posttoday

‘FCD’ฝากหนึ่งได้ถึงสาม

19 กรกฎาคม 2561

บัญชีเงินฝากเอฟซีดี (Foreign Currency Deposit : FCD) หรือบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ 

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์ 

บัญชีเงินฝากเอฟซีดี (Foreign Currency Deposit : FCD) หรือบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ เป็นที่คุ้นหูมากขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไป หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้ามาทำตลาดเงินฝากจากลูกค้าบุคคลเป็นสกุลเงินต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ผู้ที่ใช้บัญชีเอฟซีดีหลักๆ คือ ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกที่มีธุรกรรมเป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อความสะดวกในการชำระราคา ซึ่งแน่นอนว่า บัญชีเอฟซีดีส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

แต่ขณะนี้บุคคลทั่วไปเริ่มเข้าถึงการเปิดบัญชีเงินฝากเอฟซีดีมากขึ้น เพราะสามารถฝากได้น้อย ธนาคารบางแห่งรับฝากขั้นต่ำเริ่ม 500-1,000 ดอลลาร์เท่านั้น เพียงแต่ต้องมียอดเงินคงเหลือตามที่กำหนดจึงจะไม่เสียค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี

ใครเหมาะกับการเปิดบัญชีเงินฝากเอฟซีดี

บัญชีเอฟซีดีสามารถเป็นได้ทั้งบัญชีเพื่อใช้ หรือบัญชีเพื่อออม หรือจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความต้องการของแต่ละคน จึงไม่ได้เหมาะแค่ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก แต่สามารถแมตช์กับทุกคนที่ต้องการมีเงินสกุลต่างประเทศ

เพื่อใช้ - ถ้าใครมีความต้องการใช้เงินสกุลต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น มีแผนส่งบุตรหลานไปเรียนต่อเมืองนอก หรือวางแผนท่องเที่ยวประจำปี ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศไว้ ซึ่งไม่ว่าค่าเงินจะเคลื่อนไหวผันผวนเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต้องสนใจ เพราะยังไงก็ใช้เงินสกุลนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลหรือดีใจเกินเหตุเมื่อแปลงค่าเงินมาเป็นเงินบาท

เพื่อออม - ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ธนาคารพาณิชย์เริ่มลงมาทำตลาดบัญชีเงินฝากเอฟซีดีมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ล่าสุดนำเสนอเงินฝากเอฟซีดี 6 เดือน ดอกเบี้ย 2% สูงกว่าปกติ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีช่องทางการออมที่หลากหลาย หากใครที่มีแผนใช้เงินสกุลต่างประเทศอยู่แล้วยิ่งเหมาะ เพราะนอกจากจะเก็บเงินสกุลต่างประเทศเพื่อใช้แล้ว ยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

เพื่อลงทุน - ก่อนอื่นต้องย้ำเตือนสำหรับคนที่จะลงทุน การลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนมีความเสี่ยงสูงมาก มีความผันผวนตามปัจจัยหลายด้าน ไม่ควรตั้งใจเก็งกำไรเป็นหลัก แต่ให้เป็นการกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์ (Asset Allocation) ของพอร์ตการลงทุนที่มี นอกเหนือจากเงินบาท ขณะเดียวกันผู้ลงทุนควรหาความรู้ทางตลาดเงิน และทิศทางเศรษฐกิจโลกเพื่อประเมินความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนที่รอบคอบ

โอกาสได้ผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝากเอฟซีดี หากธนาคารคำนวณจากราคา Spot ยกตัวอย่าง สกุลเงินยอดฮิตตลอดกาล “ดอลลาร์สหรัฐ” จังหวะที่ควรเก็บดอลลาร์ คือ ช่วงที่มองว่าเงินบาทแข็งค่า เพราะใช้เงินบาทน้อยไปซื้อดอลลาร์ และช่วงที่ขายหรือปิดบัญชี คือ เงินบาทอ่อนค่า ที่ทำให้ทอนเงินดอลลาร์มาเป็นเงินบาทได้มาก

พิจารณาดีๆ เพราะไม่มีใครทายได้แม่นยำหรอกว่า นี่อ่อนหรือแข็ง และต้องขอให้คิดเผื่อไปถึงอัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากเอฟซีดี ต้องถูกหักภาษีดอกเบี้ย หากเข้าฝากหรือถอนในจังหวะไม่ดี ผู้ลงทุนจะเข้าเนื้อโดยไม่รู้ตัว *ขอดอกจันตัวโตๆ ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง*

ขณะนี้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยก็จริง เป็นไปตามดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คำเตือนก็ออกมาทุกครั้งในรายงานนโยบายการเงินของ กนง. ว่าเป็นห่วงการมองหาแหล่งลงทุนที่ผลตอบแทนสูง หรือ Search for Yield ผู้ออมผู้ลงทุนต้องตระหนักในตัวเองว่า เสี่ยงเกินไปหรือไม่ บัญชีเงินฝากเอฟซีดีแม้ขึ้นชื่อว่าเป็นเงินฝาก แต่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนพอสมควร ลดค่าได้ เพิ่มค่าได้ ทั้งสองทาง

ไม่มีใครดูแลเราดีเท่ากับเราดูแลตัวเอง ... ความเสี่ยงก็เช่นกัน