posttoday

สินเชื่อคนตัวเล็ก เปิดขั้นตอนการกู้ให้ได้เงิน

29 สิงหาคม 2561

สินเชื่อพิเศษออกมาให้กับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1-3% ต่อปี ให้วงเงินสูงสุดตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท

โดย..วารุณี อินวันนา

ปัจจุบันมีโครงการสินเชื่อพิเศษออกมาให้กับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจและเจ้าของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สินเชื่อคนตัวเล็ก” อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1-3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3-7 ปีแรก ให้วงเงินสูงสุดตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท โดยไม่ใช้หลักประกัน สามารถกู้ได้ตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมาคือ ยื่นเรื่องกู้แล้วไม่ผ่านการอนุมัติ หรือ ขอเงินกู้ไม่ได้

วันนี้ นำ “เทคนิคในการเขียน Proposal อย่างไรในการขอทุน” และ “การเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อ” ที่ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ กับ เกรียงไกร
ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้คำแนะนำกับทางผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (เอสอี) และผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 200 ราย ในโครงการสินเชื่อพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาฝาก จะได้ทราบวิธีและขั้นตอนในการขอกู้ให้ได้เงิน

เทคนิคในการเขียน Proposal อย่างไรในการขอทุน

สุนทร สุขสมเนตร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เอสเอ็มอีแบงก์ ให้คำแนะนำ ดังนี้

1.ต้องมีความจริงใจ ด้วยการเขียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้กู้ และธุรกิจผู้กู้ เช่น ธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้น หรือทำธุรกิจมาพอสมควรแล้ว ต้องบอกความเชี่ยวชาญ บอกที่มาแหล่งรายได้บอกค่าใช้จ่ายต่างๆ

2.โอกาสในการขยายธุรกิจ ต้องอธิบายว่า เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างไร และมีกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจอย่างไร มีการทดลองกลยุทธ์นั้นแล้ว เพื่อจะหาทางออกหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

3.ระบบการทำบัญชีมีความโปร่งใส มีบัญชีเดียว จะทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

4.ประวัติการชำระหนี้ดี

เพราะเมื่อไปถึงธนาคาร ทางธนาคารมักจะมีคำถามว่า ถ้าการทำธุรกิจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะทำอย่างไร หรือ ถ้ายอดขายไม่เป็นไปตามแผนจะมีทางออกอย่างไร หรือ ถ้าเรียกเก็บหนี้ไม่ได้จะเป็นอย่างไร ผู้ขอกู้เงิน จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้

ปัญหาที่ขอกู้เงินแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ คือการไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะมีการจ้างคนอื่นเขียนแผนธุรกิจให้ ซึ่งคนเขียนแผนไม่ได้ เขียนจากข้อเท็จจริง แต่เขียนเพื่อให้ได้เงินกู้แต่คนที่ตอบคำถามคือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งให้ข้อมูลไม่ตรงกับแผนที่ขอกู้เงิน

การเตรียมความพร้อมในการขอสินเชื่อ

1.เอกสารส่วนบุคคลและนิติบุคคล

2.ข้อมูลการจดทะเบียนการค้า

3.งบบัญชีขาดทุน ซึ่งจะต้องเป็นบัญชีเดียว

4.เอกสารการรับเงิน การจ่ายเงิน เพื่อแสดงถึงการทำธุรกิจที่มีรายรับรายจ่ายจริง

5.เอกสารการเดินบัญชี แสดงถึงกระแสเงินสดของธุรกิจ

หลังจากตรวจเอกสารเบื้องต้นแล้วเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ทางธนาคารจะลงไปตรวจสอบสถานประกอบการ เพื่อดูว่าตรงกับแผนธุรกิจที่เขียนมา ซึ่งการลงไปตรวจสอบธุรกิจนี้สำคัญที่สุดและมีอิทธิพลในการอนุมัติเงินกู้

ตามขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อปกติ หลังจากลงไปดูสถานประกอบการ ทางธนาคารจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน ในการพิจารณาและอนุมัติเงินกู้ แต่ส่วนใหญ่มักจะนานกว่านั้นเพราะธนาคารจะมีงานเยอะ

ข้างต้น คือข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐ จะใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ

สินเชื่อคนตัวเล็ก เปิดขั้นตอนการกู้ให้ได้เงิน

รู้จักธนาคาร

การที่จะไปขอเงินกู้ จะต้องเข้าถูกที่ถูกทาง ซึ่งจะต้องรู้ว่าธนาคารไหนมีการปล่อยกู้เพื่อผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ ปล่อยกู้ให้กับคนเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะถ้าไปผิดธนาคาร จะทำให้เสียเวลาและไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้

ธนาคารจะพิจารณาวงเงินสินเชื่อจากระดับของธุรกิจนั้นๆ ว่า อยู่ในช่วงไหน เช่น อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือ ทำธุรกิจมาพอสมควรแล้ว ดูความเชี่ยวชาญของธุรกิจ และความจำเป็นในการขอใช้เงินกู้ ซึ่งจะดูจากการแข่งขัน โอกาสในการทำธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านราคา ด้านคุณภาพ ให้สูงขึ้นกว่าเดิม

ฉะนั้น ผู้กู้จะต้องอธิบายตัวตนของธุรกิจให้เห็นภาพชัดเจน บนพื้นฐานของความเป็นจริง

หลักประกันไม่พอทำอย่างไร

ตามหลักการพิจารณาปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ จะมีการเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคาร แต่ถ้ามีหลักประกันไม่เพียงพอ จะทำอย่างไร

เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บสย. แนะนำว่า สามารถมาใช้บริการด้านการค้ำประกันสินเชื่อกับทาง บสย.ได้ หากได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ โดยจะใช้เวลาอนุมัติค้ำประกันในส่วนที่ผู้ขอกู้ขาด เช่น ธนาคารเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท แต่ผู้ขอกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียง 3 ล้านบาท ทาง บสย.จะเข้าไปค้ำประกัน 7 ล้านบาท โดยผู้กู้จะเสียค่าธรรมเนียม 1-2% ของวงเงินค้ำประกันให้กับ บสย. จะใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 3 วัน และส่งหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ไปที่ธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้

คุณสมบัติผู้ขอกู้สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0

ปัจจุบัน เอสเอ็มอี แบงก์ มีสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลาปล่อยกู้ 7 ปี ไม่มีหลักประกัน เพราะมี บสย.เข้าไปค้ำประกันให้ โดยที่รัฐเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้กู้ วงเงินปล่อยกู้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย โดยผู้ที่จะขอกู้ได้จะต้อง

1.ต้องเป็นนิติบุคคล

2.มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินวงเงิน 50 ล้านบาท

3.ทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบการพร้อมที่ทำบัญชีเดียว

4.ไม่เคยใช้เงินกองทุนในโครงการฟื้นฟูยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

5.ต้องส่งงบการเงินให้กับธนาคารทุกๆ ปี

ยกตัวอย่าง กรณี ขอเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี จะมีภาระในการผ่อนธนาคารเดือนละ 1.2 หมื่นบาท หรือเฉลี่ยผ่อนวันละ 400 บาท ถ้าขอเงินกู้ 1 แสนบาท จะผ่อนเดือนละ 1,200 บาท เฉลี่ยวันละ 40 บาท ซึ่งถือว่าต้นทุนทางการเงินต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับการไปขอกู้เงินนอกระบบที่จะเสียอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน

สำหรับผู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็สามารถขอกู้จากโครงการนี้ได้ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และมีการชำระหนี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 4 งวด โดยจะให้กู้ก่อน 2 แสนบาท หลังจากนั้นจะมีการเพิ่มเงินกู้ให้เป็นงวดๆ

ทั้งนี้ การเริ่มต้นธุรกิจด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำสำคัญมาก เพราะจะเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม เงินทุนอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จ แต่จะต้องควบคู่ไปกับความรู้ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีการรักษาความน่าเชื่อถือด้วยการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ในการขอกู้ เพื่อนำพาธุรกิจผ่านจุดเริ่มต้น ไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีความชาญฉลาดในการแข่งขันและก้าวสู่การเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอนาคต