ดีว่า “เมื่อไหร่” เราจะเริ่ม น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว