posttoday

ข้อควรระวัง... ในการลงทุนหุ้นกู้

19 กันยายน 2561

หุ้นกู้ไม่เหมือนการฝากเงิน หุ้นกู้มีความเสี่ยง ก่อนซื้อหุ้นกู้ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี

เรื่อง วารุณี อินวันนา

ตราสารหนี้ภาคเอกชนแยกออกเป็นหุ้นกู้ที่มีอายุยาว 1 ปีขึ้นไป และตั๋วเงินที่อายุไม่เกิน 6 เดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และสัญญาว่าจะจ่ายให้ทุกๆ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง หรือปีละครั้งบ้าง ช่วงนี้มีออกมาให้เลือกมากมาย

ทำให้ใครๆ ก็อยากได้ อยากซื้อ เพราะเข้าใจว่าไม่เสี่ยง

แต่ช้าก่อน ฟังทางนี้สักนิด

“หุ้นกู้ไม่เหมือนการฝากเงิน หุ้นกู้มีความเสี่ยง ก่อนซื้อหุ้นกู้ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี” รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตือนนักลงทุน

เหตุที่ต้องเตือนเช่นนี้ เพราะยังมีตัวแทนขายที่เสนอขายหุ้นกู้ จะบอกลูกค้าว่า การซื้อหุ้นกู้เหมือนการฝากเงิน เพราะจะได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ ทำให้ลูกค้าเชื่อในคำบอกกล่าว เพราะความใกล้ชิด ในฐานะที่ดูแลกันมานาน

เมื่อเชื่อแล้ว จึงไม่ทำการศึกษา ไม่ทำความเข้าใจ พอเกิดผู้ออกหุ้นกู้เจ๊งขึ้นมา หาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ตามสัญญา และไม่มีเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ ทำให้เงินที่ลงทุนไปอาจกลายเป็น “ศูนย์” ได้

หรือถ้าไม่เป็น “ศูนย์” ก็ต้องเสียเวลา ในการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี ให้ผู้ออกต้องขายทรัพย์สินมาชำระ ซึ่งอาจจะได้ไม่เต็ม

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2559 ที่มีผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชน ผิดนัดชำระตามสัญญา ทำให้ผู้ลงทุนเดือดร้อน ซึ่งถึงวันนี้มีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 10 ราย เป็นวงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ของเอกชนทั้งหมดร่วม 4 ล้านล้านบาท แต่เชื่อว่าถ้าใครโดนเข้าไปละก็ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เสียใจ แน่นอน

อย่างนี้หุ้นกู้จึงไม่เหมือนกับการฝากเงิน

การจะซื้อหุ้นกู้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ยสม่ำเสมอ และเมื่อครบกำหนดสัญญา แล้วได้เงินคืนทั้งจำนวน หรือถ้าหากระหว่างทางที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ต้องการใช้เงินด่วน สามารถนำไปขายต่อในตลาดรองได้ทันที จึงต้องคัดเลือกให้ดี

เลขาธิการ ก.ล.ต. ออกมาสอนเอง เลยว่า ถ้าคิดจะซื้อหุ้นกู้เอง ไม่ผ่านกองทุนรวม ต้องรู้ 7 อย่างนี้

1.ต้องรู้จักผู้ออกหุ้นกู้ ว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้มาขายเรานั้น หรือมายืมเงินเรานั้น ทำธุรกิจอะไร ธุรกิจนั้นๆ มีความเสี่ยงอะไร มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร แน่นอน ต้องดีเท่านั้น มีข้อพิพาททางกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในศาลอันจะเป็นเหตุให้บริษัทนั้นๆ ต้องจ่ายเงินออกไปในอนาคตหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อกระแสเงินสดที่จะนำมาใช้ในกิจการ และที่สำคัญจะมีเงินมาคืนเราไหม

2.ต้องรู้ลักษณะของหุ้นกู้ เช่น เป็นแบบผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด หรือไถ่ถอนก่อนกำหนด หรือไม่มีกำหนดอายุการไถ่ถอน และเสนอขายให้ใคร ให้ประชาชนทั่วไป ให้นักลงทุนรายใหญ่ หรือให้กับคนไม่กี่คน และต้องรู้อีกว่าเป็นหุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน อายุสั้นหรือยาว มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะจะบอกได้ว่าความเสี่ยงอยู่ที่ระดับไหน

3.ผลตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนที่สูง มักจะสะท้อนความเสี่ยงที่สูงด้วย ซึ่งหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะมีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นที่ได้รับการจัดอันดับ รวมถึงต้องวิเคราะห์ลงไปอีกว่าอัตราผลตอบแทนสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้ออก และผู้ลงทุนจะต้องประเมินตัวเองว่ารับความเสี่ยงระดับนั้นได้หรือไม่

4.ต้องมีสภาพคล่อง หากสภาพคล่องต่ำ การจะไปขายคืนก่อนครบกำหนดก็จะยาก หรืออาจจะต้องขาดทุน เพราะไม่สามารถทำการซื้อหรือขายได้ในเวลาที่เหมาะสม

5.กระจายการลงทุน ไม่ควรจะนำเงินทั้งก้อนมาทุ่มซื้อหุ้นกู้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น จะต้องมีการกระจายลงทุนในหุ้นกู้หลายๆ บริษัท ในหลายๆ ธุรกิจ

6.เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของหุ้นกู้อย่างชัดเจน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีผลต่อฐานะของผู้ออกหุ้นกู้ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหุ้นกู้ และผู้ลงทุนสามารถที่จะสอบถาม หาข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำในการลงทุนได้

7.หุ้นกู้ต้องกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ว่า วิธีการ เวลา และสถานที่สำหรับการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ หากผิดนัดชำระหนี้และผลการผิดนัดจะรับผิดชอบอย่างไร และต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กรณีเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เพราะถ้าไม่มีผู้แทนฯ การรวมตัวของผู้ลงทุนเพื่อฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิจะทำได้ยาก

ก่อนคิดจะซื้อหุ้นกู้ จึงควรนำหนังสือชี้ชวนมากาง แล้วมาไล่ดูว่ามีครบทั้ง 7 ข้อหรือยัง ถ้าไม่แน่ใจก็สอบถามที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นกู้ หรือบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เพื่อความกระจ่าง

สำหรับผู้ที่ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ ไม่ต้องทำการวิเคราะห์ทั้ง 7 เรื่องข้างต้น เพราะจะมีผู้จัดการกองทุนทำการกลั่นกรองให้ตั้งแต่แรก

การที่ต้องให้ผู้ซื้อ ต้องมานั่งดู วิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยตัวเอง ก็เพื่อจะได้เพิ่มความปลอดภัยด้านการลงทุน ไม่ได้หมายความว่า ปล่อยให้ผู้ซื้อรับความเสี่ยงเองทั้งหมด

ทาง ก.ล.ต.ก็มีการกำกับควบคุมดูแลในเบื้องต้นอย่างเข้มงวดอยู่แล้วในชั้นแรก ซึ่งเมื่อกลางเดือนเม.ย. 2561 ที่ผ่านมามีการยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอีก หลังจากผู้ลงทุนต้องเจ็บหนักจากการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงปลายปี 2559 และยังต้องอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหามาถึงปัจจุบัน 10 ราย

4 เครื่องมือที่มีการเพิ่มขึ้นมาในการคัดกรองความเสี่ยง มี

1.ทำการแยกการกำกับดูแลตามประเภทผู้ซื้อ

ทุกวันนี้บริษัทที่ออกหุ้นกู้จะต้องแยกให้ชัดเจนว่า หุ้นกู้ที่ออกจะเสนอขายให้กับผู้ซื้อกลุ่มรายได้สูง หรือกลุ่มนักลงทุนสถาบัน กลุ่มนักลงทุนเฉพาะรายไม่เกิน 10 คน หรือจะขายให้กับประชาชนทั่วไป คือ ใครก็ซื้อได้

ทั้ง 4 กลุ่มนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มที่เป็นประชาชนทั่วไป เพราะมักจะมองที่ผลตอบแทนเป็นลำดับแรก และมองว่าใครเป็นคนขาย ถ้าน่าเชื่อถือก็เชื่อใจกันทันที

หรือแม้แต่กลุ่มผู้มีรายได้สูง ที่มีรายได้ 4 ล้านบาท/ปี มีพอร์ตลงทุน 10 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวม 50 ล้านบาท ไม่รวมบ้านหลังแรก ที่ผ่านมาก็เป็นกลุ่มที่เจ็บหนักจากการที่มีบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ถึงจะรวย รายได้เยอะ พอขาดทุนก็ร้องเสียใจเสียงดังไม่แพ้กัน

2.กำหนดบทบาทของตัวกลางในการขายและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

บริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นกู้และจัดจำหน่ายหุ้นกู้จะมีรายได้จาก 2 ส่วน คือ การได้ค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษาออกหุ้นกู้ และค่าธรรมเนียมในการขายหุ้นกู้ ทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องแยกจากกันชัดเจน และต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจและระมัดระวัง

ให้ระวังบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นกู้และจัดจำหน่ายหุ้นกู้ที่มีขนาดเล็ก เพราะอดีตที่ผ่านมามักจะมีปัญหาในการแยกสองหน่วยงานที่ไม่ชัดเจน เพราะจำนวนคนมีน้อย

ในขณะที่ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้ซื้อหุ้นกู้ที่เป็นประชาชนทั่วไปและนักลงทุนกลุ่มที่มีรายได้สูง

3.ให้ต้องเปิดเผยข้อมูลและคำเตือน เช่น อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ประวัติผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้นั้นๆ และต้องบอกให้ชัดว่า หุ้นกู้นั้นเป็นประเภทไหน เช่น เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีข้อมูลการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ เพื่อจะได้เห็นระดับความเสี่ยงและระยะเวลาการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจ

4.จำกัดการเสนอขาย เช่น ตั๋วเงินระยะสั้น ปัจจุบันให้ขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย เพราะให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนที่ด้อยกว่าหุ้นกู้

แม้จะมีการคัดกรองความเสี่ยงให้ลดลง แต่หุ้นกู้ก็ยังมีความเสี่ยง และหุ้นกู้ก็ไม่เหมือนการฝากเงิน จึงควรต้องใช้ความระมัดระวัง ศึกษาให้เข้าใจ อย่าให้ผลตอบแทนบังตา ขอให้...โชคดี